หุ้นไทยลุ้นตัวโก่งโค้งท้าย 8 เดือนแรก ดัชนี -1.88%

หุ้นไทย

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ตั้งแต่ต้นปีถึงสิ้นเดือน ส.ค. (YTD) หรือ 8 เดือนแรกปรับลดลง -1.88% โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศ ขายสุทธิไปกว่า 118,440 ล้านบาท นักลงทุนในประเทศ ขายสุทธิกว่า 53,700 ล้านบาท

และบัญชีหลักทรัพย์ ขายสุทธิกว่า 2,440 ล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิกว่า 174,600 ล้านบาท

“กสิกรไทย” คาด SET ฟื้น Q4

มองไปข้างหน้า “สรพล วีระเมธีกุล” ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย ชี้ว่า ในเดือน ก.ย. SET Index น่าจะไซด์เวย์ถึงไซด์เวย์ดาวน์

โดยดัชนีน่าจะไปเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาส 4 เนื่องจากคาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนของเงินเฟ้อว่าผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ในขณะที่ตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐออกมาไม่ดี ก็น่าจะลดโอกาสที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยแรงลงไป

“พอเกิดภาพแบบนี้ฝั่ง Dollar Index จะค่อย ๆ อ่อนตัว และค่าเงินในสกุลฝั่งประเทศเกิดใหม่ (EM) โดยเฉพาะในอาเซียน ก็จะมีโอกาสกลับมา perform ได้ ตอนนี้จะเห็นว่า PMI Index ฝั่งเอเชียใต้ อย่าง ไทย, อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

ยังค่อนข้างแข็งแกร่งอยู่ ในขณะที่เอเชียเหนือ (เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น) รวมถึงยุโรป และอเมริกา ติดลบไปหมดแล้ว ฉะนั้นกลุ่มประเทศอาเซียนในช่วงที่เหลือของปีน่าจะแข็งแกร่ง และอาจจะมีผลงานดีกว่า (outperform) ทวีปอื่น ๆ”

ลุ้นรัฐออกมาตรการกระตุ้น ศก.

นอกจากนี้ ช่วงโค้งสุดท้ายของปีคาดว่ารัฐบาล เตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากการส่งสัญญาณของกระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง คาดว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 4

รวมถึงไทยมีอัพไซด์จากเรื่องนักท่องเที่ยว ที่น่าจะสามารถยืนยันในช่วงเดือน พ.ย.เป็นต้นไปว่า จีนจะเปิดให้นักท่องเที่ยวออกมาท่องเที่ยวได้เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นโมเมนตัมที่ดีต่อไทย

“สรพล” กล่าวอีกว่า หากปัจจัยการเมืองในไทยนิ่ง เม็ดเงินลงทุนกลุ่มนักลงทุนสถาบัน จะกลับเข้ามาทยอยสะสมหุ้น และเป็นตัวผลักดันตลาดหุ้นไทยได้

ซึ่งหุ้น 3 กลุ่มที่น่าสนใจ คือ 1.หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์และหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยเริ่มปรับตัวขึ้น 2.หุ้นโรงไฟฟ้า และ 3.หุ้นกลุ่มเปิดเมือง (reopening) ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน, โรงแรม, ห้างสรรพสินค้า และรถไฟฟ้า

“เรามองกรอบดัชนี SET Index ในไตรมาส 4 บริเวณแนวรับที่ 1,585 จุด ส่วนแนวต้านเกือบ 1,700 จุด ถ้าย่อลงมาบริเวณแนวรับเป็นจังหวะเข้าซื้อหุ้นข้างต้น โดยมองเป้าดัชนีช่วง 12 เดือนข้างหน้าไว้ที่ 1,740 จุด

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่คาดการณ์ไม่ได้ ก็คือ โอกาสที่เฟดอาจจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรง ๆ แต่อาจจะหันมาทำ quantitative tightening (QT) หรือนโยบายดึงสภาพคล่องออกจากระบบแรง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องเดียวตอนนี้ที่สร้างความกังวลต่อภาวะตลาดหุ้น”

ครึ่งปีหลังหุ้นไทยมีเสน่ห์ขึ้น

ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส วิเคราะห์ว่า ในเดือน ก.ย. SET Index เข้าสู่โหมดแจ่มใส โดยความเสี่ยงต่าง ๆ เริ่มอยู่ในกรอบจำกัด พร้อมกับเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของปัจจัยพื้นฐาน (fundamental) และกระแสเงินทุนต่างชาติ (fund flow) ที่ชัดเจน

โดยมองเศรษฐกิจไทยจะเติบโตสูงกว่า 3% ตามที่หลายฝ่ายได้ตั้งเป้าหมายไว้ หลัก ๆ มาจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ซึ่งจะเป็นตัวสร้างกิจกรรมเศรษฐกิจให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ เฉพาะอย่างยิ่งในภาคท่องเที่ยวและบริการ สวนทางกับ เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่บางประเทศเข้าสู่ภาวะ recession บางประเทศ GDP growth รายไตรมาสเริ่มติดลบ และบางประเทศส่งสัญญาณการชะลอตัวชัดเจน

จากสภาวะตลาดหุ้นไทยดูมีเสน่ห์มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หนุนให้ฝ่ายวิจัยปรับระดับ market earning yield gap ที่ใช้กำหนดเป้าหมายดัชนีจาก 4.4% มาเป็น 4.2% (ค่าเฉลี่ยในอดีต) หรือปรับเพิ่มระดับ P/E ตลาดเป็น 18 เท่า (ภายใต้ดอกเบี้ยปลายปีที่ 1.25%) ถัดมาคือ

ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนงวด 2Q65 ที่สร้างจุดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับราว 3.5 แสนล้านบาท นำไปสู่การปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2565 ขึ้นเป็น 1.17 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น EPS ที่ 96.1 บาท/หุ้น (เติบโตจากปีก่อน 11.7%)

ซึ่งทั้ง 2 ส่วนหนุนให้ Target SET Index ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 1,730 จุด ภาวะที่กล่าวมาทั้งหมด เชื่อว่าน่าจะขับเคลื่อนให้ fund flow ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยต่อ อีกทั้งปัจจุบันสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยทางตรงจากต่างชาติยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติไม่ถึง 22% มีช่องว่างให้ไหลเข้ามาได้อีก หรือยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ 26.2% อีกทั้งในอดีต 9 ปีที่แล้ว ต่างชาติยังเคยถือครองสูงถึง 30.2%

“ทิสโก้” เก็งฟันด์โฟลว์ทะลัก

ฟาก “อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ด้วยแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ดีกว่าคาด หนุนให้ fund flow ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา

โดยมองว่าแนวโน้ม fund flow ในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า ยังเป็นบวก จากคาดการณ์ ว่ามูลค่าของเศรษฐกิจไทยที่แท้จริง (real GDP) จะกลับขึ้นมาสู่ระดับช่วงก่อนโควิด-19 ในไตรมาส 3/2565 และจะกลับมาสู่ระดับแนวโน้มการเติบโตตามศักยภาพในปีหน้า

“ต่างชาติจะสามารถซื้อสุทธิได้อีก 1.4 แสนล้านบาท ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของต่างชาติที่ปัจจุบันอยู่ที่ 27.1% หากต่างชาติกลับมาถือหุ้นไทยเทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิดในปี 2562 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 27.8% จะเทียบเท่าเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าอีกราว 1.3 แสนล้านบาท”

อย่างไรก็ตาม เดือน ก.ย.นี้ จะมีการประชุมธนาคารกลางสำคัญ ๆ หลายแห่ง ซึ่งยังคงเร่งเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย และอาจมากกว่าตลาดคาด และการดึงสภาพคล่องออกจากระบบของเฟด จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว (QT) เป็นเดือนละ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ในเดือน ก.ย.นี้เป็นต้นไป

คาดจะทำให้ตลาดหุ้นเกิดความผันผวนได้ง่าย ผสานกับความไม่แน่นอนของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งครบ 8 ปีภายในเดือนนี้ อาจทำให้ fund flow ชะลอตัว หรือพลิกเป็นไหลออกได้ในระยะสั้น

ยืนเป้าดัชนีสิ้นปี 1,720 จุด

“หาก SET Index ขึ้นผ่านจุดสูงสุดชั่วคราวที่บริเวณดัชนี 1,650-1,665 จุด มองระดับการปรับฐานที่น่าสนใจต่อการทยอยสะสมจะอยู่ที่บริเวณ 1,570-1,600 จุด และโอกาสจะกลับมาปรับตัวขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 4 โดยยังคงเป้าหมาย SET Index ที่เหมาะสมปีนี้ที่ 1,720 จุด ส่วนแนวรับสำคัญเดือน ก.ย.อยู่ที่ 1,600 จุด และแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,650-1,665 จุด และ 1,700 จุดตามลำดับ”


ท่ามกลางความปั่นป่วนของโลกที่กระทบชิ่งมาไทย ซึ่งหลายปัจจัยยังรอความชัดเจน คงต้องติดตามกันต่อไปว่า หุ้นไทยจะไปต่อในทิศทางไหนในช่วงโค้งสุดท้ายของปี