หุ้นประกัน “เจ้าสัว” ฟื้นแรง ล้างพอร์ตเจอจ่ายจบ-กองทุนรับหนี้

เจ้าสัวเจริญ

ประกันโควิด-19 “เจอจ่ายจบ” สร้างประวัติศาสตร์อันเจ็บปวดให้อุตสาหกรรมประกันภัย ที่เป็นสาเหตุให้ต้อง “ปิดกิจการ” ถึง 4 ราย ประกอบด้วย บมจ.เอเชียประกันภัย, บมจ.เดอะวันประกันภัย, บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย

กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ออกปากว่าเป็นรัฐมนตรีคลังที่ทำสถิติลงนามสั่งปิดบริษัทประกันถึง 4 แห่ง เพราะปกติรัฐมนตรีคลังแต่ละคนเฉลี่ยสั่งปิดแค่ 2-3 แห่ง

หลังความเจ็บปวดของทั้งอุตสาหกรรมประกันภัยในช่วงที่ผ่านมาจากพิษ “เจอจ่ายจบ”

ก็เริ่มเห็นการฟื้นตัวของบริษัทประกันของเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” อย่าง บริษัท ไทยกรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TGH และ บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ INSURE สถานการณ์ผลประกอบการก็พลิกฟื้นกลับมา

หลังจาก TGH ในฐานะบริษัทแม่ของ “อาคเนย์ประกันภัย” และ “ไทยประกันภัย” ลงมติใช้สิทธิ “เลิกกิจการ” โดยสมัครใจ ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535

ต่างจากกรณีของบริษัทเอเชียประกันภัยและเดอะวันประกันภัย ที่บริษัทประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจนทำให้ทาง คปภ.ใช้อำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาต

อาคเนย์-ไทยประกันภัย เจอเคลมสูง

“อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย” เจอภาระเคลมสินไหมกรมธรรม์ประกันภัยโควิดมูลค่าสูงกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ (เจ้าสัวเจริญ) ได้ควักเงินสนับสนุน 9,900 ล้านบาท แต่ความเสียหายที่สูง ดังนั้นบริษัทจึงตัดสินใจยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ขอใช้สิทธิ “เลิกกิจการ” เพื่อหยุดเลือดไหล

โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีคำสั่งวันที่ 1 เมษายน 2565 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยืนขอปิดกิจการโดยสมัครใจ แม้บริษัทจะบาดเจ็บแต่ก็เป็นการทำงานแบบวางแผน โดยโอนพอร์ตดี Non-COVID ให้ 4 บริษัทประกันรายอื่น แต่พอร์ตส่วนใหญ่ประกันรถยนต์และประกันอัคคีภัย โอนไปไว้กับบริษัทอินทรประกันภัย ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยอีกรายของเจ้าสัวเจริญ

ส่วนภาระหนี้การจ่ายเคลมสินไหมประกัน “เจอจ่ายจบ” ตกเป็นภาระของ “กองทุนประกันวินาศภัย (กปว.)” ซึ่งบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายในฐานะ “ผู้ชำระบัญชี” บริษัทประกันภัยที่ปิดตัว

โดยปี 2564 ผลประกอบการของ TGH ขาดทุนสุทธิ 3,360 ล้านบาท ซึ่งบริษัทแจ้งว่าเป็นผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจของ 2 บริษัทประกันในเครือ “อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย” จากการขายกรมธรรม์โควิด “เจอจ่ายจบ” โดยทั้ง 2 บริษัทต้องจ่ายเคลมกรมธรรม์โควิดปี 2564 รวม 10,907 ล้านบาท

ขณะที่หลังปิดกิจการ “อาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย” เมื่อ 1 เม.ย. 65 รายงานผลประกอบการไตรมาส 2/65 ของ TGH ที่ออกมาก็เริ่มสดใส โดยพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ 134 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 252%

และงวด 6 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย. 65) ก็มีกำไรสุทธิ 1,835 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 464% (325 ล้านบาท) โดยเป็นกำไรจากการดำเนินงานปกติ 605 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดจากการสิ้นสุดการเป็นบริษัทย่อยสุทธิจำนวน 1,230 ล้านบาท

โดยให้เหตุผลต่อ ตลาดหลักทรัพย์ฯว่า มาจากค่าบําเหน็จรับจากการเอาประกันภัยต่อที่เพิ่มขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงภัยในการรับประกันภัยของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่รับโอนมาจากอาคเนย์ประกันภัย และไม่มีค่าสินไหมทดแทนรายใหญ่ของการประกันภัยทรัพย์สิน และค่าสินไหมทดแทนประกันอุบัติเหตุและสุขภาพก็ลดลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน รวมถึงมีกำไรจากการขายรถมือสองเพิ่มขึ้นด้วย

และโดยเฉพาะงบการเงินไตรมาส 2/65 ของ บมจ.อินทรประกันภัย (INSURE) ที่มีกำไรสุทธิ 107.91 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนมีกำไรสุทธิ 5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2,158% และภาพรวม 6 เดือนแรกมีกำไรสุทธิ 705.97 ล้านบาท เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีผลขาดทุน 5.24 ล้านบาท

นอกจากนี้ราคาหุ้น INSURE ก็วิ่งชนซีลลิ่งเป็นว่าเล่น หลังจากรับโอนพอร์ต Non-COVID จาก 2 บริษัทที่ปิดกิจการโดยราคาหุ้นกระโดดขึ้นมากว่า 700% ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. จากระดับราคาหุ้น 50 บาท วิ่งมาอยู่ที่ระดับ 400 บาท (23 ส.ค.) และระหว่างวันเคยวิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 700 บาท (เมื่อ 17 ส.ค. 65)

เจ้าหนี้ยื่นคำขอทวงหนี้ 4 บริษัท 6.75 แสนราย

ขณะที่ นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ในฐานะผู้รับชำระบัญชีบริษัทประกันที่ปิดกิจการ เปิดเผยว่า ปัจจุบันกองทุนมีเจ้าหนี้ยื่นคำขอทวงหนี้จาก 4 บริษัทประกันที่ปิดกิจการ รวมทั้งสิ้น 6.75 แสนราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 65,000 ล้านบาท (เป็นมูลหนี้ของอาคเนย์ประกันภัยราว 3 หมื่นล้านบาท และไทยประกันภัยประมาณ 8 พันล้านบาท)

ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย กล่าวว่า จากการทำหน้าที่ชำระบัญชี ทรัพย์สินหลัก ๆ ที่ยึดมาส่วนใหญ่จะอยู่ที่บริษัทเดอะวันประกันภัย เป็นอาคารสำนักงานใหญ่ 7 ชั้น ตั้งอยู่ถนนรัชดาภิเษก มูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งตอนนี้ใช้เป็นศูนย์บัญชาการของกองทุนประกันวินาศภัย

ส่วนของบริษัทเอเชียประกันภัย ไม่มีทรัพย์สินประเภทอาคาร ใช้วิธีการเช่าตึกแถวเป็นที่ทำการ ก็ต้องไปยกเลิกสัญญาเช่า เพื่อลดภาระกองทุน

ขณะที่ทรัพย์สินของบริษัทอาคเนย์ประกันภัยและไทยประกันภัย ก็มีตึกแถวที่ใช้เป็นสำนักงานอยู่ 2 แห่ง ส่วนที่เหลือใช้วิธีเช่าทั้งหมด และสัญญาเช่าก็โอนสิทธิเรียกร้องไปให้อีกบริษัทหนึ่งที่ได้โอนทรัพย์สินไปแล้ว บางสาขาก็เหลือคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ 4-5 เครื่อง ก็ตีเป็นซาก

“ถ้าไม่รวมมูลค่าตึกของเดอะวันประกันภัย กองทุนมีรายได้จากการยึดทรัพย์สินจาก 4 บริษัทแค่ 10 กว่าล้านบาทเท่านั้น”

เบื้องต้นกองทุนฯมีแผนปรับเพิ่มอัตราเงินสมทบจากบริษัทประกันเป็น 0.5% ทำให้กองทุนมีรายได้เพิ่มเป็นปีละ 1,200-1,300 ล้านบาท เพื่อหาเงินมาจ่ายหนี้ให้ประชาชน และประสานกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) หาแหล่งเงินกู้10,000-20,000 ล้านบาท เพื่อนำมาชำระหนี้ดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ก็ยังอยู่ระหว่างลูกผีลูกคน นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า มีความกังวลอยู่แล้ว หากบริษัทสินมั่นคงประกันภัย ไม่ผ่านแผนฟื้นฟูกิจการ ภาระหนี้จะตกเป็นภาระกองทุนประกันวินาศภัยอีกประมาณกว่า 3 หมื่นล้านบาท จะทำให้กองทุนมีภาระหนี้ 1 แสนล้านบาท ขณะที่รายได้กองทุนมีน้อย ถึงแม้จะเพิ่มรายได้เข้ามาก็ต้องใช้ระยะเวลาอีกหลายปีในการชำระหนี้

นี่คือบาดแผลของอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยจากผลกระทบโควิด-19 ที่ภาระความเสียหายทั้งหมดถูกโอนมาให้กองทุนประกันวินาศภัยเป็นผู้รับผิดชอบแก้ปัญหาต่อไป