“จุฬาฯ” ผุดแพทย์อินเตอร์ เรียน 4 ปี ตอบโจทย์ EEC ปั้นหมอไทยสู่โกลบอล

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ

แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับท็อปของประเทศ อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับโลกที่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลาด้วยเทคโนโลยี และตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะคณะแพทยศาสตร์ที่ยังคงอยู่ในระดับท็อปที่นักศึกษาให้ความสนใจเข้าศึกษาต่ออย่างต่อเนื่อง

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเตรียมเปิดหลักสูตรแพทย์นานาชาติ ในปี 2564 หลังจากใช้เวลาเตรียมตัวมาเป็นปี ด้วยการชูคอนเซ็ปต์แพทย์ไทยคุณภาพระดับโลก ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ และได้นำเสนอต่อแพทยสภาเพื่ออนุมัติแล้ว

“ศ.นพ.สุทธิพงศ์” เล่าถึงที่มาการผลักดันหลักสูตรแพทย์นานาชาติที่เตรียมเปิดอย่างเป็นทางการในปี 2564 นี้ว่า การขับเคลื่อนด้านการศึกษาของไทยถือว่าค่อนข้างช้า เพราะขณะที่เราเดิน แต่คนอื่นกลับวิ่ง ทั้งที่ศักยภาพบนพื้นฐานองค์ความรู้ การเรียนศาสตร์ทางการแพทย์ไม่ได้ยิ่งหย่อน เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเดียวกัน อีกทั้งยังมองว่าการจะทำให้โลกมองเห็นความเป็นหลักสูตรนานาชาติของจุฬาฯ ที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าไม่ได้พัฒนาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในประเทศเท่านั้น แต่ยังรองรับความต้องการในตลาดโลก หรือที่เรียกว่า “globalization” อีกด้วย

เมื่อเป้าหมายชัดเจนว่าต้องมุ่งไปสู่ระดับโลกแล้ว จึงตัดสินใจสร้างหลักสูตรแพทย์ (นานาชาติ) สำหรับรายละเอียดของหลักสูตรดังกล่าวนั้น ศ.นพ.สุทธิพงศ์ระบุว่าจะเปิดหลักสูตรอย่างเป็นทางการในปี 2564 โดยคุณสมบัติของผู้เรียนคือจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาใดก็ได้ที่ต้องการเรียนแพทย์ เพื่อนำความรู้ทางการแพทย์ไปประยุกต์ใช้กับศาสตร์ด้านอื่น ๆ เช่น ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ที่สำคัญ ต้องสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ดี โดยใช้เวลาเรียนรวม 4 ปี

ดังนั้น เพื่อให้เห็นภาพของนักศึกษาภายใต้หลักสูตรนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น “ศ.นพ.สุทธิพงศ์” อธิบายเพิ่มเติมว่าคณะแพทยศาสตร์ต้องการแพทย์ที่มีหลากหลาย เช่น อาจจะเป็นแพทย์ที่ลงลึกด้านงานวิจัย นำองค์ความรู้และต้องการ “ต่อยอด” ออกไปในเชิง “แพทย์นักวิจัย และแพทย์นักวิทยาศาสตร์” สำหรับผู้เรียนในกลุ่มที่รับเข้ามาครั้งนี้จะมีความรู้พื้นฐานที่แตกต่างกันในระดับที่เรียกว่า “ค้นพบตัวเอง” และต้องการที่จะ “ผันชีวิต” มาเรียนแพทย์ โดยนำความรู้ที่มีในหลักสูตรปริญญาตรี เพื่อสร้างเสริมแพทย์ที่หลากหลาย เช่น การนำความรู้พื้นฐานทางด้านวิศวกรรมศาสตร์มาผนึกรวมกับศาสตร์ทางการแพทย์ จนนำไปสู่การค้นพบนวัตกรรมรวมถึงการค้นพบสิ่งใหม่ทางการแพทย์ การสร้างวัสดุ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่นำมาใช้ในการเรียนการสอนของนักศึกษาแพทย์ หรือนักศึกษาที่มีความรู้ด้านเภสัชศาสตร์ สามารถเรียนหลักสูตรแพทย์เพื่อนำไปพัฒนายาใหม่ ๆ นักศึกษาที่เรียนด้านสถิติ สามารถเข้ามาเรียนด้านแพทย์เพิ่ม อาจจะเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านสถิติเข้ามา สามารถใช้ฐานข้อมูล หรือ big data เพื่อวิเคราะห์ในเชิงสถิติทางการแพทย์ได้

“หากเรามีคนที่รู้ในแต่ละด้าน ต่อยอดด้าน innovation ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้ในอนาคต เมื่อมี innovation แล้ว ยังมองให้ไกลขึ้นไปสู่การเป็น startup จนไปถึงความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การแพทย์ที่แตกแขนงเพิ่มได้อีก แต่ในความเป็นแพทย์จะต้องมีพื้นฐานของความเป็นแพทย์ นั่นคือสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้”

ส่วนเรื่องวิธีการเรียนการสอนในหลักสูตรดังกล่าว “ศ.นพ.สุทธิพงศ์” ย้ำว่าแพทย์ยุคนี้ต้องเป็น “มากกว่า” แพทย์นั้น จะถูกปลูกฝังสร้างความรู้สึกการเป็นแพทย์ตั้งแต่ปีแรกของการเรียน อีกทั้้งยังผสมผสานความรู้พื้นฐานของ “clinical sign” ลดการเรียนแบบเลกเชอร์ เพราะหลักการและทฤษฎีต่าง ๆ นักศึกษาสามารถค้นคว้าเองได้ อีกทั้งความมุ่งหวังภายใต้หลักสูตรนี้ต้องการชี้นำไปสู่แกนในศาสตร์ต่าง ๆ บุคลากรที่จะบ่มเพาะนักศึกษาภายใต้หลักสูตรนี้คือจุฬาฯ และพันธมิตรที่มีอยู่ และเนื่องจากเป็นหลักสูตรนานาชาติจึงต้องเชิญอาจารย์ต่างชาติเข้ามาช่วยสอน ทั้งยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชื่อดังทั้งในประเทศอังกฤษและสหรัฐรวมถึงมหาวิทยาลัยในประเทศอื่น ๆ

“หากให้คำนิยามของหมอในหลักสูตรนี้ เราต้องการหมอที่มีองค์ความรู้แตกแขนง ต้องการให้นักศึกษาทุกคนในหลักสูตรดังกล่าวให้ไปนำเสนอผลงานในต่างประเทศได้ ที่สำคัญคือตอบโจทย์ได้ว่าทำไมจึงต้อง globalization เราต้องการให้สามารถ approach ได้ทั้งคนไข้ในประเทศรวมไปถึงคนไข้ในต่างประเทศด้วย ไม่ว่าจะเป็นทั้งในยุโรปและสหรัฐ”

นอกเหนือจากความต้องการผลิตแพทย์ที่มีความหลากหลายแล้ว ยังถือเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC (Eastern Economy Corridor) เนื่องจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ มีความร่วมมือกับโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ในการเป็นพื้นที่ดำเนินการสอบนักเรียนแพทย์ และเริ่มมองเห็นว่าในอนาคตที่เส้นทางจาก กทม.ไปยังพื้นที่ภาคตะวันออกโดยใช้รถไฟความเร็วสูง ทำให้ร่นระยะเวลาการเดินทางของผู้ป่วยได้ ทั้งยังสามารถรองรับผู้ป่วยต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในพื้นที่ ใช้เชื่อมโยงในการดูแลรักษาในบริบทของความเป็นนานาชาติ และตอบโจทย์ให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้อีก โดยใช้โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชาเป็นศูนย์กลางเครือข่าย

“ในพื้นที่ EEC ถือเป็น prime area สำหรับอาเซียน ฉะนั้น เราจึงพยายามผลักดันโรงเรียนแพทย์ของไทยให้เป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ อีกทั้งต้องการเพิ่มเครือข่ายทางการแพทย์ในภูมิภาคนี้อีกด้วย อาจจะมีนักเรียนในประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้ เพื่อนำองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปสร้างเครือข่ายในประเทศของเขาได้อีก”

สำหรับในส่วนของปริมาณแพทย์ไทยในปัจจุบันยังคงอยู่ในสถานะขาดแคลนนั้น “ศ.นพ.สุทธิพงศ์” วิเคราะห์ให้ฟังว่าปัญหาขาดแคลนแพทย์ในปัจจุบันที่แท้จริงคือ “การกระจุกตัว” ของแพทย์ในส่วนกลางมากกว่า โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหา ด้วยการหาวิธีบริหารจัดการ เพื่อให้แพทย์กระจายตัวไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีการหารือเบื้องต้นกับหน่วยงานที่กำกับดูแลว่าจะต้องผลิตแพทย์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น และเพื่อให้วงการแพทย์ของไทยก้าวทันความทันสมัยของโลกตลอดเวลา ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการ”แบ่งการผลิต” แพทย์ เพื่อให้สามารถรักษาผู้ป่วยในพื้นที่อื่น ๆ ได้มากขึ้น


“ศ.นพ.สุทธิพงศ์” กล่าวทิ้งท้ายว่าหลักสูตรแพทย์ ยังคงเป็นสาขาที่ได้รับความนิยมจากนักศึกษา พิสูจน์ได้จากการอยู่ในระดับท็อปของสายวิทยาศาสตร์ เมื่อโลกเปลี่ยนเราต้องเปลี่ยนตามให้เท่าทัน สามารถนำความรู้ทางการแพทย์ไปปรับใช้กับเรื่องที่อยู่ในความสนใจของผู้เรียนได้อีกด้วย