เข้าใจตรงกันนะ ครึ่งแรก “ค้าปลีก” นิ่งทุกสินค้า-

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ก้อย ประชาชาติ

ตัวเลขล่าสุดของธุรกิจ “ค้าปลีก” ในครึ่งปีแรกไม่หวือหวาเพราะยอดขายในทุกหมวดสินค้านิ่งและคงที่ ภาพดังกล่าว สวนทางกับ GDP ของประเทศที่การเติบโตไตรมาสแรกของปี 2018 สามารถขยายตัว 4.9% ซึ่งเป็นผลมาจากตัวเลขการเติบโตของภาคการส่งออกและการใช้จ่ายของภาครัฐ

และเมื่อเข้าไปดูในหมวดการบริโภคเติบโตเพียง 3.2%

ยอดขายครึ่งปีแรกของค้าปลีก “ทรงตัว” ในเกือบทุกหมวดสินค้า ขณะเดียวกันก็ยังเป็นลักษณะกระจุกตัวที่เฉพาะในกรุงเทพฯและหัวเมืองหลัก ๆ ของการท่องเที่ยว ส่วนสาขาที่อยู่ในต่างจังหวัดการเติบโตของกำลังซื้อค่อนข้างอ่อนตัว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบจำนวนสาขาของค้าปลีกในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีสัดส่วนเพียง 30% ขณะที่สาขาส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัดถึง 70% ส่งผลทำให้ดัชนีการเติบโตโดยรวม “ทรงตัว”

สะท้อนให้เห็นว่ากำลังซื้อในต่างจังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพฯและหัวเมืองหลัก ๆ ของการท่องเที่ยว) ยังไม่มากเท่าที่ควร โดยเฉพาะจังหวัดที่รายได้หลักมาจากภาคเกษตรกรรม ประกอบกับปีนี้ฤดูฝนมาก่อนกำหนดฤดูกาล ส่งผลให้ผลผลิตและราคาสินค้าภาคเกษตรครึ่งปีแรกจึงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

และเมื่อแยกเป็นรายประเภทสินค้า พบว่าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและวัสดุก่อสร้างในครึ่งปีแรกมีการเติบโตค่อนข้างน้อยเพียง 2.2% ขณะที่กลุ่มสินค้าแฟชั่น, เครื่องสำอาง และสินค้ากีฬามีการเติบโต 7.5% เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่า 10% รวมถึงอานิสงส์จากมหกรรมฟุตบอลโลกในช่วงมิถุนายนเข้ามากระตุ้น

ด้านหมวด “สินค้าอุปโภคบริโภค” แม้ว่าจะเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยนับจากปีที่แล้วต่อเนื่องถึงครึ่งปีแรกของปีนี้ แต่ก็ยังไม่ส่งผลต่อการเติบโตภาพรวมของภาคธุรกิจค้าปลีกเท่าที่ควร

ประกอบกับการผลักดันการใช้งบประมาณภาครัฐสู่ภูมิภาคและกลุ่มต่างจังหวัดยังมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ เม็ดเงินงบประมาณที่จะไหลลงสู่ฐานรากของประเทศจึงยังไม่เข้าเป้าชัดเจน โดยยังคงกระจุกตัวในตัวเมืองใหญ่ การบริโภคในจังหวัดรอง ๆ ยังไม่ดีนัก แม้ว่าการกระตุ้นการบริโภคฐานรากผ่านนโยบายบัตรคนจน แม้ว่าจะทำให้ร้านค้าที่รับบัตรคนจนได้รับอานิสงส์อย่างชัดเจน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ส่งผลกระทบแก่ร้านค้าที่ไม่ได้สิทธิรับบัตร

ซึ่งดูเหมือนว่า เม็ดเงินก้อนนี้ไม่สามารถไปกระตุ้นตลาดให้ขยายตัวตามที่ภาครัฐคาดหวัง โดยรวมดัชนีการเติบโตในหมวดนี้ยังคงพยุงตัวได้เพียง 3.1%

อย่างไรก็ตาม ครึ่งหลังของปี 2018 อุตสาหกรรมค้าปลีกน่าจะยัง “ทรงตัว” ในไตรมาส 3 และดีดตัวขึ้นไปได้ในไตรมาส 4 ตามแนวโน้มการจับจ่ายที่เป็นช่วงไฮซีซั่น คาดว่าการเติบโตทั้งปีน่าจะประมาณ 3.3-3.5% แต่ก็ยังน้อยกว่า GDP ทั้งประเทศซึ่งคาดการณ์ว่าจะเติบโตราว 4.5%

ทั้งนี้ เมืองไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติ การผลักดันนโยบาย Duty Free City จะทำให้การช็อปปิ้งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามา รวมถึงภาครัฐจะต้องพิจารณาการเปิดเสรีร้านค้าปลอดภาษี โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดภาษีในเมืองและประมูลร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินตามประเภทกลุ่มสินค้าเพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในการซื้อสินค้า

รวมถึงการเร่งรัดโครงการ Downtown VAT Refund for Tourist โดยเร็ว เพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในการได้รับคืนภาษีทันทีเมื่อซื้อสินค้า

แม้การเติบโตจะน้อยกว่า GDP ประเทศ แต่ดูเหมือนว่าการเคลื่อนไหวและลงทุนของกลุ่ม “ค้าปลีก” ไม่ยอมจำนนต่อกำลังซื้อที่ทรงตัวและไม่หวือหวาตลอดทั้งปี

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”