ม.เชียงใหม่ ตั้งโครงการ แจกผ้าอนามัยฉุกเฉิน สำเร็จแล้ว !

ภาพจากเฟซบุ๊ก งานนโยบาย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ CMU Student Union's Policy Team

สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประกาศความสำเร็จ จัดตั้งโครงการสวัสดิการผ้าอนามัยฉุกเฉินได้แล้ว เบื้องต้นแจก 5 จุด 

วันที่ 5 ตุลาคม 2564 เพจเฟซบุ๊ก งานนโยบาย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ CMU Student Union’s Policy Team แจ้งว่า หลังจากการต่อสู้ที่ยาวนาน โครงการสวัสดิการผ้าอนามัยฉุกเฉิน โดยความร่วมมือระหว่างงานนโยบาย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ CMU Student Union’s Policy Team และร้านสหกรณ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำกัด เริ่มต้นก่อตั้งสำเร็จแล้ว ! โดยเริ่มต้นก่อตั้งใน 5 จุด ได้แก่

1.อาคารกิจกรรมนักศึกษา (อาคาร อ.มช.) ชั้นที่ 1

2.อาคารกิจกรรมนักศึกษา (อาคาร อ.มช.) ชั้นที่ 2

3.อาคารศูนย์บริการ ITSC Corner

4.อาคารศูนย์อาหาร CMU Food Center ชั้นที่ 1

5.อาคารศูนย์อาหาร CMU Food Center ชั้นที่ 2

อย่างไรก็ตาม จำนวนจุดแจกและสถานที่ยังคงถูกตั้งเพิ่มตามงบประมาณและการสนับสนุนของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานภายนอกอย่างต่อเนื่อง

ทางเพจระบุด้วยว่า ผู้ที่สามารถรับผ้าอนามัยจากโครงการนี้ได้คือ นักศึกษาระดับปริญญาตรี นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย และบุคคลภายนอก ซึ่งการรับผ้าอนามัยมีวิธีการดังนี้

1.สแกน QR code บนกล่อง พร้อมเลือกกลุ่มผู้ใช้งาน

2.หยิบผ้าอนามัย 1 ชิ้น (สแกน 1 ครั้ง หยิบได้ 1 ชิ้น)

การเคลื่อนไหวเรื่องผ้าอนามัยในประเทศไทย

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มติชน รายงานว่า ปภาณษิณ ปิ่นแก้ว หรือบุ๊ค หัวหน้ากลุ่มลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกตัวอย่างเรื่องผ้าอนามัยในต่างประเทศว่า นานาประเทศที่เริ่มใส่ใจดูแลเรื่องผ้าอนามัย ด้วยบันได 2 ขั้น คือ ขั้นแรก ยกเลิกการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผ้าอนามัย มีผลทำให้ผ้าอนามัยราคาถูกลง เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา (บางรัฐ) อินเดีย

ขั้นที่สอง จัดสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีจากรัฐบาล ปัจจุบันมีเพียงประเทศเดียวในโลกคือ สกอตแลนด์ นอกจากนี้มี เยอรมนี ที่แม้ไม่ได้มีมาตรการทางภาษี แต่ใช้แนวทางเพิ่มยอดการผลิตแต่ละครั้งให้เยอะ เพื่อให้มีราคาถูกและคนเข้าถึงง่าย

“อย่างสกอตแลนด์ ตอนแรกยกเลิกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มก่อน จากนั้นก็มากำหนดเป็นสวัสดิการของรัฐในเวลาไม่นาน ทำเป็นรูปแบบผ้าอนามัยมาตรฐาน แจกวัยเรียน วัยทำงาน หรือหากไม่ชอบจะซื้อเองก็ได้ ส่วนสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการเรียกร้องจนประกาศยกเลิกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผ้าอนามัยไปเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา พบว่าสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายประชาชนในช่วงโควิด-19 ระบาดได้”

หัวหน้ากลุ่มลดความเหลื่อมล้ำทางเพศเผยอีกว่า ผ้าอนามัยมีหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ผ้าอนามัยทั่วไป ผ้าอนามัยแบบกางเกง ผ้าอนามัยแบบถ้วย มีทั้งใช้แล้วทิ้งและซักใช้ซ้ำได้ ซึ่งมาตรฐานระบุให้ใช้ 4 ชั่วโมงต่อ 1 แผ่น แต่เด็กบางคนใช้วันละ 2 แผ่น บางคนใช้วันละ 1 แผ่น มีอยู่จริง ๆ

“อยากให้รัฐบาลเริ่มทำ เชื่อว่าจะมีประเทศในอาเซียนจะทำตามแน่ ๆ เพราะประโยชน์ไม่เพียงช่วยลดค่าใช้จ่ายได้แล้ว ยังสามารถนำเงินส่วนนี้ไปซื้อหนังสือดี ๆ อ่าน นำมาส่งลูกเรียนได้ ในระยะยาวการมีสุขอนามัยที่ดี จะลดการเป็นโรคต่างๆ สามารถลดงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลของประเทศได้” ปภาณษิณกล่าวทิ้งท้าย