พลัง “ผู้ท้าชิง”-

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

กรณีความขัดแย้งระหว่างช่อง 7 และ “เจเอสแอล” จากการย้ายรายการ “กิ๊กดู๋ สงครามเพลงเงาเสียง” ไปช่องพีพีทีวี

ทั้ง 2 ฝ่ายล้วนมีเหตุผลในมุมของตัวเอง

ต้องยอมรับว่ารายการ “กิ๊ก-ดู๋” ถือเป็นรายการวาไรตี้ที่มีเรตติ้งสูงอันดับต้น ๆ ของช่อง 7 สี

แม้เวลาออกอากาศจะดึกมากก็ตาม

ใครที่เคยดูจะรู้ว่า “กิ๊ก-ดู๋ สงครามเพลงเงาเสียง” สนุกมาก “กิ๊ก” ตลกจริง ๆ

เป็นรายการที่เขาท็อปฟอร์มสุด ๆ

แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขของช่อง 7 และเจเอสแอลดำรงอยู่ไม่นาน

เมื่อภูมิทัศน์ของสื่อโทรทัศน์เปลี่ยนไปจากการประมูลทีวีดิจิทัล

และเจอ Disrupt จากเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย

โฆษณาที่เคยหาได้ง่าย ๆ ก็ไม่ง่าย

ค่าโฆษณาที่สูงก็ลดต่ำลง

โครงสร้างธุรกิจแบบดั้งเดิมของช่อง 7 คือ การให้เช่าเวลา

“เจเอสแอล” ขอลดค่าเช่าลง

ช่อง 7 ยอม แต่ไม่ได้มากเท่าที่ “เจเอสแอล” ต้องการ

มีการต่อรองกันเป็นระยะ ๆ จนวันหนึ่ง “เจเอสแอล” ทนไม่ไหว

เพราะยิ่งทำยิ่งขาดทุน

ก่อนหน้านี้ “ดู๋” สัญญา คุณากร ก็ตัดสินใจเลิกรายการ “ที่นี่หมอชิต” ทางช่อง 7 ไปด้วยเหตุผลแบบเดียวกัน

สู้ค่าเช่าไม่ไหว

กรณีของ “ดู๋” น่าสนใจมาก เพราะเขาไม่ได้แค่เลิกรายการ แต่เขายุบบริษัทเลย

เลิกเป็นผู้ผลิต

เปลี่ยนมาเป็นฟรีแลนซ์รับจ้างเป็นพิธีกรอย่างเดียว

คล่องตัวกว่า

กรณีของ “เจเอสแอล” แตกต่างกันตรงที่เขาไม่ได้เลิกรายการ

ยังผลิต “กิ๊ก-ดู๋ สงครามเพลงเงาเสียง” เหมือนเดิม

แต่ย้ายรายการไปอยู่ช่องพีพีทีวีแทน

เพราะเขาได้เงื่อนไขที่ดีและไม่เสี่ยง คือ รับจ้างผลิตรายการ

ไม่ต้องหาโฆษณาแข่งกับช่อง

รายการนี้จะเริ่มเทปแรกเดือนมกราคมปีหน้า

เรื่องก็น่าจะจบเพียงเท่านี้ ถ้าช่อง 7 ไม่ตัดรายการ “กิ๊ก-ดู๋” ออกจากผังรายการทันทีเมื่อรู้ข่าว

ในมุมของช่อง 7 ด้านหนึ่ง คงต้องการแสดงความเด็ดขาดให้ผู้ผลิตรายการอื่นเห็น

ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นในบางครั้ง

แต่ไม่ใช่ทุกครั้ง

อีกด้านหนึ่ง “พีพีทีวี” ก็คือ “คู่แข่ง” ของเขา

การปล่อยให้รายการ “กิ๊ก-ดู๋” ยังออกอากาศในเดือนธันวาคมต่อไปก็เหมือนกับการประชาสัมพันธ์ให้รายการนี้กับทาง “พีพีทีวี”

แต่ในมุมของ “เจเอสแอล” ที่ถือว่าตัวเองปฏิบัติตามกติกาทุกอย่าง

บอกล่วงหน้า 1 เดือนเพื่อให้ช่อง 7 มีเวลาเตรียมตัว

และในฐานะที่ทำงานร่วมกันมานานหลายสิบปี จะเลิกราจากกันก็ไปลามาไหว้ตามแบบไทย ๆ

แต่การโดนตัดรายการออกจากผังทันทีทั้งที่ “เจเอสแอล” ผลิตรายการล่วงหน้าและขายสปอนเซอร์ไว้แล้ว

“เจเอสแอล” ก็เสียหายหนักทีเดียว

เป็นการตัดบัวไม่เหลือใย

นอกจากเรื่องความขัดแย้งระหว่างช่อง 7 และ “เจเอสแอล” แล้ว มุมหนึ่งที่น่าสนใจมาก ก็คือ จังหวะก้าวของ “พีพีทีวี”

เขาอาศัย “ปัญหา” ระหว่างช่องยักษ์ใหญ่อย่าง “ช่อง 7” และ “ช่อง 3” กับผู้ผลิตรายการสร้าง “โอกาส”

ตามปกติทั้ง 2 ช่อง จะให้ผู้ผลิตรายการเช่าเวลาหรือใช้วิธีไทม์แชริ่งแบ่งเวลาโฆษณากัน

รูปแบบนี้เคยดีงามในช่วงที่ธุรกิจโทรทัศน์ยังเฟื่องฟู

แต่ไม่ใช่ตอนนี้

ผู้ผลิตรายการขายโฆษณาได้น้อยลง

“รายได้” ไม่พอเพียงต่อการผลิตรายการ

ทุกรายอยากขอแปรสภาพเป็นผู้รับจ้างผลิต ไม่ต้องเสี่ยงกับการหาโฆษณา

แต่ช่อง 3-ช่อง 7 ไม่ยอม

นั่นคือ “โอกาส” ของ “พีพีทีวี” ที่เจ้าของเงินหนามาก

หมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ

เขาเลือกรายการดัง ๆ จาก 2 ช่องนี้ด้วยเงื่อนไขการจ้างผลิต

เริ่มจากรายการ “เดอะวอยซ์” จากช่อง 3

และตามด้วย “กิ๊ก-ดู๋ สงครามเพลง เงาเสียง” จากช่อง 7

เป็นกลยุทธ์ใช้ “เงิน” ซื้อ “เรตติ้ง”

ไม่ต้องเริ่มต้นสร้างรายการใหม่

ดึงรายการเดิมที่มีแฟนประจำอยู่แล้วมาอยู่ในผังรายการเลย

ผมเชื่อว่านอกจาก 2 รายการนี้แล้ว ด้วยเงื่อนไข “จ้างผลิต” ที่จูงใจจะดึงดูดผู้ผลิตรายการที่กำลังจับไข้จากรายได้โฆษณาที่หดหายไปให้มาอยู่กับ “พีพีทีวี” อีกหลายรายการ

งานนี้คงต้อง “เผาเงิน” กันเยอะทีเดียว

เป็นการพิสูจน์ว่าระหว่าง “แชมป์” กับ “ผู้ท้าชิง”

พลังของการเอาชนะนั้นแตกต่างกัน

รับข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมกดติดตาม และกดปุ่ม See first (เห็นโพสต์ก่อน)
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

อ่านประชาชาติธุรกิจ ทั้งฉบับผ่าน e-Newspaper
ได้ที่แอปพลิเคชั่น Ookbee เลือก “ประชาชาติ”

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือสแกน QR Code