ASEAN 100 คนเปลี่ยน-โลกป่วน เกมธุรกิจยุค “เอไอ-บิ๊กดาต้า”-

พบกันอีกครั้งกับ ASEAN 100 หนังสือฉบับพิเศษประจำปี 2018 ของหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 15-18 พ.ย.นี้ เป็นการจัดอันดับ 100 บริษัทที่มีรายได้สูงสุดในอาเซียน โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยักษ์พลังงานของไทยทวงแชมป์กลับมาเป็นบริษัทที่มีรายได้สูงสุดอันดับ 1 อีกครั้ง ด้วยรายได้ 1.99 ล้านล้านบาท

ขณะที่บริษัทที่ปิดท้ายตาราง คือ “เวนเจอร์ คอร์ปอเรชั่น” บริษัท เทคโนโลยี จากสิงคโปร์ ด้วยตัวเลขรายได้อยู่ที่ 9.8 หมื่นล้านบาท

25 บริษัทไทยติด ASEAN 100

สำหรับบริษัทในประเทศไทยที่ติดอันดับ ASEAN 100 มีจำนวน 25 บริษัท และปีนี้พิเศษด้วยการจัดอันดับ Thailand 100 เป็นการจัดอันดับ 100 บริษัทของไทยที่มีรายได้สูงสุดของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใครเป็นใครติดตามกันได้

พร้อมกับบทสัมภาษณ์ผู้บริหาร 10 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศกับโมเดลการปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ภายใต้หัวเรื่อง “คนเปลี่ยน-โลกป่วน : เกมธุรกิจยุคเอไอ-บิ๊กดาต้า” เพราะการเข้าถึง เข้าใจความต้องการแท้จริงของผู้บริโภค คือ ผู้ที่มีโอกาสชนะในเกมธุรกิจยุคปัจจุบัน

ยักษ์ธุรกิจชู “บิ๊กดาต้า” สู้ศึก

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการพูดถึงกระแสความร้อนแรงของ “สตาร์ตอัพ” ที่นำนวัตกรรมมาสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่มาดิสรัปต์ธุรกิจดั้งเดิมในหลากหลายวงการ แต่ผลศึกษาล่าสุดของ IBM Institute for Business Value ระบุว่า ปัจจุบันกระแสความหวั่นเกรงต่อสตาร์ตอัพบรรเทาลง และยังไม่สามารถล้มบัลลังก์ของธุรกิจดั้งเดิมได้ เพราะกลุ่มธุรกิจใหญ่ดั้งเดิมมีความได้เปรียบจากการครอบครอง “ข้อมูลลูกค้า” จำนวนมหาศาล และมีการนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้าง “บิ๊กดาต้า” ในการเข้าถึงและเข้าใจผู้บริโภคอย่างแท้จริงมากขึ้น รวมถึงการตื่นตัวและปรับตัวนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้อย่างจริงจัง

หรือการหันมาร่วมมือกับธุรกิจ “สตาร์ตอัพ” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ผลวิจัยของไอบีเอ็ม ยกตัวอย่างกรณีค่ายรถหรู “BMW” ใช้ประโยชน์จากการเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องยานยนต์ต่อกรกับ “อูเบอร์” ด้วยการให้บริการรถยนต์ที่ปรับแต่งเพื่อรองรับตามรูปแบบที่ผู้บริโภคต้องการ เช่น บริการรถยนต์ร่วมโดยสาร บริการเช่ารถระยะสั้น หรือบริการเช่ารถรายชั่วโมง เป็นต้น

ถอดรหัส 10 ยักษ์ธุรกิจยุคเอไอ

สำหรับ ASEAN 100 ประจำปี 2018 “คนเปลี่ยน-โลกป่วน : เกมธุรกิจยุคเอไอ-บิ๊กดาต้า” ได้มีการถอดรหัสโมเดลการปรับตัวของ 10 บริษัทยักษ์ของไทย เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค หรือเทรนด์ของโลกที่เปลี่ยนไป ไล่ตั้งแต่ 1.บมจ.บีทีเอส โฮลดิ้ง กรุ๊ป ภายใต้การบริหารของ “กวิน กาญจนพาสน์” ที่ดึงจุดแข็งจากการเป็นเจ้าของโครงข่ายรถไฟฟ้า BTS ทั่วกรุงเทพฯ ผู้ใช้บริการวันละหลายแสนคน เป็นเสมือนแบ็กโบนในการเชื่อมต่อถึงผู้บริโภค แปลงร่างกลายเป็นผู้สร้าง “บิ๊กดาต้า” ของผู้บริโภคชาวกรุงอย่างน่าสนใจ

2.บมจ.เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป ที่ทุกคนรู้จักในฐานะร้านสุกี้ “เอ็มเค” และได้ขยายธุรกิจเชนร้านอาหารอีกหลากหลายแบรนด์ แต่จุดเปลี่ยนที่น่าสนใจของ “เอ็มเค” คือ การขยายแนวรบก้าวข้ามธุรกิจอาหารสู่ธุรกิจ
โลจิสติกส์ โดยการร่วมทุนกับ “เซนโค กรุ๊ป” ยักษ์โลจิสติกส์จากญี่ปุ่น

3.บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ที่คนไทยไม่มีใครไม่รู้จัก นอกจากปูพรมขยายแนวรบครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 10,000 สาขา ที่เป็นจุดแข็งต่อยอดสู่การนำเสนอบริการใหม่ ๆ แทรกซึมเข้าไปในทุกไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคแบบไม่หยุดยั้ง

หนึ่งในความเคลื่อนไหวของเซเว่นฯในยุคที่ธนาคารปรับลดสาขาเพื่อลดต้นทุน ก็คือการเข้ามาทำหน้าที่เป็น “แบงกิ้งเอเย่นต์” ที่เปิดให้บริการได้ 24 ชั่วโมง รวมถึงที่ล่าสุดได้รับสิทธิ์เป็นตัวแทนคืน “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ และการกระโดดเข้าสู่สมรภูมิโลจิสติกส์เต็มตัว ท้ารบกับเจ้าตลาดอย่างไปรษณีย์ไทย และเคอรี่ เอ็กซ์เพรส

4.”ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด เล่าถึงการโต้คลื่นกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ในการก้าวสู่โลกยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไร้คนขับ ที่อาจทำลายระบบซัพพลายเชนของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบเดิม ๆ และเปิดโอกาสให้กับผู้เล่นหน้าใหม่ โดยเฉพาะบริษัท ไอทีอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะเข้ามาเป็น “ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์” รายสำคัญในอนาคต

เกมใหม่ GC เมื่อ “พลาสติก” เป็นผู้ร้าย

5.”สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ GC ผู้ประกอบการปิโตรเคมีครบวงจรรายใหญ่ของโลก ต้นกำเนิดผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่าง ๆ เล่าถึงความท้าทายจากที่ทั้งโลกกำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ลดขยะพลาสติก ทำให้ “พลาสติก” กลายเป็น “ผู้ร้าย” หรือตัวการใหญ่ของผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ให้กำเนิดพลาสติก จะปรับโมเดลธุรกิจเพื่อรับกับเทรนด์โลกและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างไร

6.บมจ.การบินกรุงเทพ ผู้บริหารสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” เพราะการแข่งขันอย่างรุนแรงของธุรกิจสายการบิน โดยเฉพาะเกมหั่นราคาของสายการบินราคาประหยัด ประกอบกับความผันผวนของราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนใหญ่ของธุรกิจ ทำให้การสร้างการเติบโตของกำไรจากธุรกิจสายการบินไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น เส้นทางธุรกิจของบางกอกแอร์เวย์ส คือ การต่อยอดสู่ “nonaero” สร้างบริการต่าง ๆ สำหรับสายการบินทั่วโลก ในแบบที่เปลี่ยน “คู่แข่ง” เป็น “ลูกค้า”

คนเปลี่ยน-โลก (ธุรกิจ) ป่วน

7.ธนาคาร ถือเป็นอุตสาหกรรมที่เผชิญความท้าทายจากกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่นอย่างรุนแรง โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยมีการปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ผู้บริหารออกมาประกาศปรับโมเดลธุรกิจแบบ “กลับหัวตีลังกา” “ธนา เธียรอัจฉริยะ” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส chief marketing officer ฉายภาพการปรับตัวของเอสซีบี เพื่อที่จะวิ่งไล่ให้ทันกับความต้องการของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แบบที่เรียกว่า “คนเปลี่ยน-โลกป่วน”

8.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY เป็นอีกหนึ่งธนาคารพาณิชย์ที่เร่งสปีดปรับตัวรับกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่น ทั้งการ “สร้างโลกใหม่และซ่อมโลกเก่า” “ฐากร ปิยะพันธ์” ประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้ง และนวัตกรรม BAY เปิดมุมมองโมเดลสร้างโลกใหม่ของธนาคารในการทำให้เป็นแพลตฟอร์ม open banking เพื่อให้พันธมิตรต่าง ๆ เข้ามาปลั๊กอิน พร้อมกับโมเดลการขับเคลื่อนธุรกิจด้วย “บิ๊กดาต้า”

9.บมจ.แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ หรือโกลเด้นแลนด์ “ธนพล ศิริธนชัย” ประธานอำนวยการ ยักษ์อสังหาริมทรัพย์ที่มาแรง เล่าถึงโมเดลธุรกิจที่แตกต่าง บาลานซ์พอร์ตรายได้จาก 2 ส่วน คือ โครงการที่อยู่อาศัย กับพอร์ตรายได้จาก “ค่าเช่า” ทั้งจากออฟฟิศบิลดิ้ง และโครงการมิกซ์ยูส “สามย่านมิตรทาวน์” ที่ได้จับมือ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” พันธมิตรต่างชาติเพื่อรีโมเดลธุรกิจออฟฟิศบิลดิ้ง

และ 10.”พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา” หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านคอนเทนต์และมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กับเกมการฝ่าพายุดิจิทัลดิสรัปต์ ที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ต่าง ๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา และก่อให้เกิดรูปแบบบริการและคู่แข่งใหม่ ๆ ทำให้แลนด์สเคปอุตสาหกรรมเปลี่ยนไป กลุ่มทรูเปลี่ยนเกมธุรกิจอย่างไรกับเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำ “ธุรกิจคอนเทนต์และมีเดีย”

พบกับ ASEAN 100 : เกมธุรกิจยุค “เอไอ-บิ๊กดาต้า” ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 15-18 พ.ย.นี้

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม
และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

ติดตามอ่านข่าวสารจากประชาชาติออนไลน์ ทันสมัย-ทันใจ
ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชั่น >> Prachachat << ได้แล้ววันนี้
ทั้งระบบ ios และ android

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”