ธนบุรี เฮลท์แคร์ MOU ม.มหิดล ตั้งศูนย์นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์

นักศึกษาวิศวะ มหิดลกับหุ่นยนต์ทางการแพทย์

ธนบุรี เฮลท์แคร์ ร่วมกับคณะวิศวะฯ ม.มหิดล จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านบริการทางการแพทย์ สู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน หนุนไทยเป็นเมดิคัลฮับของภูมิภาค

“นพ. บุญ วนาสิน” ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ มารองรับความต้องการใช้บริการทางการแพทย์ของคนไทย และชาวต่างชาติที่เป็นกลุ่มเฮลท์ ทัวริสซึมหรือกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จึงได้บันทึกความเข้าใจ หรือเอ็มโอยู (MOU-Memorandum of Understanding) กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์และบริการทางการแพทย์ (Medical Services) ที่โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง

“มีวัตถุประสงค์หลักพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์เพื่อใช้ภายในโรงพยาบาลเครือ THG และก้าวสู่ smart hospital รองรับศักยภาพประเทศไทยเป็นเมดิคัลฮับของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนั้นยังร่วมกันวิจัยพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (health tech) สู่การจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในอนาคต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการแพทย์และสุขภาพแก่ประเทศ”

“ศ.นพ. บรรจง มไหสวริยะ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการวิจัยพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ของภูมิภาค เนื่องจากมีจุดแข็งด้านการให้บริการทางการแพทย์ที่โดดเด่น เห็นได้จากการได้รับความนิยมในกลุ่มเฮลท์ ทัวริสซึม และความสามารถในการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนได้รับความชื่นชมและเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก

ผู้บริหารร่วมลงนามเอ็มโอยู
จากซ้ายไปขวา: ดร.เจษฎา ธรรมวณิช Chief PPP Business บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน), ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

“หลังเกิดโรคโควิด-19 มีโรงพยาบาลหลายแห่งนำนวัตกรรมเข้ามาให้บริการ เช่น ระบบ Tele medicine ที่สามารถเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลประวัติการรักษา เพื่อให้บริการแก่คนไข้ที่ไม่สะดวกเดินทางมายังโรงพยาบาล หุ่นยนต์ทางการแพทย์ และแอปพลิเคชั่นเพื่อให้บริการแก่คนไข้ จึงทำให้การพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ใหม่ ๆ มีความจำเป็นมากขึ้น และควรได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน เพื่อต่อยอดสู่ความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในตลาดเชิงพาณิชย์”

การที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้รับการสนับสนุนจาก บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป ร่วมกันจัดตั้งศูนย์นี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

“รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกและนำเข้าอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับต้น ๆ ในอาเซียน โดยส่งออกปีละกว่า 107,700 ล้านบาท และนำเข้าปีละกว่า 66,500 ล้านบาท ภาพรวมของการส่งออกขยายตัวปีละเฉลี่ย 8-10%

“ที่ผ่านมาทางคณะวิศวะฯ ม.มหิดล ได้พัฒนางานวิจัยมาหลายชิ้น ได้แก่ หุ่นยนต์ผ่าตัดนำวิถี, ระบบหุ่นยนต์ผ่าตัดทางไกล (real-time Tele surgery), หุ่นยนต์ช่วยเดินเพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต (Exoskelton), หุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ DoctoSight 1 และ 2 สำหรับการวินิจฉัยและรักษาผ่านระบบโทรเวช, หุ่นยนต์เวสตี้ เก็บขยะติดเชื้อในโรงพยาบาลด้วยระบบ AGV (Automated Guide Vehicle) ที่ใช้แถบแม่เหล็กนำทาง มีระบบแขนกลในการยกถังขยะได้สูงสุดครั้งละ 5 กิโลกรัม”

“หุ่นยนต์ฟู้ดดี้ ส่งอาหารและยาแก่คนไข้ในหอผู้ป่วย ได้ประมาณ 200 คนต่อวัน ลดภาระงานหนักและความเสี่ยงบุคลากรทางการแพทย์ต่อการติดเชื้อโรคระบาด รวมถึงลดการนำเข้าหุ่นยนต์จากต่างประเทศอีกด้วย นอกจากนี้ยังมี วีลแชร์ไฟฟ้าควบคุมด้วยสัญญาณสมอง, Alertz อุปกรณ์เตือนการหลับในขณะขับรถด้วยสัญญาณสมอง, ระบบฝึกการแพทย์ผ่าตัดนัยน์ตา (Eye Surgical Training System), ระบบฝึก Haptics VR การแพทย์ผ่าตัดเนื้องอกในสมอง, สารเคลือบนาโนป้องกันเชื้อโรค (NanoCoating), เครื่องกายภาพไจโรโรลเลอร์ (Gyro-Roller) สำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง และไบโอเซนเซอร์ (Biosensor) อุปกรณ์ตรวจวัดทางชีวภาพ, เป็นต้น”

นับว่าความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ครั้งนี้ จะช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการแก่คนไข้ และจะนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ในอนาคต ซึ่งเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพให้แก่ประเทศ