ปั้นครู+นักเรียนรับ EEC “ไมโครซอฟท์” สอนเขียนโปรแกรม

cof

ผลจากการศึกษาที่จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ซึ่งได้ศึกษาความต้องการแรงงานในกลุ่มงานจากอุตสาหกรรมทั้งหมดที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-Eastern Economic Corridor) และได้คาดการณ์อนาคตว่า ระหว่างปี 2562-2566 จะมีความต้องการจ้างงานใหม่จำนวน 475,668 อัตรา ซึ่งความต้องการกลุ่มงานด้านดิจิทัลมีสัดส่วนสูงที่สุดถึง 24 เปอร์เซ็นต์ หรือจำนวน 116,222 อัตรา

บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และ วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา เปิดตัวโครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่อาจารย์จำนวน 500 คน จาก 500 โรงเรียนภายในพื้นที่ EEC โดยตั้งเป้าต่อยอดองค์ความรู้จากอาจารย์สู่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาจำนวน 50,000 คน เพื่อมุ่งพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพและตอบสนองความต้องการกลุ่มงานด้านดิจิทัล

“ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โครงการฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ASEAN Digital Innovation ซึ่งเป็นโครงการระดับภูมิภาคของไมโครซอฟท์ที่จัดขึ้นใน 7 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย พม่า และกัมพูชา ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะให้แก่เยาวชนผ่านบุคลากรทางการศึกษา (train the trainer) โดยใช้หลักสูตรการเรียนรู้ที่ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษผ่านเว็บไซต์ Future Ready ASEAN

“รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกอย่างต่อเนื่อง ด้วยความมุ่งมั่นในการเติมเต็มภาพรวมของการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต โดยมีการกำหนดเป้าหมายการเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (new S-curve) ที่รวมถึงอุตสาหกรรมดิจิทัล”

เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการปฏิรูปสู่ธุรกิจดิจิทัลนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของธุรกิจ ซึ่งหัวใจสำคัญของการปฏิรูปดังกล่าวคือการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็นในอนาคต โดยตามผลของการศึกษาที่จัดทำขึ้นโดย สกพอ. ในอีก 4 ปีข้างหน้าจะมีความต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลในตลาดถึง 100,000 คน เราจึงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าเสริมทักษะนั้นแก่เยาวชนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

โดยหลักสูตรที่นำมาสอนจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะการเขียนโค้ดผ่าน Minecraft และ MakeCode ของทางไมโครซอฟท์ ไปจนถึงการเรียนรู้ภาษาไพทอน (Python) และการเขียนด้วยภาษา HTML5 และ CSS เพื่อสร้างเว็บไซต์

“ธนวัฒน์” กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากความร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแล้ว ไมโครซอฟท์ยังได้ร่วมมือกับวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ในโครงการอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่เยาวชนในครั้งนี้ โดยวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา มีประสบการณ์ในการสอนการเขียนโค้ดมาเป็นเวลากว่า 30 ปี มีบทบาทสนับสนุนวิทยากรในการสอนเพื่อฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลแก่อาจารย์ที่สอนในระดับชั้นประถมศึกษา 10 รุ่น และอาจารย์ที่สอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา 10 รุ่น เป็นจำนวนทั้งหมดกว่า 500 คน จากโรงเรียนในพื้นที่ EEC

นับว่าทักษะดิจิทัลจะช่วยเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพของเด็ก ๆ ในอนาคต และเป็นการรองรับความต้องการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ