เกม “ซินเนอร์ยี่ดัน” KFC แกร่ง ผนึก 3 แนวรุก-เร่งเปิดสาขาก้าวกระโดด-

“ไทยเบฟฯ”Ž ทุ่ม 1.13 หมื่นล้าน คว้าดีล KFC ลอตสุดท้าย กวาดกว่า 240 สาขาเข้าพอร์ต เสริมแกร่งธุรกิจน็อนแอลกอฮอล์ ตั้งบริษัทลูกเร่งด่วนปิดดีลยักษ์ รุกขึ้นผู้นำอาหาร-เครื่องดื่มเอเชีย ด้าน ”ยัมฯŽ” ปรับโมเดลใหม่ รุกขายสิทธิแฟรนไชส์ 100% หวังลดค่าใช้จ่าย การันตีรายได้อู้ฟู่

กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ที่เรียกเสียงฮือฮาอย่างมากตลอดช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อกลุ่มธุรกิจ ไทยเบฟฯŽ ของเจ้าสัวเจริญ ได้เข้าไปซื้อกิจการร้านไก่ทอดเคเอฟซีในรูปแบบแฟรนไชส์รายที่ 3 ที่เข้ามาบริหารร้านเคเอฟซีมากกว่า 240 สาขา ซึ่งคาดว่าจะโอนกรรมสิทธิ์การบริหารร้านให้กับคิวเอสเอแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560

ซึ่งตอนต้นปี ”ยัม เรสเทอรองตส์ฯ”Ž ได้ประกาศหาผู้ที่สนใจเข้ามาซื้อกิจการสาขาของร้านเคเอฟซีในเมืองไทยที่บริหารโดยยัมฯ 244 สาขา โดยได้แต่งตั้งให้บริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ เป็นที่ปรึกษาการซื้อขาย โดยร้านเคเอฟซีในไทยมีทั้งหมด 593 สาขา แบ่งเป็นบริหารโดยยัม เรสเทอรองตส์ฯ 244 สาขา, บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) ซื้อแฟรนไชส์เปิดสาขาในเซ็นทรัลและโรบินสันเป็นหลัก 219 สาขา และบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด (อาร์ดี) ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตผู้บริหารเคเอฟซีเดิม อีก 130 สาขา

ตั้งด่วน “QSAŽ” ปิดดีล

รายงานจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ระบุถึงการเข้าซื้อกิจการของแบรนด์เคเอฟซี รวมทั้งสิ้น 240 สาขาในไทย (รวมถึงที่ดิน และสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจของร้าน) จากบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด คิดเป็นมูลค่ากว่า 11,300 ล้านบาท เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อผลักดันให้ไทยเบฟฯขยายธุรกิจอาหารได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น และตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันได้อย่างตรงจุด ด้วยเซ็กเมนต์ของร้านอาหารจานด่วน หรือ QSR

โดยไทยเบฟฯ ได้ให้บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (QSA) ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา มีทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท ถือหุ้นโดยบริษัท ฟู้ด ออฟ เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของไทยเบฟฯ ในสัดส่วน 99% เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายครั้งนี้

”เคเอฟซีŽ” หนุนไทยเบฟฯ

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล รองประธานอาวุโส กลุ่มธุรกิจอาหาร (ประเทศไทย) บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ระบุถึงการซื้อกิจการในครั้งนี้ว่า นอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับไทยเบฟฯ ในการขยายตัวและสร้างความแข็งแกร่งในธุรกิจอาหารแล้ว เน็ตเวิร์กร้านอาหารของเคเอฟซีที่มีอยู่ทั่วประเทศ ยังจะช่วยส่งเสริมให้ธุรกิจในเครือของไทยเบฟฯ เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น สามารถเข้าใจเทรนด์ความต้องการด้านการบริโภคที่เกิดขึ้น และผลักดันให้บริษัทขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยศักยภาพของเคเอฟซีถือเป็นผู้นำในตลาดร้านอาหาร QSR ในประเทศไทย ทั้งด้านจำนวนสาขาและมาร์เก็ตแชร์

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า บริษัทมีเป้าหมายในปี 2563 หรือ Vision 2020 ในการขึ้นเป็นผู้นำตลาดเครื่องดื่มครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญคือการขยายฐานรายได้จากธุรกิจน็อนแอลกอฮอล์มากขึ้น มุ่งสร้างความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ตราสินค้าที่

โดนใจ โดยเฉพาะการขยายธุรกิจอาหาร ซึ่งนอกจากแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือบริษัท โออิชิ จำกัด (มหาชน) แล้ว ยังได้จัดตั้งบริษัท ฟู้ด ออฟ เอเชีย จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจร้านอาหารอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารญี่ปุ่น (Non-Japanese) รับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่นิยมทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น

ปัจจุบัน ฟู้ด ออฟ เอเชีย มีแบรนด์ อาทิ โซ อาเซียน, ร้านอาหารจีน ม่านฟู่หยวน, ร้านเอ็มเอ็กซ์ เค้ก แอนด์ เบเกอรี่ ฯลฯ และ KFC เป็นแบรนด์ล่าสุดที่เข้ามาอยู่ในพอร์ต

เดินเกมซินเนอร์ยี่

นางแววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป เคเอฟซีประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”Ž ว่า จากนโยบายของบริษัทแม่ที่ต้องการสร้างการเติบโตของธุรกิจแบบก้าวกระโดด ด้วยการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์มากขึ้น ล่าสุด ยัมฯประเทศไทย ให้สิทธิ์แฟรนไชส์กับบริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด หรือ “คิวเอสเอŽ” ของบริษัท ฟู้ด ออฟ เอเชีย จำกัด ในเครือไทยเบฟเวอเรจ ที่มีความแข็งแกร่งด้านการเงินและเห็นศักยภาพของแบรนด์เคเอฟซี เข้ามาเป็นแฟรนไชซีรายที่ 3 บริหารร้านเคเอฟซีมากกว่า 240 ร้านในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะโอนกรรมสิทธิ์การบริหารร้านให้กับคิวเอสเอแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2560

ข้อตกลงดังกล่าวทำให้บทบาทของยัมฯ ประเทศไทย ต่อจากนี้จะกลายเป็นผู้บริหารแบรนด์และแฟรนไชส์เคเอฟซีเต็มตัว โฟกัสด้านการตลาด การพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการเพื่อสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์ ดูแลการปฏิบัติงานของร้านและด้านอื่น ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน

ขณะที่แฟรนไชซีจะมุ่งเรื่องการบริหารร้านและการขยายสาขา ซึ่งความร่วมมือระหว่างยัมฯ ประเทศไทย และแฟรนไชซีทั้ง 3 ราย จะทำให้แบรนด์เคเอฟซีในไทยแข็งแกร่งยิ่งขึ้น เดินหน้าสู่เป้าหมายขยายสาขาทั่วไทยมากกว่า 800 สาขาภายในไม่กี่ปีข้างหน้า จากปัจจุบันมี 601 สาขา (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2560) ครองอันดับ 1 แบรนด์ร้านอาหารบริการด่วนในไทยต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับรูปแบบบริหารร้านของยัม เรสเทอรองตส์ในไทย ทั้งเคเอฟซี และพิซซ่าฮัท มาเป็นรูปแบบแฟรนไชส์ 100% เริ่มเห็นภาพความเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี 2558 ช่วงเวลาเดียวกับที่บริษัทแม่ประกาศนโยบายรีแฟรนไชส์ เพิ่มสัดส่วนร้านแฟรนไชส์ทั่วโลกให้มากขึ้นด้วยการขายร้านที่บริษัทลงทุนเองให้กับผู้ลงทุนที่มีศักยภาพ ซึ่งเมื่อช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา ยัมฯเพิ่งขายร้านพิซซ่าฮัททั้งหมดในไทย 92 สาขา ให้กับบริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด ของตระกูลมหากิจศิริ ผู้ได้รับสิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ร้านพิซซ่าฮัทในประเทศไทย

”ยัมฯŽ” ปรับโครงสร้างใหม่ทั่วโลก

สอดคล้องกับนายเกรก ครีต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ยัมฯ แบรนด์ ผู้บริหารเชนร้านอาหารบริการด่วน เคเอฟซี พิซซ่าฮัท และทาโก้ เบลล์ กล่าวว่า ปีนี้ยังคงเดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจ เพิ่มสัดส่วนร้านแฟรนไชส์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2560 ได้รีแฟรนไชส์ร้านไปแล้วรวม 244 สาขา แบ่งเป็นเคเอฟซี 40 สาขา พิซซ่าฮัท 163 สาขา และทาโก้ เบลล์ 41 สาขา ได้เม็ดเงินกลับมาราว 136 ล้านเหรียญสหรัฐ

ทำให้สัดส่วนร้านแฟรนไชส์ขยับขึ้นเป็น 94% ของร้านทั้งหมด 21,000 สาขาใน 129 ประเทศ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 98% ตามเป้าที่วางไว้ได้ภายในปี 2561 ขณะที่ร้านอีก 2% ที่บริษัทบริหารเองจะเป็นช่องทางสำหรับศึกษา-พัฒนากลยุทธ์เป็นหลัก โดยทิศทางของยัมฯจากนี้จะเน้นการวางราคาที่เข้าถึงง่าย ลอนช์เมนูที่มีนวัตกรรมต่อเนื่อง พร้อมกับเสริมความแข็งแรงในด้านดิจิทัลและดีลิเวอรี่


ทั้งนี้ รายได้จากแฟรนไชส์จะเพิ่มความมั่นคงให้กับรายได้รวมของยัมฯ แบรนด์ เพราะสามารถคำนวณล่วงหน้าได้ชัดเจนและสม่ำเสมอกว่ายอดขายของร้าน ขณะเดียวกันยังลดภาระการลงทุนและบริการลง โดยคาดว่าในปี 2562 บริษัทจะมีการลงทุนเพียง 100 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น