เปิดบ้าน “ราชินีมูลนิธิ” ชูความต่างเหนือคู่แข่ง

ครบรอบ 1 ปีไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ สำหรับ โรงเรียนราชินีมูลนิธิ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา โรงเรียนน้องใหม่ในเครือราชินี ที่ขยายฐานไปแข่งขันในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC (Eastern Economic Corridor) เพื่อรองรับความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตจากนักลงทุนที่จะทยอยเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ถือเป็นการขยายฐานที่ค่อนข้างท้าทายของเครือราชินี ท้าทายอย่างแรก คือ ที่ตั้งของโรงเรียนที่อยู่ในอำเภอคลองเขื่อนห่างจากเมืองค่อนข้างมาก แต่ในมุมกลับกันก็ถือว่าสอดคล้องกับการเป็นโรงเรียนประจำ ที่จะช่วยลดสิ่งเร้า ได้ใช้เวลาเรียนอย่างเต็มที่ ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่ดี และมีหลักสูตรการเรียนที่ดีไปพร้อม ๆ กับการเรียนรู้ในการใช้ชีวิตของนักเรียน

“จารุรัตน์ ตู้จินดา” ผู้จัดการโรงเรียนราชินีมูลนิธิ

ต้องยอมรับว่าโรงเรียนทั้งหมดของเครือราชินี มีความแข็งแกร่งด้านหลักสูตร และมีจุดยืนที่ว่า เป็นโรงเรียนที่สอนความเป็น “กุลสตรี” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ลักษณะของความเฉพาะตัวที่ว่านั้น “จารุรัตน์ ตู้จินดา” ผู้จัดการโรงเรียนราชินีมูลนิธิ บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าราชินีมูลนิธิ แม้จะเป็นโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก (english programe) แต่มีสิ่งที่ “เด่นกว่า” โรงเรียนทั่วไปในพื้นที่ตรงที่ การนำหลักสูตรจากเคมบริดจ์มาใช้ ซึ่งถือเป็นอีกความท้าทายของราชินีมูลนิธิ ภายใต้หลักสูตรของเคมบริดจ์จะต้องจ้างผู้สอนมาจากต่างประเทศ และใช้สื่อการเรียนการสอนต้นฉบับจากเคมบริดจ์อีกด้วย ในเมื่อเลือกใช้มาตรฐานสากลแล้ว นั่นหมายถึงว่า ทั้งครูและนักเรียนจะต้องทำงานหนักไปพร้อม ๆ กัน เนื่องจากต้องเพิ่มตัว”ชี้วัด” ตามแบบฉบับของเคมบริดจ์ ควบคู่ไปกับการใช้หลักสูตรไทยของกระทรวงศึกษาธิการคู่ขนานกันไป เพื่อไม่ให้ขาดตัวชี้วัดตามหลักสูตรของไทยด้วย อย่างเช่น ภาษาไทย

ทั้งนี้ การที่นำหลักสูตรเคมบริดจ์เข้ามาผสมผสานกับหลักสูตรไทยนั้้น ยังทำให้เพิ่มโอกาสให้กับนักเรียนที่มีความต้องการไปศึกษาต่อในต่างประเทศได้ทั่วโลก รวมถึงการสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนนานาชาติได้ เพราะเป็นหลักสูตรที่ได้การยอมรับในระดับสากล โดยราชินีมูลนิธิ สำหรับ A-level และอื่น ๆ ในขณะที่หากเป็นโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษทั่วไป จะต้องดำเนินการสมัครสอบวัดความสามารถทางภาษาเอง


ถามว่าในเมื่อราชินีมูลนิธิ ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่เปิดในรูปแบบโรงเรียนนานาชาติ “จารุรัตน์” ตอบคำถามนี้ว่าหากมองในแง่ของการแข่งขันในธุรกิจการศึกษา โรงเรียนที่มีในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราทั้งหมดก็ไม่สามารถแข่งขันกับโรงเรียนนานาชาติได้อยู่แล้ว อีกทั้งหลักสูตรนานาชาติมีกฎเกณฑ์ในการจ้างครูในจำนวนที่กำหนดไว้ แต่ต้องจ่ายค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูง ในขณะที่อัตราค่าเทอมที่ไม่แพงมากนักจึงทำให้ตัดสินใจใช้รูปแบบ english programe

“ราชินีมูลนิธิ จึงตัดสินใจเป็นโรงเรียน “ลูกครึ่ง” ดีกว่า อย่างน้อยที่สุด ไม่ต้องอยู่ในข้อบังคับของหลักสูตรอินเตอร์ อีกทั้งราชินีมูลนิธิยังให้โอกาสคนไทยเข้ามาเรียนมากกว่า หรืออาจจะเรียกได้ว่า เรียนกับราชินีไม่ต้องจ่ายแพง แต่ได้ประโยชน์เหมือนกับโรงเรียนอินเตอร์”

ตามมาด้วยอีกความท้าทาย คือ เรื่องของ “ต้นทุน” โดยต้นทุนหลักของโรงเรียนทั่วไปเป็นเงินเดือนครูไปแล้วกว่า 80% อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ยิ่งทำให้โรงเรียนต้องตั้งรับ ปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่เนื่องจากราชินีมูลนิธิ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ซึ่งเชื่อมั่นว่าในอนาคตจะมีนักเรียนสนใจเข้ามาสมัครเรียนมากขึ้น

“จารุรัตน์” อธิบายถึงความเชื่อมั่นนี้ว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ในการเปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ ราชินีมูลนิธิได้สร้างตัวตนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และได้เตรียมแผนประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้น ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย อย่างเช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และผ่านเว็บไซต์ของโรงเรียนอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ทั้งในพื้นที่ฉะเชิงเทรา และจากพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

โดยภายหลังจากที่เริ่มประชาสัมพันธ์อย่างจริงจังนั้น “จารุรัตน์” บอกว่าได้เห็นถึงแนวโน้มจำนวนนักเรียนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น “เท่าตัว” เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ที่ผ่านมาได้อย่างแน่นอน โดยวัดจาก 1) การติดต่อสอบถามเข้ามาที่โรงเรียนจากผู้ปกครองจำนวนมาก เช่น จากระยอง จันทบุรี สุพรรณบุรี รวมถึงผู้ปกครองจากจังหวัดพังงา และภูเก็ต เป็นต้น

2) ราชินีมูลนิธิ ยังได้ปรับนโยบายจากเดิมที่เป็นโรงเรียนประจำ มาเป็นโรงเรียนแบบไปกลับ เพื่อเป็น “ทางเลือก”ให้กับนักเรียนในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการของมูลนิธิแล้ว

และ 3) นักเรียนหญิงจากโรงเรียนที่ใช้รูปแบบ “สหศึกษา” ต้องการย้ายมาเรียนในรูปแบบหญิงล้วน เนื่องจากให้เหตุผลว่าสังคมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงต้องการโรงเรียนที่จะอบรมและสอนลูกด้วยวัฒนธรรมที่ดี และยังได้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของนักเรียนได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงธุรกิจการศึกษาภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวนั้นส่งผลกระทบหรือไม่นั้น จารุรัตน์ระบุว่า เป้าหมายของทุกโรงเรียนต้องการ “เลี้ยงตัวเอง” ให้ได้ อีกทั้งราชินีมูลนิธิไม่ได้ต้องการแค่ผลกำไรทางธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องการให้การศึกษาได้ถูกเผยแพร่ไปภายใต้รูปแบบของราชินีในพื้นที่นอกเขต กทม. และหากผู้ปกครองต้องการได้โรงเรียนที่สอนให้เป็นกุลสตรีที่สมสมัย ไปพร้อม ๆ กับมีความรู้ที่รอบด้านแล้ว คำตอบอยู่ที่ราชินีมูลนิธิทั้งหมดแล้ว

ด้าน นายสุชาติ สมบูรณ์ ผู้ปกครองที่เข้าร่วมกิจการเปิดบ้านราชินีมูลนิธิ ระบุว่า เหตุผลที่เลือกโรงเรียนราชินีมูลนิธิ ไม่ได้เน้นในเรื่องของหลักสูตร เพราะราชินีมีชื่อเสียงด้านนี้มานานอยู่แล้ว แต่เลือกจากการรักษา “ความปลอดภัย” มาเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะสังคมในปัจจุบัน จึงต้องหาโรงเรียนที่ดีที่สุดตามที่เราต้องการให้กับลูก

และที่สำคัญ คือ ความตั้งใจของโรงเรียนที่ว่า จะให้การดูแลเด็กเสมือนเป็นลูกของตัวเอง เมื่อผ่านไป 1 ปี ราชินีมูลนิธิก็ทำได้เหมือนกับที่ได้บอกเอาไว้ ยิ่งไปกว่านั้นพฤติกรรมการใช้ชีวิตของลูกก็เปลี่ยนไป เล่นโทรศัพท์น้อยลง มีวินัยมากขึ้น อีกทั้งยังได้เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิต เอาตัวรอดในแต่ละสถานการณ์ด้วยการคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง วันหยุดมีกิจกรรมเสริมให้เด็ก

นอกจากนี้ยังมีสิ่งแวดล้อมที่ดี ยิ่งช่วยทำให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุข จนไม่อยากกลับบ้าน