สงครามยังไม่จบ-

คอลัมน์ Market-think

โดย สรกล อดุลยานนท์

 

ผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยออกมาแล้ว

ในแวดวงธุรกิจทีวีดิจิทัลจับตามองผลประกอบการของค่ายต่าง ๆ เป็นพิเศษ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่อง 3 กับช่องเวิร์คพอยท์

เพราะดูจากเรตติ้งแล้ว “เวิร์คพอยท์” ไล่บี้ “ช่อง 3” แบบหายใจรดต้นคอ

สุดท้าย ผลประกอบการไตรมาส 2 ก็ชัดเจนว่า “ช่อง 3” เพลี่ยงพล้ำให้กับ “เวิร์คพอยท์” จริง

“เวิร์คพอยท์” กำไร 372 ล้านบาท

ในขณะที่ “บีอีซี” หรือช่อง 3 กำไรลดลงเหลือ 112 ล้านบาท

ส่วนหนึ่งเพราะ “ช่อง 3” ต้องแบกรับภาระ 3 ช่อง คือ ช่อง 3 เอชดี, ช่อง 3 เอสดี และช่อง 3 แฟมิลี่

แต่รายได้หลักมาจากช่องเดียว คือ ช่อง 3 เอชดี

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แหล่งรายได้หลักของ “ช่อง 3” เริ่มสะเทือน

เริ่มจากการสูญเสีย “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” จากหน้าจอ ทำให้รายได้ช่วงข่าวของช่อง 3 ลดลงอย่างมาก

นอกจากนั้น ละครหลังข่าวที่เคยเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่สุดของช่อง 3 ก็คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง

ลำพัง “ละคร” ชนกับ “ละคร” ด้วยกัน

“ช่อง 3” สู้ได้

แต่ใครจะไปนึกว่าวันหนึ่ง อาณาจักรละครจะสะเทือนจากรายการวาไรตี้-เกมโชว์ อย่าง “The Mask Singer” และ “I Can See Your Voice” ของ “เวิร์คพอยท์”ชนกันตรง ๆ ในช่วงเดียวกัน

“ละคร” แพ้

นี่คือ ปรากฏการณ์ใหม่ในวงการโทรทัศน์

อีกประเด็นหนึ่งที่ “ช่อง 3” เป็นรองในสงครามทีวีดิจิทัล ก็คือ เรื่อง “อำนาจบริหาร” ที่ไม่ชัดเจน

ช่อง 3 ก็เหมือนกับช่อง 7 ที่เป็นธุรกิจครอบครัว แต่ที่แตกต่างกันก็คือ ช่อง 7 ขึ้นตรงกับคนคนเดียว

แต่ช่อง 3 เป็นระบบการบริหารแบบกระจายผลประโยชน์

“มาลีนนท์” มีหลายสาย

และในอดีต ช่อง 3 คือ “ขุมทรัพย์”

รายการอะไรก็ขายได้ ช่อง 3 จึงมีการจัดสรร “เวลา” ของรายการต่าง ๆ ในลักษณะการกระจายผลประโยชน์

เมื่อเจอกับการแข่งขันแบบเต็มรูปแบบ

คู่แข่งเพิ่มขึ้นมากมาย

การขยับตัวของช่อง 3 จึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า ในขณะที่ “ต้นทุน” การผลิตรายการ ก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

โดยเฉพาะช่อง 3 เอสดี ที่รายได้ยังต่ำมาก

ทั้งที่ช่อง 3 สามารถลดต้นทุนได้ง่าย ๆ ด้วยการนำรายการของช่อง 3 เอชดี มารีรันซ้ำ เพียงแค่เปลี่ยนช่วงเวลา ก็มี “เรตติ้ง” แล้ว

หรือ “ละครเก่า” มารีรัน ยังไงก็มีคนดู

ในขณะที่ “ช่อง 3” ยังอยู่ในภาวะหันรีหันขวาง เพราะงง ๆ กับสงครามครั้งนี้

“คู่แข่ง” อย่าง “เวิร์คพอยท์” เหมือน “สิงห์หนุ่ม” ที่เต็มไปด้วยความห้าว

เหมือนนักมวยที่ยิ่งชก ยิ่งมั่นใจ

ยิ่งชก ยิ่งตัวใหญ่ขึ้น

“สตูดิโอ” ขนาดใหญ่ และพื้นฐานของการเป็นผู้ผลิตรายการมายาวนาน กลายเป็น “จุดแข็ง” ของ “เวิร์คพอยท์”

และยิ่งค้นพบว่า “รายการวาไรตี้” หรือ “เกมโชว์” ก็สู้ “ละคร” ได้

“เวิร์คพอยท์” จึงเปรียบเสมือนพยัคฆ์ติดปีก

และที่สำคัญที่สุดที่น่าจะเป็น “อนาคต” ของ “เวิร์คพอยท์” ก็คือ การเชื่อมต่อกับทุกช่องทางของ “โซเชียลมีเดีย”

ไม่ว่าประโยคที่ว่า “คนไม่ดูโทรทัศน์แล้ว” จะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง

“เวิร์คพอยท์” ก็กระจายความเสี่ยงไปเรียบร้อยแล้ว

ตัวเลขรายได้จาก “ออนไลน์” ของ “เวิร์คพอยท์” 76 ล้านบาท ในไตรมาส 2 เป็นตัวเลขที่น่าจับตามอง

เพราะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน 426%

ครับ ใคร ๆ ก็รู้ว่า “ต้นทุน” ของ “ออนไลน์” นั้นต่ำมาก

รายการก็รายการเดิม หรือบางรายการมาตัดต่อใหม่ให้สั้นลงเท่านั้น

ต้นทุนแทบจะเป็น 0

หมายความว่า “รายได้” ในส่วนนี้จะวิ่งมาที่บรรทัดสุดท้ายทันที คือ “กำไร” เกือบเต็มจำนวน

จบไตรมาส 2 “เวิร์คพอยท์” เหนือกว่า “ช่อง 3”

แต่การแข่งขันยังไม่จบ

และเมื่อสงครามยังไม่จบ โบราณบอกว่า “อย่าเพิ่งนับศพทหาร”

เพราะ “บุคลากร” ทั้ง “ดารา-พิธีกร” ในสังกัด “ช่อง 3” ยังมีพลังสูงมาก