ศธ.โต้กลับ ยิ่งลักษณ์ เรียนออนไลน์เหมาะกับนักเรียนบางกลุ่มเท่านั้น

กระทรวงศึกษาธิการ แจง กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย เรียกร้องให้นำแท็บเลตพีซีมาใช้ในระบบการศึกษาไทย ผลวิจัยพบเรียนออนไลน์มีปัญหาหลายส่วน ทำเด็กเครียด เบื่ออาหาร การตอบสนองต่างกัน ย้ำเหมาะกับนักเรียนบางกลุ่มเท่านั้น

วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยกรณีข้อเรียกร้องที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้นำแท็บเลตพีซีมาใช้ในระบบการศึกษาของไทย โดยโพสข้อความระบุถึงการศึกษาไทยว่าช่วงสถานการณ์โควิด-19 การปรับตัวเพื่อเรียนออนไลน์มีความจำเป็นเพื่อความปลอดภัยจากการติดเชื้อและให้การเรียนการสอนดำเนินไปได้โดยไม่ติดขัด

แท็บเลตพีซี จึงเป็นอุปกรณ์ทางเลือกที่พัฒนาให้นักเรียนรู้จักแสวงหาความรู้ และแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง พร้อมกับปรับบทบาทครูเป็นผู้อำนวยการสอนเท่านั้น จึงหวังว่ารัฐบาลจะนำนโยบายแท็บเลตพีซีและการเรียนออนไลน์เข้ามาใช้ในสถานศึกษาอย่างจริงจังและลงทุนให้ทุกโรงเรียนของรัฐมีอุปกรณ์การเรียนการสอนทั้งครูผู้สอนและนักเรียน

โดยนายสุภัทร กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้จัดซื้อแท็บเลตพีซีให้กับนักเรียน ชั้น ป.1 ทั่วประเทศ ครั้งแรกในปี 2555 จำนวน 8 แสนเครื่องเศษ โดยในปี 2556 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นผู้จัดซื้อให้ จากบริษัทของประเทศจีนโดยตรง และจัดซื้อครั้งที่ 2 สำหรับนักเรียน ป.1 และ ม.1 ทั้งประเทศ จำนวน 1 แสน 6 หมื่นเครื่องเศษ โดยใช้วิธีการจัดซื้อแบบ e-Bidding ภายในประเทศไทย ต่อมาในปี 2557 ได้มีการประเมินผลการใช้แท็บเลตพีซีในการจัดการเรียนการสอนของนักเรียน โดยสรุปคือ

– แท็บเลตพีซีมีประโยชน์ต่อการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน
– นักเรียนและครู มีความพึงพอใจสูง ในการใช้แท็บเลตพีซีในการเรียนการสอน
– แท็บเลตพีซีตอบสนองการเรียนรู้ของนักเรียนที่มีความแตกต่างของบุคคลด้านความพร้อมทางสติปัญญา
– ผลการตอบรับภาพรวมในระดับโรงเรียนเห็นควรดำเนินโครงการแท็บเลตพีซีต่อเนื่อง

ทั้งนี้สภาพปัญหาการใช้งาน จนถึงปัจจุบันพบว่าแท็บเลตพีซียังมีจุดที่ต้องได้รับการพัฒนาหลายส่วน อาทิ

-Spec แท็บเลตพีซี ในสมัยนั้นค่อนข้างต่ำ การทำงานช้า และอายุการใช้งานสั้นปัจจุบันผ่านมา 8 หมดอายุการใช้งาน ไม่สามารถรองรับ application ในปัจจุบัน
– สื่อแอปพลิเคชั่นมีน้อย ไม่เพียงพอในการจัดการเรียนรู้ของนักเรียน
– ระบบปฏิบัติการ (OS) มีข้อจำกัดในการรองรับสื่ออิเล็กทรอนิกส์รูปแบบต่าง ๆ
– มีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลจำกัด หรือจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการใช้งาน
– สัญญาณอินเทอร์เน็ตไม่เพียงพอสำหรับการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เป็นต้น

งานวิจัยชี้แท็บเลตพีซีเหมาะกับเด็กบางกลุ่ม

ในการนี้ได้มีงานงานวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.ประสานมิตร) เมื่อปี 2555 พบว่า แท็บเลตพีซีเหมาะสมสำหรับนักเรียนระดับชั้น ป.4 ขึ้นไป กรณีจะจัดหาแท็บเลตพีซีให้กับนักเรียนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 เห็นควรจัดหาให้ระดับมัธยมศึกษาก่อนเป็นลำดับแรก เนื่องจากนักเรียนกลุ่มนี้ใช้รูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์อยู่เดิมแล้ว ในส่วนของระดับประถมศึกษายังมีการใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย ได้แก่ On – AIR On – Hand On – Demand

นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ที่มาช่วยสนับสนุนการเรียนรู้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการนี้ โดยเนื้อหาปัจจุบันนำเสนอในรูปแบบ New DLTV สามารถเข้าเรียนเมื่อใดก็ได้ เรียนล่วงหน้า ย้อนหลังได้ ผ่านเว็บไซต์ www.dltv.ac.th หรือผ่านแอปพลิเคชั่น DLTV จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เพียงพอสำหรับนักเรียนในระดับประถมศึกษา

ตลอดจนกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับแท็บเลตพีซีลำดับแรก ๆ ควรเป็นนักเรียนมัธยมศึกษาที่ด้อยโอกาสขาดแคลนอุปกรณ์ในการเรียน เช่น นักเรียนในกองทุน กสศ. รวมทั้งสเปกของแท็บเลตพีซีควรเป็นคุณลักษณะที่ใช้งานได้จริงในปัจจุบันรองรับสื่อแอปพลิเคชั่นได้ทุกประเภท

สำหรับการจัดหาควรใช้วิธีการเช่า ไม่ควรจัดซื้อ เพราะสามารถใช้งบฯดำเนินการสำหรับบริหารจัดการได้เลย เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 คลี่คลาย อาจจะไม่ต้องเช่าต่อก็ได้

เรียน-สอนออนไลน์ เป็นปัญหาหลายกลุ่ม

ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีความทุกข์ของผู้ปกครอง และนักเรียนจากการศึกษาผ่านช่องทางออนไลน์ สังคมโดยรวม ครอบครัวที่มีลูกส่วนใหญ่ พ่อแม่ก็จะบ่นมากหน่อย มีลูกหลากหลายวัย ปัญหาก็จะแตกต่างกันไปในรายละเอียด ถ้าลูกเล็กก็จะบ่นมากเป็นพิเศษ เพราะแทบจะต้องอยู่กับลูกที่บ้านและเรียนไปพร้อมกับลูก ถ้าพ่อแม่ทำงานด้วยก็จะมีรายละเอียดของปัญหามากขึ้นไปอีก

ส่วนพ่อแม่ที่มีลูกโตก็มีปัญหาไม่น้อยเหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องงานเยอะ การบ้านเยอะ ทำเท่าไหร่ก็ไม่หมด ในขณะที่เด็กระดับมหาวิทยาลัยก็จะออกแนวอยากกลับไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเสียที ส่วน ครู – อาจารย์ ในทุกระดับ ครูระดับเด็กเล็ก เด็กโต เด็กมหาวิทยาลัย ต่างก็มีปัญหาที่แตกต่างกันไป

“แต่สิ่งหนึ่งที่พูดตรงกันก็คือ การสอนออนไลน์ทำให้แบกภาระหนักขึ้น ต้องเตรียมตัว และหาวิธีการต่าง ๆ รวมถึงเทคนิคการสอนต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้เด็กเรียนด้วย แล้วไหนจะต้องคิดถึงวิธีการประเมินผลอีกต่างหาก สรุปก็คืออยากกลับไปสอนในสถาบันการศึกษามากกว่าสอนทางออนไลน์ ทั้งยังมีคุณครูจำนวนมากและโรงเรียนหลายแห่งไม่ได้มีความพร้อมด้านอุปกรณ์หรือทักษะทางดิจิทัล ครูหลายคนใช้โปรแกรมเช่น Google Classroom, Zoom หรือ Teams ไม่คล่อง ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้

และเมื่อได้พูดคุยด้วยกับเด็กหลากหลายวัย ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากกลับไปเรียนที่โรงเรียน ไม่อยากเรียนผ่านออนไลน์ด้วยสารพัดเหตุผล เช่น เรียนยากขึ้น เรียนไม่รู้เรื่อง งานเยอะ เรียนได้แย่ลง อยากเจอเพื่อน อยากทำกิจกรรม สรุปก็คือ ไม่ว่าจะมีโอกาสได้พูดคุยกับใคร ทุกคนล้วนแล้วไม่อยากอยู่ในสภาพต้องเรียนออนไลน์”

ขออนุญาตยกผลงานวิจัยจากครอบครัวในทวีปเอเชียและยุโรปมาประกอบ ดังนี้

– งานวิจัยมหาวิทยาลัยมิชิแกนเรื่องผลกระทบของการเรียนออนไลน์ ในผู้ปกครองชาวอเมริกัน 405 คน ที่มีลูกอย่างน้อย 1 คนอายุต่ำกว่า 12 ปี และครึ่งหนึ่งของผู้ปกครองมีลูกอายุระหว่าง 2-5 ปี พบว่า 40 % ของผู้ปกครองรู้สึกเครียดจากการที่ลูกต้องเรียนออนไลน์ โดย 25 % ให้ข้อมูลว่า บ้านมีอุปกรณ์หรือสภาพไม่พร้อมต่อการเรียนออนไลน์ในขณะที่ผลสำรวจของ Washington Post จากผู้ปกครองที่มีลูกต้องเรียนออนไลน์ 60 คน พบว่าลูกตัวเองเครียดขึ้น ก้าวร้าวขึ้น เบื่ออาหาร บ่นปวดหลัง มีปัญหาเจ็บตาหรือตาอ่อนล้า

– งานวิจัยในประเทศจีน สำรวจนักเรียนในมณฑลหูเป่ยที่อยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่ต้นปี 2563 โดยเก็บข้อมูลนักเรียนเกรด 2 ถึง 6 (ป.2-ป.6) จำนวน 2,330 คน ระหว่าง 28 ก.พ.-5 มี.ค. 2563 พบว่ามีนักเรียนมากถึง 40% ที่เผชิญความเครียดและวิตกกังวล สอดคล้องกับประเทศไทยที่ล่าสุดมีนักเรียนและนักศึกษาจำนวนมากเครียดจากการเรียนออนไลน์ เพราะไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้เกิดความทุกข์ และมีบางคนที่สุดท้ายก็นำไปสู่โศกนาฏกรรม

ทั้งนี้ ช่วงของสถานการณ์วิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดการปรับตัวเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ (New Normal) โดยเฉพาะสถาบันทางการศึกษาที่ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนแบบปกติได้ จึงจำเป็นต้องใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อให้การเรียนรู้ต่อเนื่องการเรียนการสอนแบบออนไลน์มีองค์ประกอบ ได้แก่ ผู้สอน ผู้เรียน เนื้อหา สื่อการเรียนการสอน แหล่งเรียนรู้ กระบวนการจัดการเรียนรู้ รูปแบบการเรียนการสอน ระบบการติดต่อสื่อสาร ระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ การวัดและการประเมินผลและเมื่อการเรียนออนไลน์มีบทสรุปเหมือนกับการเรียนปกติ ก็คือ ตัดสินกันที่การวัดและประเมินผลแบบเดิม

ซึ่งกลายเป็นเรื่องหนักหน่วงของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเด็ก มีเด็กจำนวนมากที่ไม่ใช่ทุกข์ใจแค่การเรียนออนไลน์ การทำงานที่มากขึ้น แต่การสอบกลายเป็นเรื่องหนักสุด สืบเนื่องจากผลพวงเรื่องประสิทธิภาพในการเรียนออนไลน์ที่เด็กส่วนใหญ่อยากเรียนที่สถาบันการศึกษามากกว่า เด็กจำนวนมากถอดใจยอมถอยจากระบบ ออกจากโรงเรียนกลางคัน ในขณะที่ระดับมหาวิทยาลัยก็ดรอปไว้ก่อน

จากข้อมูลของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 กระทรวงศึกษาธิการพบว่ามีโรงเรียนที่จัดการเรียนแบบออนไลน์เต็มรูปให้กับนักเรียนจำนวน 7,889 โรงเรียน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 22.5 ในสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นมีข้อจำกัดจากการใช้แท็บเลตพีซีในหลายมิติ เช่น

1. ครอบครัวผู้ปกครองไม่สามารถจัดหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพื่อให้นักเรียนได้เรียนออนไลน์อย่างเต็มรูปผ่าน Tablet PC ได้ด้วยสภาพพื้นที่ของที่อยู่อาศัยและสภาพเศรษฐกิจ

2. ผู้ปกครองต้องออกไปทำงานนอกบ้านนักเรียนต้องอยู่กับพีซีแท็บเลตโดยไม่มีผู้ดูแลกระตุ้นเตือนให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองทำให้ขาดประสิทธิภาพ

3. ผู้เรียนต้องการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อนและกับครู

4. การจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์นั้นจะต้องมีการพัฒนาในองค์ประกอบ 3 ด้านคือ ด้านสติปัญญา ด้านร่างกายอารมณ์สังคม และด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนั้นการใช้พีซีแท็บเลต เป็นไปเพื่อช่วยในการเรียนออนไลน์จะมีประโยชน์เกิดคุณค่าต่อการพัฒนาการศึกษาของคนได้เฉพาะบางส่วนจึงไม่เป็นคำตอบสุดท้ายสำหรับการจัดการศึกษาโดยรวม

“กระทรวงศึกษาธิการ และสถานศึกษา ได้คำนึงถึงการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบที่ใช้ครอบครัวและผู้เรียนเป็นฐาน รูปแบบการจัดการศึกษาการจัดการเรียนการสอนจึงต้องมีความหลากหลายตามความต้องการจำเป็นทั้งนี้ต้องเลือกที่เหมาะสมกับบริบทของครอบครัวสภาพพื้นที่สภาพเศรษฐกิจกิจและสังคมรวมถึงศักยภาพของผู้เรียนเป็นหลัก การจัดหาแท็บเลตพีซีเพื่อสนับสนุนการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนจึงมีความเหมาะสมและจำเป็นกับนักเรียนเพียงบางกลุ่มบางสถานศึกษาเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่นักเรียนที่เรียนในระบบออนไลน์ก็สามารถใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วในการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ที่สถานศึกษาดำเนินการไปแล้ว”