สรรพสามิตใหม่ดันต้นทุนพุ่ง ค่ายรถยนต์กัดฟันตรึงราคาขายยันสิ้นปี-

ค่ายรถยนต์ยังตรึงราคาขาย รับภาษีสรรพาสามิตใหม่ คิดจากฐานราคาขายปลีก 100% เเจงต้องใช้เวลาศึกษาอีกระยะเพื่อบาลานซ์ต้นทุน-ราคาขายใหม่ เผยจับตาค่ายรถหั่นออปชั่น-ปรับแพ็กเซอร์วิส

แหล่งข่าวระดับบริหารแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ภายหลังจากกระทรวงการคลังได้ประกาศ อัตราภาษีสรรสามิตใหม่ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งได้ปรับรูปแบบการจัดเก็บภาษีรถยนต์ จากเดิมคิดอัตราภาษีหน้าโรงงาน ไปเป็นการจัดเก็บภาษี ณ ที่ขาย นั้น จะเห็นได้ว่าอัตราภาษีดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยอัตราภาษีส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ที่ลดลงจากของเดิม

เพียงแต่รูปแบบและวิธีการคำนวนที่เปลี่ยนไปจากเดิม คิดจากราคาหน้าโรงงานจากฐานภาษีเดิมมาจากราคาขายปลีก 76% ขยับเป็นฐานภาษีจากราคาขายปลีก 100% ณ จุดจำหน่ายนั้นให้ช่องว่างของราคา

ประกอบกับเดิมที่คิดอัตราภาษีหน้าโรงงานยังมีส่วนต่างระหว่างผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิจากฟรีโซน ซึ่งมีความแตกต่างจากผโดยเฉลี่ย 5-10% ก็จะทำให้เกิดความแตกต่างกันอยู่พอสมควร

นายธนวัฒน์ คุ้มสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงเรื่องดังกล่าวว่า ขณะนี้ค่ายรถยนต์หลายค่ายต่างก็พยายามทำงานอย่างหนักเพื่อปรับตัวและรับกับโครงสร้างภาษีที่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าโดยรวมอัตราภาษีจะลดลง แต่ต้องไม่ลืมว่า อัตราที่ลดลงไปนั้น คิดจากฐานภาษี ไม่ใช่หน้าโรงงานเช่นเดิมนั่นหมายความว่า ฐานราคาที่นำไปคำนวณจากภาษีจะสูงขึ้น ทำให้ค่ายรถยนต์หลาย ๆ ค่ายต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อหาบาลานซ์การปรับหรือไม่ปรับขึ้นราคาจำหน่ายให้ดี

“ที่ผ่านมาบางค่ายนำออปชั่น แพ็กบริการหลังการขายต่าง ๆ เข้ามาใส่ทีหลัง ณ ราคาขาย ขณะที่ภาษีเดิมคิดจากราคารถยนต์หน้าโรงงานซึ่งมีฐานราคาค่อนข้างต่ำ แต่จากนี้ไปอัตราภาษีจะคิดจากราคาขาย ซึ่งหากนับราคา ออปชั่น ราคาค่าขนส่ง ราคาบวกเพิ่มแพ็กเกจต่าง ๆ ทั้งประกัน บริการหลังการขายเข้ามาแล้ว ก็จะทำให้ฐานการคำนวนภาษีสูงขึ้น ตรงนี้ค่ายรถยนต์จะต้องคิดให้ดี ๆ”

นายธนวัฒน์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ หากจะคำนวณจากราคาต้นทุน รถยนต์ 1 คันที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ เป็นราคาหนึ่ง ขณะที่รถที่ส่งไปจำหน่ายยังต่างจังหวัดจะต้องคิดต้นทุนบวกเพิ่มค่าขนส่งเข้าไปด้วย ค่ายรถยนต์เองก็จำเป็นจะต้องคำนวณ ว่าจะใช้เรตราคาตรงไหนมาเป็นการคำนวณภาษี ซึ่งปกติทั่วไปจะใช้เรตที่แพงที่สุดมาคำนวณฐานภาษี ตรงนี้เองที่ผู้ประกอบการก็จะต้องทำให้เกิดราคามาตรฐานเป็นราคาเดียว

ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะยังคงรักษาราคาจำหน่ายเดิม ไปอีกระยะ เพื่อคำนวณเปรียบเทียบต้นทุนกับราคาจำหน่ายอย่างถี่ถ้วน ประกอบกับภาวะตลาดรถยนต์โดยรวม ที่ทุกค่ายต่างต้องเร่ง ตุนยอดขาย เพื่อรอรับช่วงสถานการณ์ตลาดอาจจะชะลอตัวในเดือนหน้า และจะเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วงปลายปี ดังนั้น หากจะได้เห็นการปรับราคาจำหน่ายรถยนต์โดยรวม ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะได้เห็นในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า

ด้านนายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าขณะนี้บริษัทยังไม่มีนโยบายในการปรับขึ้นราคาจำหน่ายรถยนต์แต่อย่างใดvเนื่องจากอัตราภาษีใหม่ที่ประกาศออกมานั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มรถยนต์นำเข้ามากว่า

ส่วนซูซูกินั้นส่วนใหญ่เป็นตลาดรถยนต์อีโคคาร์ ซึ่งได้รับผลจากการคำนวณที่มีการเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้รถบางรุ่นมีราคาถูกลง และบางรุ่นมีราคาปรับขึ้น แต่อย่างไรก็ตามบริษัทก็จะพยายามตรึงราคาจำหน่ายเดิมเอาไว้ และเชื่อว่าการปรับเปลี่ยนครั้งนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์โดยรวม

เช่นเดียวกับผู้บริหารจากค่ายรถยนต์ค่ายหนึ่งที่ยอมรับว่า จากวิธีการคำนวณภาษีที่เปลี่ยนไป อาจจะมีค่ายรถยนต์บางค่ายที่เดิมใช้สิทธิฟรีโซน ซึ่งต้นทุนภาษีแตกต่างกัน พออัตราภาษีใหม่ประกาศ และคำนวณจากราคาขาย ก็ต้องดูว่าโครงสร้างของแต่ละบริษัทจะเป็นอย่างไร ต้องคำนวณภาษีว่ารุ่นใดขาดทุน รุ่นใดได้กำไรแล้ว ยังต้องคาดการณ์ด้วยว่า คู่แข่งจะมีการปรับตัวอย่างไร ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก

และขณะนี้หลาย ๆ ค่ายก็ยังคงศึกษารายละเอียดและทำงานร่วมกับบริษัทไฟแนนซ์อย่างหนักเพื่อคำนวณต้นทุนและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีค่ายรถยนต์นำเข้าบางค่าย รวมทั้งค่ายรถยนต์ บางรายที่ปรับกลยุทธ์ด้วยการปรับราคาขายและแยกแพ็กเกจบริการหลังการขายต่าง ๆ ออกจากราคาจำหน่าย เพื่อทำให้ต้นทุนในการคำนวณภาษีถูกลงก็มีให้เห็นบ้างแล้วเช่นกัน”