รามคำแหงปรับใหญ่ตั้งคณะแพทย์รับสังคมสูงวัย

FILE PHOTO: REUTERS/Pascal Rossignol/File Photo

“รามคำแหง” บิ๊กเชนจ์เร่งรีแบรนด์ตัวเองในรอบ 49 ปี หลังเผชิญปัญหานักศึกษาใหม่เรียนน้อยลง เทอมแรกปีนี้ลดฮวบ 15% มหา’ลัยดิ้นปรับตัวเพิ่มทางเลือกตั้ง “คณะแพทย์-พยาบาล” รองรับสังคมสูงวัย ผนึกกลุ่มทรูลงทุน 200 ล้าน ขยายสู่โลกออนไลน์เรียนได้ทั่วโลก อัพเกรดหลักสูตรเทคโนโลยี ค่าเรียนหน่วยกิตละ 25 บาท

จากแนวโน้มนักศึกษาใหม่ที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยทั่วไป เริ่มมีสถิติลดลงเรื่อย ๆ ตามจำนวนประชากรเกิดใหม่ บวกกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ถดถอยลง ทำให้มหาวิทยาลัยเปิดและมหาวิทยาลัยปิดขอประเทศไทยต้องเร่งปรับตัวครั้งใหญ่

รามคำแหงบิ๊กเชนจ์

ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ ประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสภาพการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจการศึกษา ส่งผลให้นักศึกษาใหม่ (ระดับปริญญาตรี) ปีการศึกษา 2563 เทอมแรกมีจำนวนลดลงถึง 15% คืออยู่ที่ 33,000 คน เทียบกับปีก่อนมีอยู่ 38,000 คน รามคำแหงจึงมีนโยบายปรับโฉมให้เป็นมหาวิทยาลัยเปิดที่ทันสมัย เพื่อรองรับความต้องการของนักศึกษาใหม่ในอนาคต

“โดยให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและดิจิทัลมากขึ้น ถือเป็นการรีแบรนด์ครั้งแรกในรอบ 49 ปีของการก่อตั้ง ตั้งแต่ปี 2514”

ตามแผนจะเร่งดำเนินการ ดังนี้ 1.เพิ่มการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ใช้ platform ใหม่ในการเรียนการสอน เช่นแอปพลิเคชั่น เรียนผ่านสมาร์ทโฟนได้ทุกที่ทุกเวลา ล่าสุดคณะต่าง ๆ กำลังสำรวจศักยภาพและความพร้อมของตัวเอง

2.ขยายตลาดในต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากมีคนไทยในต่างแดนสนใจจะเรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีเรียนผ่านออนไลน์แล้วกว่า 30 ประเทศ ทั้งแถบยุโรป เช่น เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี และกลุ่มสแกนดิเนเวีย เพื่อให้เข้าถึงตลาดเหล่านี้จึงร่วมกับศิษย์เก่ารามคำแหงที่ทำงานในต่างประเทศ

3.จัดตั้งคณะแพทยศาสตร์ จากที่มีอยู่ 15 คณะวิชา เป้าหมายคือรองรับสังคมผู้สูงวัย ส่วนเรื่องความพร้อม รามคำแหงมีคณาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ถึง 120 คน ที่จะช่วยร่างหลักสูตร พร้อมนำเสนอให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และแพทยสภาพิจารณา

“เราเดินหน้าเรื่องนี้มาปีเศษแล้ว พอดีเจอโควิด-19 จึงชะลอไว้ก่อน เรายังมีเวลามากพอที่จะเพิ่มเติมในรายละเอียด ส่วนการเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ในคณะใหม่ คิดว่าจะเริ่มได้ในปี 2564”

4.จัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ จุดมุ่งหมายเช่นเดียวกับคณะแพทย์ และ 5.ปรับหลักสูตรให้ทันสมัยต่อความต้องการของตลาดให้มากขึ้น เช่น สาขาทัศนมาตรศาสตร์ หรือการดูแลสุขภาพดวงตา สาขารังษีวิทยา เป็นต้นดึงทรูวางระบบ

6.เน้นร่วมมือกับพันธมิตร และภาคเอกชนในการลงทุน พัฒนาการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ให้มีภาพและเสียงคมชัด ไม่ว่าผู้เรียนจะอยู่ในพื้นที่ใดของโลก

ล่าสุดได้ร่วมกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) วางระบบให้แล้ว มูลค่าโครงการกว่า 200 ล้านบาท และยังมีเอกชนรายอื่น ๆ ด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

“เราเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ ไม่ใช่องค์กรแสวงหากำไร รายได้หลักจึงต้องพึ่งงบประมาณจากรัฐบาล หากต้องลงทุนเพิ่มก็จะให้เอกชนดำเนินการ พูดง่าย ๆ คือถ้าไม่ใช่การลงทุนที่เกี่ยวกับหลักสูตร เนื้อหาวิชาการ รามคำแหงจะให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน ภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกัน เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตก็ต้องใช้บริการจากทรูฯ เป็นต้น” ผศ.วุฒิศักดิ์กล่าว

ผศ.วุฒิศักดิ์กล่าวเสริมว่า กลุ่มเป้าหมายของรามคำแหง คือ นักศึกษาที่เรียนและทำงานไปด้วย รวมถึงนักศึกษาปริญญาโทที่ต้องการเพิ่มทักษะเฉพาะทางของตัวเอง เนื่องจากเทคโนโลยีมีการพัฒนารวดเร็ว ฉะนั้น โจทย์สำคัญของรามคำแหง คือ ต้องเร่งปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับตลาดปัจจุบัน ทั้งคณะรัฐศาสตร์, บริหารธุรกิจ และศึกษาศาสตร์ โดยเปลี่ยนรูปแบบการสอนและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาเสริมให้การเรียนการสอนน่าสนใจมากขึ้น

ค่าเรียน 25 บาท/หน่วยกิต

นอกจากนี้ รามคำแหงยังมีจุดเด่นที่สำคัญ คือ ค่าเล่าเรียนถูกมากที่สุด จากอัตราเดิม 18 บาทต่อหน่วยกิต มาถึงปัจจุบันอยู่ที่ 25 บาทต่อหน่วยกิต ขณะที่สถาบันระดับอุดมศึกษาอื่น ๆ ทั้งมหาวิทยาลัยรัฐด้วยกัน หรือมหาวิทยาลัยเอกชน ต่างปรับอัตราค่าหน่วยกิตไปแล้วในต่ำกว่าหลัก 1,000 บาทต่อหน่วยกิต

ซึ่งแผนการปรับโฉมของรามคำแหงครั้งนี้ คณะผู้บริหารต้องการทำให้เป็นรูปธรรม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของมหาวิทยาลัย โดยเน้นอัตราค่าเล่าเรียนที่ถูก แต่คุณภาพทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่ได้มาตรฐาน

“คนมักมองว่าค่าเทอมถูก การเรียนการสอนก็ต้องไม่มีคุณภาพ ซึ่งไม่จริง เราต้องการล้างความเข้าใจเหล่านี้ทิ้งไปให้หมด”

เพราะรามคำแหงเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยแบบตลาดวิชาชีพชั้นสูง มีผลงานการทำวิจัย มีวิชาการขั้นสูง มีวัฒนธรรมจับต้องได้ สอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก และยังมีการเรียนการสอนในโครงการพิเศษต่าง ๆ ที่เสริมทักษะให้กับคนวัยทำงานให้รู้เท่าทันเทคโนโลยีด้วย