วิศวะ มหิดล เปิดศึกแข่งหุ่นยนต์ 45 ชาติ คาดอุตสาหกรรมโต 1.7 ล้านล้าน

หุ่นยนต์

วิศวะ มหิดล ผนึกพันธมิตร เปิดศึกแข่งขันลีกหุ่นยนต์ 45 ชาติ ในเวิลด์ โรโบคัพ 2022 เพิ่มแรงหนุนโรบอตรับเศรษฐกิจยุคดิสรัปต์ รัฐคาดทิศทางอุตสาหกรรมอีก 5 ปีโตในตลาดมากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท เร่งส่งเสริมหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และเทคโนโลยี สร้างโอกาสงานผลักดันเศรษฐกิจประเทศ

วันที่ 14 กรกฎาคม 2565 รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก ครั้งที่ 25 กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือดีอีเอส พร้อมด้วยสหพันธ์โรโบคัพ และบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดฉากการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกในรายการ World RoboCup 2022

โดยมี 45 ชาติ นำหุ่นยนต์ในหลากหลายโซลูชั่นข้าร่วมการแข่งขัน และอวดโฉมความอัจฉริยะ

มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้น แลกเปลี่ยน และต่อยอดงานวิจัยในด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพื่อสร้างบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในด้าน AI และหุ่นยนต์ กระตุ้นการพัฒนาบุคลากรภายในประเทศ ผู้ประกอบการ นักประดิษฐ์ นักวิจัย นิสิตนักศึกษาให้เป็นวิศวกรพันธุ์ใหม่ ที่สนใจแก้ไขปัญหา ทำงานร่วมกันเป็นทีม รู้จักแลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีในระดับสากล

ปี’69 เงินลงทุนสตาร์ตอัพเพิ่ม 3.2 แสนล้าน

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่กระทรวงมุ่งขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เกิดขึ้นตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งมีเป้าหมายสร้างพื้นที่และเมืองที่ทันสมัย ตอบโจทย์กับความก้าวล้ำของโลกยุคใหม่ที่เน้นการพึ่งพาดิจิทัลและเทคโนโลยี และนำโซลูชั่นที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI คลาวด์ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือแม้แต่กระทั่งหุ่นยนต์เข้ามาช่วยพัฒนาเรื่องการเดินทาง การขนส่ง ความปลอดภัย การจ้างงาน ตลอดจนคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

โดยเฉพาะในเรื่องของการส่งเสริมหุ่นยนต์ ที่นับเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยทั้งในแง่ของการเกิดขึ้นของสตาร์ตอัพที่จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่มหาศาลให้กับประเทศ การนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรม ต่อเนื่องไปถึงการสร้างแรงจูงใจเพื่อรับการลงทุนจากทั่วโลก โดยขณะนี้ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพในด้านหุ่นยนต์ที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต และจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้เติบโตมากกว่าในด้านการแข่งขันหรือเพียงต้นแบบที่พัฒนากันในปัจจุบัน

“รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ตอัพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ด้วยการยกเว้นการเก็บภาษี Capital Gains Tax เป็นเวลา 10 ปี แก่นักลงทุนไทยและต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพไทย ภายใต้ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

อาทิ อุตสาหกรรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวระดับคุณภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ซึ่งมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสตาร์ตอัพ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้สตาร์ตอัพไทย รวมถึงในด้านหุ่นยนต์ เพิ่มขีดความสามารถการระดมทุนจากนักลงทุนได้เพิ่มขึ้น

โดยสภาดิจิทัลฯ คาดการณ์ว่ามาตรการ Capital Gains Tax จะทำให้ไทยมีเงินลงทุนในสตาร์ตอัพภายในปี 2569 เพิ่มขึ้น 320,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานทั้งทางตรง และทางอ้อมเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 แสนตำแหน่ง รวมถึงสร้างความแข็งแกร่งให้ระบบเศรษฐกิจประเทศคิดเป็นมูลค่า 790,000 ล้านบาท”

ดันหลักสูตรวิศวะหุ่นยนต์ รับตลาดโต 1.7 ล้านล้าน

ด้าน ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า ในปัจจุบันนี้ ทิศทางของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์มีมูลค่ารวมกว่า 350,400 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะเติบโตในตลาดโลกในอีก 5 ปีข้างหน้าในมูลค่ามากกว่า 1.7 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ควรส่งเสริมภาคสถาบันการศึกษาโดยเฉพาะในหลักสูตรทางด้านสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และเทคโนโลยี รวมถึงกลุ่มธุรกิจสตาร์ตอัพประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสทางด้านอาชีพให้กับบรรดานักวิศวกรคุณภาพ ที่จะร่วมผลักดันประเทศชาติต่อไปได้ในอนาคต

ศาสตราจารย์ ดร.ปีเตอร์ สโตน ประธานสหพันธ์โรโบคัพ เปิดเผยว่า การแข่งขันในครั้งนี้ มีผู้ร่วมกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 3,000 คน จาก 45 ประเทศทั่วโลก อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ จีน และไทย เป็นต้น

โดยผู้เข้ารอบชิงชนะเลิศจะได้รับโล่รางวัลพร้อมประกาศนียบัตรเพื่อเป็นเกียรติคุณ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เข้าแข่งขันสู่การเข้าถึงโอกาสทางวิชาชีพในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ได้ในระดับสากล สำหรับงานนี้แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือหมวด Major League 4 ประเภท

ได้แก่ การแข่งขันฟุตบอลหุ่นยนต์ การแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย การประกวดหุ่นยนต์ในบ้านเพื่อการบริการส่วนบุคคล และการจัดประกวดหุ่นยนต์และแขนกลเพื่องานอุตสาหกรรม และหมวด Junior League (RCJ) สาหรับเยาวชนอายุ 14-19 ปี รวมถึงเวทีการแสดงผลงานสินค้าสิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ 13-17 กรกฎาคมนี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา Hall EH98 100