มธ.จัดประชุมวิชาการนานาชาติ AAS ครั้งแรกในไทย ชูหลักสูตร Gen Next Academy สร้างพลเมืองระดับโลก

​เปิดม่านประชุมวิชาการนานาชาติ AAS-in-ASIA 2019 ครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “Asia on the Rise” สร้างประสบการณ์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมสมัย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม พร้อมนำเสนอผลงานวิชาการ 41 ประเทศทั่วโลก เนื่องในโอกาสครบรอบปีที่ 85 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชูหลักสูตร Gen Next Academy ตลาดวิชา มุ่งสร้างความรู้สู่พลเมืองระดับสากล

​ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาคมเอเชียศึกษา (Association for Asian Studies : AAS) จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ ในระดับภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิค (AAS-in-ASIA) ภายใต้หัวข้อ “Asia on the Rise?” ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน วันที่ 1 – 4 กรกฎาคม 2562 โดยมีผู้ร่วมประชุมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ วิชาการ เอกชน นักศึกษา ในและต่างประเทศรวมกว่า 1,000 คน

​ศาสตราจารย์ Prasenjit Duara ประธานสมาคมเอเชียศึกษา (AAS) เปิดเผยว่า AAS มีความยินดีได้เป็นเจ้าภาพร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีก 3 สถาบันการศึกษา ในการจัดประชุม AAS-in-ASIA 2019 ซึ่งประเทศไทยถือเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญในอาเซียน ผลิตและสร้างบุคลากรที่เป็นเลิศในหลายด้าน โดยคาดว่าเนื้อหาและประเด็นการแลกเปลี่ยนในการประชุมครั้งนี้ จะสามารถนำไปต่อยอดสนับสนุนบ่มเพาะการเรียนการสอนในภูมิภาคให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

​“สมาคมฯต้องขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมจัดประชุมครั้งนี้ ที่ได้ตระหนักถึงเป้าหมายในทุกหัวข้อและสะท้อนสภาพทางสังคมในปัจจุบัน”

​รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงานครั้งนี้ว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนาความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำที่มีชื่อเสียงทั้งในและต่างประเทศ ทั่วโลก จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการดำเนินการในระดับสากล การมีส่วนร่วมในการประชุมระดับโลก เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประเด็นปัญหาต่างๆ พร้อมกับการนำเสนองานวิชาการจาก 41 ประเทศทั่วโลก ที่จะเป็นประโยชน์ทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้สอดรับบริบทที่เปลี่ยนแปลง

​มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาเก่าแก่ มีความเป็นเลิศด้านวิชาการและนวัตกรรม ปัจจุบันเนื่องในโอกาสครบรอบ 85 ปี เราตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย จึงมีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนให้ทันต่อสถานการณ์ในรูปแบบตลาดวิชา “Gen Next Academy” ที่เป็นประตูแห่งการศึกษา เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไป สามารถเข้ามาศึกษารายวิชาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตามความสนใจ โดยไม่จำกัดอายุ คุณวุฒิ และสัญชาติ เลือกเรียนได้ทั้งรูปแบบออนไลน์ เรียนร่วมในห้องเรียนกับนักศึกษา และเรียนคอร์สระยะสั้น

​“เรามั่นใจได้ว่าหลักสูตร Gen Next Academy เป็นไปตามมาตรฐานสากล สอดคล้องกับการเปลี่ยนของสภาพแวดล้อมและความต้องการของประเทศอย่างต่อเนื่อง และไม่จำกัดว่านักศึกษาของธรรมศาสตร์ ต้องเป็นคนไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นพลเมืองระดับภูมิภาคและระดับโลก”

​รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการจัดประชุมวิชาการ AAS-in-ASIA2019 กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ เพื่อระดมนักวิชาการ และบุคลากรทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับภาพรวมการเปลี่ยนแปลง การเติบโตของภูมิภาคเอเซีย ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม การทบทวนถึงประเด็นปัญหา และแนวทางการแก้ไข ที่อาจจะเชื่อมต่อไปยังหน่วยงานที่มีส่วนการขับเคลื่อนหรือกำหนดนโยบายต่อไป


​“การจัดประชุม AAS-in-ASIA ถือเป็นเวทีกลุ่มย่อยที่จัดควบคู่กับการประชุมใหญ่จำปีของ AAS เน้นประเด็นในภูมิภาคเอเชีย เริ่มดำเนินการประชุมมาตั้งแต่ 2557 โดยสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศในเอเซีย จะเสนอตัวและได้รับคัดเลือกหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ซึ่งในครั้งนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับการไว้วางใจในฐานะสถาบันการศึกษาชั้นนำได้รับคัดเลือกเจ้าภาพในการจัดการประชุม ที่ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย”