ค่าเงินบาทผันผวน นักลงทุนเฝ้ารอการประชุมประจำปีของเฟดปลายสัปดาห์

เงินบาท

ค่าเงินบาทผันผวน นักลงทุนเฝ้ารอการประชุมประจำปีของเฟดปลายสัปดาห์ ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 50-50 ถึงความน่าจะเป็นที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.50 กับ 0.75% 

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 22-26 สิงหาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดวันจันทร์ (22/8) ที่ระดับ 35.80/82 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/8) ที่ระดับ 35.67/69 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องมาจากช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากนักลงทุนขานรับถ้อยแถลงจากสมาชิกเฟดหลายรายที่ยังยึดมั่นในแนวการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้กลับสู่ระดับที่ตั้งไว้

นักลงทุนให้น้ำหนัก 50-50 เฟดขึ้นดบ. 0.50,0.75%

โดยในช่วงต้นสัปดาห์ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนให้น้ำหนักถึงเกือบ 60% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. อย่างไรก็ตามในช่วงกลางสัปดาห์ ความน่าจะเป็นดังกล่าวได้ปรับตัวลดลงจากความน่าจะเป็นที่เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% กับขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ออกมาอยู่ในระดับใกล้ 50-50 หลังในช่วงคืนวันอังคาร (24/8) สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ทำให้นักลงทุนเริ่มไม่มั่นใจว่าเฟดจะสามารถขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวต่อไปได้หรือไม่

โดยเอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัวและเป็นการหดตัวเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงานเป็นหลัก

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่ดิ่งลง 12.6% สู่ระดับ 511,000 ยูนิตในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 2559 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 575,000 ยูนิต

นอกจากนี้ในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐได้อ่อนค่าลงเล็กน้อย ถึงแม้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 โดยระบุว่า GDP ไตรมาส 2 หดตัวลง 0.6% ซึ่งดีกว่าตัวเลขประมาณการครั้งแรกที่ระบุว่า GDP หดตัว 0.9% หลังจากที่หดตัวลง 1.6% ในไตรมาส 1

รอผลประชุมเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล

ทั้งนี้นักลงทุนไม่ได้ให้ความสนใจกับตัวเลขนี้มากนัก โดยเฝ้ารอการประชุมประจำปีของเฟดที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง ซึ่งจะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันพฤหัสบดี (25/8) และจะสิ้นสุดในวันเสาร์ (27/8) โดยหัวข้อในการประชุมประจำปีนี้ คือ “Reassessing Constraints on the Economy and Policy”

ซึ่งตามกำหนดการนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด จะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในวันศุกร์ (26/8) เวลา 10.00 น. ตามเวลาสหรัฐ หรือ 21.00 น. ตามเวลาไทย ซึ่งทีมนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซกส์คาดการณ์ว่า นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด จะเน้นย้ำถึงการชะลอความแรงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเหมือนกับที่เขาได้กล่าวในการประชุมนโยบายการเงินของเฟดครั้งล่าสุด

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามเงินสกุลส่วนใหญ่ในภูมิภาค โดยในช่วงต้นสัปดาห์ปรับตัวอ่อนค่าไปสู่ระดับอ่อนค่าสุดในรอบสัปดาห์ที่ระดับราว 36.33 บาท/ดอลลาสหรัฐ

โดยนอกจากปัจจัยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินบาทยังได้รับแรงกดดันหลังนักลงทุนได้รับรายงานข่าวที่ว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับพิจารณาคำร้องกรณีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เข้าชื่อ เพื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย วาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าสิ้นสุดลงของตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ โดยทางศาลมีมติ 5 ต่อ 4 ให้นายกฯหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ช่วงวันพุธ (24/8) และรอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะเป็นภายในเดือน ก.ย.นี้

เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวปกติ

อย่างไรก็ตามการวินิจฉัย ไม่ได้มีความวุ่นวายใด ๆ เกิดขึ้น โดยรัฐบาลยืนยันว่าการทำงานของรัฐบาลยังสามารถทำได้ตามปกติ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้ปฏิบัติทำหน้าที่รักษาการ นายกฯ ซึ่งทำให้ในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินบาทเริ่มกลับมาเคลื่อนไหวตามปกติและกลับมาแข็งค่าขึ้นอีกครั้ง

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของไทยในวันศุกร์ (26/8) กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือน ก.ค. 65 มีมูลค่า 23,629.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.3% จากปีก่อนหน้า ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 10.7-11% ทั้งนี้ทำให้การส่งออกในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้สามารถขยายตัว 11.5% ที่มูลค่า 172,814.1 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม จากยอดนำเข้าที่ขยายตัว 23.9% ทำให้การนำเข้าในช่วง 7 เดือนแรกมีมูลค่า 182,730.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 21.4% จึงทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ค. 65 ขาดดุล 3,660.5 ล้านหรียญสหรัฐ และช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ขาดดุลรวม 9,916.3 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยจากยอดขาดดุลการค้าดังกล่าวได้เป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทเล็กน้อยก่อนปิดตลาดสัปดาห์นี้ในวันศุกร์ (26/8) ที่ระดับ 35.98/36.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ โดยระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 35.79-36.33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (22/8) ที่ระดับ 1.0025/29 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/8) ที่ระดับ 1.0088/92 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรได้รับแรงกดดัน หลังค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น จากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคากลางสหรัฐ (เฟด) จะยังคงเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำกว่า 1 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงวันอังคาร (23/8) โดยแตะระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปี ที่ระดับ 0.9901 ยูโรต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐและถือเป็นการปรับตัวลงถึง 12% ในปีนี้

ทั้งนี้ปัญหาทางเศรษฐกิจยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดก๊าซพรอมซึ่งเป็นบริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซีย ประกาศว่าบริษัทจะปิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 ในวันที่ 31 ส.ค.-2 ก.ย. เพื่อซ่อมบำรุงโดยการปิดท่อส่งก๊าซดังกล่าวจะส่งผลให้ยุโรปเผชิญวิกฤตพลังงาน ซึ่งจะทำให้ราคาก๊าซพุ่งขึ้น และเงินเฟ้อดีดตัวขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจอาจเผชิญภาวะถดถอย

โดยในขณะนี้ตลาดได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีโอกาสที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน ก.ย.เพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงมาก ซึ่งอาจจะต้องแลกมาด้วยการทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ในที่สุด

เงินยูโรฟื้นตัวเล็กน้อย

อย่างไรก็ตามในช่วงปลายสัปดาห์ค่าเงินยูโรฟื้นตัวได้เล็กน้อยหลังสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี (Destatis) เปิดเผยในวันพฤหัสบดี (25/8) ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2565 ขยายตัว 0.1% ในการประมาณการครั้งที่สองเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ และหากเมื่อเทียบเป็นรายปี GDP ไตรมาส 2/2565 ของเยอรมนีขยายตัว 1.7% หลังปรับค่าตามปฏิทินและเงินเฟ้อแล้ว ซึ่งตัวเลขดังกล่าวดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

ทั้งนี้โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลงเมื่้อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยมีกรอบระหว่าง 0.9901-1.0033 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (26/8) ที่ระดับ 1.0000/02 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (22/8) ที่ระดับ 137.23/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (19/8) ที่ระดับ 135.88/92 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงเคลื่อนไหวในเชิงอ่อนค่าเป็นหลัก

นอกจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐแล้ว ยังถูกกดดันจากความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกที่เริ่มมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐที่ล่าสุดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ได้ปรับตัวขึ้นสู่ระดับราว 3.1% ซึ่งถือเป็นการเพิ่มความแตกต่างในด้านผลตอบแทนระหว่างสองสกุลเพิ่มมากขึ้น

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในวันอังคาร (23/8) มีรายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นของ Jibun Bank ปรับลดลงสู่ระดับ 51.0 ในเดือน ส.ค.จากระดับ ก.ค. ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นต้นของ Jibun Bank ปรับลดลงสู่ระดับ 51.0 ในเดือน ส.ค. จากระดับ 52.1 ในเดือน ก.ค.ซึ่งเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. ปีที่แล้ว


อย่างไรก็ดี ดัชนี PMI ที่ระดับสูงกว่า 50 บ่งชี้ว่า ภาคการผลิตของญี่ปุ่นยังคงมีการขยายตัว ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการขั้นต้นปรับลดลงสู่ 49.2 ในเดือน ส.ค.จากระดับ 50.3 ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มี.ค. สำหรัชดัชนี PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการขั้นต้น ปรับลดลงสู่ระดับ 48.9 ในเดือน ส.ค.จากระดับ 50.2 ในเดือน ก.ค.ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 135.81-137.70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (26/8) ที่ระดับ 136.84/86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ