ตรีนุช ดึงยูเนสโกร่วมพัฒนาการศึกษาไทย

ตรีนุช ดึงยูเนสโกร่วมพัฒนาการศึกษาไทย เตรียมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เดือนมิถุนายนนี้

วันที่ 11 เมษายน 2565 นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนและคณะผู้บริหารกระทรวง พร้อมด้วยนายปราโมทย์ ด้วงอิ่ม รองผู้แทนถาวรไทยประจำยูเนสโก และนางสาวสุปราณี คำยวง ผู้เชี่ยวชาญสำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ สป.ได้พบหารือความร่วมมือกับนาง Stefania Giannini ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ด้านการศึกษา

ซึ่งตนได้กล่าวถึงนโยบายสำคัญนโยบายหนึ่งที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในการนำเด็กตกหล่นที่หลุดออกจากระบบการศึกษาที่มีมากกว่า 2 แสนคนกลับเข้าเรียน โดยทุกหน่วยงานได้ช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กเหล่านี้อย่างเท่าเทียม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง พร้อมทั้งสร้างอนาคตที่ดีให้กับเด็กเพื่อแก้ปัญหาระยะยาวให้ประเทศ

โดยในปีที่ผ่านมาได้เร่งนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีเด็กที่ยังหลุดจากระบบ และรอโอกาสในการเข้าเรียนอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวได้ขยายผลไปยังนักเรียนอาชีวศึกษาด้วย โดยได้จัดให้มีโครงการอาชีวะ อยู่ประจำ เรียนฟรี มีอาชีพ ใน 87 วิทยาลัยทั่วประเทศด้วย

ทั้งนี้ นาง Stefania Giannini ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ยูเนสโก ได้ชื่นชมความพยายามของไทย และกล่าวว่าสิ่งที่รัฐบาลไทยดำเนินการสอดคล้องกับจุดเน้นสำคัญของยูเนสโก ที่เร่งให้นำเด็กทั่วโลกได้กลับเข้าเรียน

Advertisment

นอกจากนี้ ยูเนสโกยังสนับสนุนการพัฒนาทักษะของเด็กนักเรียนเพื่อการดำรงชีวิตและเพื่อการมีงานทำด้วย นอกจากนี้ ยูเนสโกได้กำหนดจัดการประชุมที่สำคัญ ๆ ตลอดปี 2565 อาทิ การประชุมก่อนการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา (Pre Summit Meeting on Education Transformation), การประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยการศึกษาผู้ใหญ่ ครั้งที่ 7 (CONFINTEA VII) ที่โมร็อกโก, การประชุมระดับโลกด้านการอุดมศึกษา (UNESCO World Higher Education) ในเดือนพฤษภาคม ที่สเปน เป็นต้น โดยหวังว่าไทยจะเข้าร่วมในการประชุมต่าง ๆ ที่จัดขึ้น เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนนโยบายด้านต่าง ๆ ระหว่างกัน

ขณะที่ประเทศไทยก็จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาแห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Asia-Pacific Regional Education Ministers Conference on SDG4-Education 2030) ในระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2565

Advertisment

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่ายังได้กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาคุณภาพการอาชีวศึกษาของไทย เพื่อให้นักเรียนมีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการในศตวรรษที่ 21 มีอนาคตที่ดี และมีงานทำในอนาคต ซึ่งนาง Giannini บอกว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความมุ่งมั่นของยูเนสโกที่จะผลักดันการดำเนินการเช่นกัน ปัจจุบันยูเนสโกกำลังจัดทำยุทธศาสตร์ด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาและฝึกอบรม (Draft Strategy for Technical and Vocational ที่มุ่งมั่นให้ประเทศสมาชิกได้รับประโยชน์จากยุทธศาสตร์ดังกล่าวเช่นกัน