“ฟีโบ้ มจธ.” ผนึกเครือข่าย เตรียมวิศวกรหุ่นยนต์

ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence-AI) และ หุ่นยนต์ (robotic) มีบทบาทกับมนุษย์มากขึ้นในปัจจุบัน และจะยิ่งเป็นทวีคูณในอนาคต ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมกับการใช้งานเทคโนโลยีอัจฉริยะเหล่านี้เพื่อก่อประโยชน์ให้กับประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้แบบสหวิทยาการให้กับบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นกลุ่มต้นแบบ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นหลักสูตร กิจกรรม นวัตกรรม หรือสื่อการเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสมกับบริบทของแต่ละโรงเรียน รวมทั้งช่วยกันเผยแพร่องค์ความรู้นี้ไปยังบุคลากรทางการศึกษาของสถาบันอื่น ๆ

สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม หรือ ฟีโบ้ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เล็งเห็นถึงการยื่นมือช่วยเตรียมความพร้อมด้านการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาในสาขานี้ จึงร่วมมือกับกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายความร่วมมือด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และมีการลงนามบันทึกข้อตกลง “ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายความร่วมมือด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ” กับโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย, โรงเรียนเซนต์คาเบรียล, โรงเรียนเซนต์ดอมินิก, โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา, โรงเรียนร่องคำ, สำนักงานห้องเรียนวิศว์-วิทย์ มจธ., โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนอัสสัมชัญ เป็นกลุ่มโรงเรียนนำร่อง

“รศ.ดร.สยาม เจริญเสียง” ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า ฟีโบ้เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ทั้งมีความพร้อมเกี่ยวกับการพัฒนาคนงานวิจัย และงานบริการวิชาการมามากกว่า 20 ปี และเป็นสถาบันแห่งแรกที่มีการเปิดหลักสูตรที่ให้ปริญญาเฉพาะทางด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยในระยะแรกมีเพียงหลักสูตรในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในปัจจุบันฟีโบ้เล็งเห็นถึงแนวโน้มความต้องการใช้บุคลากรด้านนี้ จึงเปิดหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติเป็นปีแรกในปี 2557

“ไทยกำลังขาดแคลนบุคลากรด้านนี้ จึงต้องการสร้างความร่วมมือพัฒนาด้านวิชาการและศักยภาพของบุคลากรทางการศึกษาทั้งครูและนักเรียน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติระดับประเทศ เราให้การสนับสนุนเป็นที่ปรึกษาในการทำให้กลุ่มโรงเรียนเครือข่ายด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้มีโอกาสในการร่วมกันพัฒนา แบ่งปันความรู้ประสบการณ์การเรียนการสอนในลักษณะ cocreation และ coopetition เพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกันอย่างเป็นระบบเหมาะสมตามบริบทของแต่ละโรงเรียน พร้อมเป็นผู้นำในการแบ่งปันองค์ความรู้ไปยังโรงเรียนอื่นในระดับประเทศด้วย”

“ผศ.ดร.อรพดี จูฉิม” ประธานหลักสูตรสาขาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(ฟีโบ้) กล่าวเสริมว่า จะมีการจัดประชุมเพื่อวางแนวทางในการพัฒนาหลักสูตรด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ การจัดอบรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อเพิ่มศักยภาพและองค์ความรู้ให้กับบุคลากรทางการศึกษาในกลุ่มโรงเรียนเครือข่าย

“เราเปิดโอกาสให้นักเรียนในกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายได้มีประสบการณ์ในการเข้ามาสัมผัสกับประสบการณ์ภายในสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามได้ โดยเรามีหลักในการจัดการเรียนการสอน3 อย่าง ได้แก่ 1.การสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ จะทำให้นักศึกษารู้สึกอยากมีส่วนร่วมและสนุก 2.การบูรณาการการเรียนรู้ 3 สาขาหลัก ได้แก่ เครื่องกล ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ 3.การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และสนับสนุนการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านการทำโครงงานต่าง ๆ

นอกจากนั้น นักเรียนในกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายยังจะได้เยี่ยมชมผลงานวิจัยภายในสถาบัน ได้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายพัฒนาศักยภาพกับรุ่นพี่ และได้รับคำปรึกษาในการพัฒนาโครงงานด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติอีกด้วย”

นาทีนี้อาจจะต้องเลิกมองว่าหุ่นยนต์จะมาแย่งงานของคน เพราะหากผสมผสานกันได้เชื่อมั่นได้เลยว่าจะยิ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้