โรงเรียน กทม. รับมือเปิดเทอม ห่วงเด็กติดเชื้อ-เสี่ยงสูงไม่ควรนั่งเรียนรวม

เปิดเทอมออนไซต์เต็มรูปแบบ 17 พฤษภาคม โรงเรียน กทม.เตรียมมาตรการรับมือ ทั้งประเมินความเสี่ยงก่อนเข้าเรียน-ATK ทุกสัปดาห์ ห่วงเด็กติดเชื้อ-เสี่ยงสูง ไม่ควรนั่งเรียนรวม ด้าน สพฐ.ย้ำสถานศึกษาห้ามเพิ่มภาระผู้ปกครอง ขณะที่อาชีวะกังวลภาวะความรู้ถดถอย เตรียมจัดเรียนเสริมเสาร์-อาทิตย์

วันที่ 16 พฤษภาคม 2565 ดร.ภูมิสิษฐ์ สุคนธวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโพธิสารพิทยากร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 17 พฤษภาคมนี้โรงเรียนทั่วประเทศเปิดเรียนเต็มรูปแบบ 100% ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ปกครอง นักเรียนทุกคนมีคาดหวังว่าการศึกษาของไทยจะกลับมาเป็นปกติ

อย่างโรงเรียนโพธิสารฯ มีความพร้อมเปิดเทอมมากจากประสบการณ์ภาคเรียนที่ผ่านมา เราได้เปิดออนไซต์ไปแล้วแต่ไม่ใช่ 100% เนื่องจากมีการแบ่งครึ่งนักเรียนแต่ละห้องให้ส่วนหนึ่งเรียนออนไซต์ ส่วนหนึ่งเรียนออนไลน์ พบว่าได้ผลดี ไม่เกิดคลัสเตอร์ในโรงเรียน แต่ก็มีบ้างที่ติดเชื้อ แต่เป็นจำนวนน้อย ดังนั้นในภาคเรียนนี้ก็ต้องเข้มงวดมาตรการมากขึ้น

ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์

โดยช่วงระยะแรก หรือเดือนแรกของการเปิดเทอม จะให้นักเรียน ครู บุคลากรทุกคน ตรวจ ATK ก่อนมาเรียนทุกสัปดาห์ โดยให้ตรวจมาจากบ้าน แล้วถ่ายรูปเพื่อแสดงผลตรวจที่โรงเรียน แต่ถ้าหากนักเรียนไม่ได้ตรวจมา ทางโรงเรียนก็มีแจกให้ตรวจฟรี ส่วนบุคลากรด้านอื่น ๆ เช่น แม่ค้า พนักงานขับรถรับส่ง ฯลฯ ทุกคนจะเข้ามาในโรงเรียนได้ก็ต่อเมื่อได้รับวัคซีนครบถ้วน มากกว่า 2 เข็มขึ้นไป เพราะเงื่อนไขแต่ละวัคซีนไม่เหมือนกัน

เด็กติดเชื้อ-เสี่ยงสูง ควรกักตัวที่บ้าน

ดร.ภูมิสิษฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้โรงเรียนกำลังจัดหาสถานที่ให้เด็กทุกคนฉีดวัคซีนเข็ม 3 โดยที่นักเรียนไม่ต้องไปหาเอง เพราะถ้ารอจะช้า เราต้องรีบจัดการให้ แต่สิ่งที่ผมกังวลคือ กรณีหากพบเด็กติดเชื้อ หรือเสี่ยงสูง เป็นเรื่องยากที่จะให้เด็กมานั่งเรียนกับเด็กทั่วไป ตามที่กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการมีแนวปฏิบัติออกมา เพราะธรรมชาติของเด็กคือต้องเล่นกัน พูดคุยกัน ทานอาหารร่วมกัน ฉะนั้นการให้เด็กกักตัวที่บ้านน่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่า แล้วค่อยชดเชยให้เด็กเรียนผ่านออนไลน์ หรืออะไรก็ได้ ส่วนนักเรียนที่เหลือในห้องก็เรียนตามปกติ ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของแต่ละสถานศึกษา

หอวัง-บดินทรเดชาฯ ประเมินความเสี่ยงก่อนเรียน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า โรงเรียนหอวัง ได้ประกาศให้นักเรียนทุกระดับชั้น ทำแบบประเมิน HW School Pass ของโรงเรียนก่อนจะมาเรียนในวันที่ 17 พฤษภาคม ซึ่งเป็นการกรอกข้อมูลส่วนตัวของนักเรียนแต่ละระดับชั้น เพื่อเป็นการประเมินความเสี่ยง พร้อมกับเคร่งให้นักเรียนปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevetion และยึดข้อปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก

เช่นเดียวกับโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่ให้นักเรียน ครู บุคลากรประเมินความเสี่ยงตนเองก่อนเข้ามาสถานศึกษา และแนวปฏิบัติให้ตรวจ ATK เฉพาะผู้มีความเสี่ยง และให้ทุกคนเขียนบันทึกไทม์ไลน์ประจำวัน หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลุ่ม ถ้าหากมีผู้ติดเชื้อ ต้องแจ้งข้อมูลให้สถานศึกษาทราบทันที โดยแจ้งไปยังครูที่ปรึกษา และครูที่ปรึกษาแจ้งอนามัยโรงเรียน และรายงานฝ่ายบริหารสถานศึกษา

กรณีสัมผัสเสี่ยงต่ำให้เรียนในสถานศึกษาได้ตามปกติ แต่ถ้าเสี่ยงสูง และไม่ได้รับวัคซีน ให้กักตัวองเป็นเวลา 5 วัน และติดตามเฝ้าระวังอีก 5 วัน แต่ถ้าเป็นผู้ติดเชื้อ มีอาการ ให้แยกกักตัวที่บ้านรักษาตามระบบ และจัดรูปแบบการเรียนการสอนสำหรับผู้ไม่มีอาการไปปกติ

เอกชนยึดมาตรการสาธารณสุข

นางศุภลักษณ์ ไชยสถาน ผู้อำนวยการ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นปฐมวัย จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีทั้งนักเรียนประจำ และนักเรียนไป-กลับ

ซึ่งค่อนข้างมั่นใจว่าเปิดเทอมครั้งนี้ไม่น่ากังวล เพราะเรามีการเตรียมรับมือหลายด้านตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด รวมถึงให้นักเรียน บุคลากร ตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ก่อนเข้ามาในโรงเรียน โดยถ่ายผลตรวจเข้ามายืนยัน นอกจากนี้กรณีพบเด็กติดเชื้อหากเป็นนักเรียนไปกลับก็ให้รักษาตัวที่บ้าน หรือโรงพยาบาล แต่ถ้าเป็นนักเรียนประจำเราก็เตรียมห้องพยาบาล ห้องกักตัวไว้แล้ว

สพฐ.ย้ำห้ามเพิ่มภาระผู้ปกครอง

นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า กระทรวงศึกษาฯ เน้นย้ำว่า การเปิดเรียนครั้งนี้ สถานศึกษาต้องมีความปลอดภัยในทุกมิติ และให้ปีการศึกษา 2565 เป็นปีแห่งการซ่อมสร้าง และลดภาระผู้ปกครองในทุกมิติ

ดังนั้นสถานศึกษาจะต้องไม่เพิ่มภาระกับผู้ปกครอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งกาย อุปกรณ์การเรียนการสอน และต้องช่วยลดภาระกับผู้ปกครอง หากพบสถานศึกษาใดเพิ่มภาระให้ผู้ปกครอง ให้ประชาชนแจ้งเรื่องมาที่ สพฐ.โดยตรง สพฐ.จะเร่งตรวจสอบให้ครบทุกมิติ และการฉีดวัคซีน ขอให้ผู้ปกครองเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างความปลอดภัยให้นักเรียนอีกทางด้วย

“ส่วนการแก้ปัญหาภาวะการเรียนรู้ถดถอย ผมเน้นย้ำสถานศึกษาในสังกัดไปว่าเมื่อเปิดภาคเรียน ต้องตรวจสุขภาพอนามัย และดูแลสภาพจิตใจนักเรียนก่อน จากนั้นจะนำเครื่องมือไปประเมินเด็กว่าขาดความรู้ด้านใดบ้าง เช่นในระดับชั้น ป.1-ป.3 จะเน้นเสริมสร้างให้เด็กอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น เพราะถือเป็นเรื่องพื้นฐานให้เด็กสามารถต่อยอดเรียนรู้เรื่องต่างๆได้ แต่ถ้าประเมินแล้วพบว่าเด็กมีความสามารถด้านอื่น จะต่อยอดและเติมความรู้ด้านที่เด็กถนัดด้วย ดังนั้นในปีการศึกษา 2565 จะเป็นปีที่ทำแผนการเรียนส่งเสริมนักเรียนเป็นรายบุคคล”

อาชีวะเรียนเพิ่มเสาร์-อาทิตย์

นายสุเทพ แก่งสันเทียะ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า นอกจากเรื่องความพร้อมทางกายภาพเปิดเรียนครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) วางแผนแก้ไขปัญหาลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อเติมทักษะที่ขาดหายให้กับนักศึกษาที่เรียนในปัจจุบัน และนักศึกษาใหม่โดยให้ครูผู้สอนแบ่งกลุ่มให้นักศึกษาเข้ามาเรียนเพิ่มเติมในวันเสาร์และอาทิตย์

ส่วนนักศึกษาที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา และจะไปเรียนต่อในระดับชั้นอื่น ที่อาจจะมีความรู้ขาดหายบางส่วนให้ใช้เวลาว่าง จัดสอนเสริมเพิ่มทักษะที่จำเป็นตามความเหมาะสมได้