พัฒนาการศึกษา “จีน”

เครดิตภาพ:www.borgenmazine.com
คอลัมน์ Education Ideas

โดย ธานินทร์ เอื้ออภิธร โรงเรียนสอนภาษาอังกฤษเอ็นคอนเส็ปท์

อาลีบาบา อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน ใช้เวลาเพียงไม่นานในการสร้างอาณาจักร จากจุดตั้งต้นธุรกิจบนแผ่นดินจีนจนถึงวันนี้ยิ่งใหญ่ด้วยมูลค่าธุรกิจหลายแสนล้านเหรียญสหรัฐ และไม่ใช่แค่อาลีบาบา ยังมีทัพธุรกิจที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีของจีนอีกมากทั้ง Tencent, Huawei ต่างก็แท็กทีมสู่แถวหน้าบริษัทชั้นนำระดับโลกได้สำเร็จ

ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจของจีนก้าวสู่ความสำเร็จได้อย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ คำตอบอยู่ที่ “คน” ซึ่งการพัฒนาคนของจีนผ่านระบบการศึกษาที่เคี่ยวกรำ พร้อมกับมีหลักชัยที่ชัดเจนว่า ต้องการเป็นผู้ทรงอิทธิพลด้านนวัตกรรม ในปี 2563 ก่อนจะท้าทายตัวเองที่ใหญ่กว่านั้น ด้วยการขึ้นแท่นผู้นำระดับโลกด้าน AI (artificial intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ ในปี 2573

เมื่อปักธงแล้วว่าตัวเองจะเป็นอะไรต่อการปฏิรูปการศึกษาของจีนทั้งระบบจึงเริ่มต้นขึ้น

ระบบการศึกษาของจีนในภาพใหญ่ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) การศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) การศึกษาขั้นอุดมศึกษา และ 3) การศึกษาผู้ใหญ่ โดยการศึกษาภาคบังคับกำหนดให้เด็กนักเรียนทุกคนอยู่ในระบบอย่างน้อย 9 ปี ที่น่าสนใจคือแนวคิด และการไปสู่การปฏิบัติที่ทำได้จริง และวัดผลได้ เปิดโอกาสให้แต่ละท้องถิ่นจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ แต่ขณะเดียวกันต้องไม่พลาดที่จะตอบโจทย์ใหญ่ ทิศทางของประเทศให้ได้

ในกรณีโรงเรียนระดับประถม และมัธยมในจีน เริ่มเปิดสอนหลักสูตรด้านการลงทุนในช่วงไม่กี่ปี เพราะต้องการให้เด็กเติบโตมาด้วยทักษะ และมุมมองทางธุรกิจ ระหว่างการเรียนการสอนจัดให้มีกิจกรรมพานักเรียนไปทัศนศึกษาเยี่ยมชมสถาบันการเงิน และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อเปิดโอกาสให้ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุน หรือจะเป็นการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนระดับมัธยมต้นในมณฑลกวางตุ้ง ที่เปิดหลักสูตรการลงทุนในหุ้นขึ้นมาโดยเฉพาะ

การศึกษาจีนยุคใหม่จึงมีความคาดหวังให้ตี๋หมวยที่จะเติบโตไปเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศในวันข้างหน้า ต้องมีอาวุธเทคโนโลยีที่ครบเครื่อง หลายมณฑลเริ่มนำหลักสูตรการเขียนโปรแกรมบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ

การเรียนการสอน รวมถึงพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ เชื่อว่าจากนี้ไปจะมีเนื้อหาความรู้สมัยใหม่อีกมากที่นักเรียนของจีนต้องเข้าใจ และพัฒนาเพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ แถมยังเป็นการจัดการศึกษาที่ล้ำหน้ากว่าอีกหลาย ๆ ประเทศ

จากนโยบายการศึกษาในภาพใหญ่เชิงระบบ สู่การนำไปปฏิบัติในแบบที่ “เสื้อตัวเดียวใส่กันได้ทุกคน” เปิดทางให้ท้องถิ่นได้คิด และพัฒนาการศึกษาที่เหมาะกับแต่ละพื้นที่แล้ว อีกหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษาในจีน มาจากการพัฒนา “ครู”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนทุ่มงบประมาณเป็นจำนวนมากเพื่อพัฒนาครูให้ได้คุณภาพ สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ พร้อมทั้งมีสิทธิประโยชน์ สิทธิพำนัก สำหรับครูที่ทำงานโดดเด่น เพราะเชื่อมั่นว่าคนเก่งเหล่านี้ได้ถ่ายทอดความรู้สู่คนอีกรุ่น จะเห็นได้ว่าระยะหลัง ๆ มีการสนับสนุนสตาร์ตอัพในหมวด EdTech หรือ education technology ที่มาพร้อมไอเดีย และนวัตกรรมใหม่ทางการศึกษา

ซึ่งนี่ก็เป็นอีก “ตัวเร่ง” ระบบการศึกษาที่มีคุณภาพขึ้นในจีนได้

การรั้งแชมป์มหาวิทยาลัยดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ประจำปี 2019 ของมหาวิทยาลัยชิงหัว ประเทศจีน (Tsinghua University) จากมหาวิทยาลัย 400 แห่ง ใน 27 ประเทศภูมิภาคเอเชีย ตอกย้ำได้ดีว่า จีนก้าวมาไกลแค่ไหนแล้ว แซงมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ที่ครองแชมป์มานานลงได้ จำนวนนักศึกษาต่างชาติกว่า 6 หมื่นคนในจีน สะท้อนว่าการจัดการเรียนการสอนในจีนเป็นที่ยอมรับอย่างมากในระดับสากล ทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ การแพทย์ นวัตกรรม และที่ล้ำไปกว่านั้นคือ การปล่อยยานสำรวจดวงจันทร”ฉางเอ๋อ-4″ ไปสำรวจพื้นผิวของดวงจันทร์ได้เป็นผลสำเร็จ


จากการทุ่มเทพัฒนาด้านการศึกษาในจีนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และยังคงเดินหน้าไม่หยุด ถึงวันนี้คงไม่มีใครสงสัยถึงคุณภาพการศึกษาในจีนว่าทำได้ดีแค่ไหน ?