KKP เปิดตัวแอป Dime เจาะรายย่อย ชูลงทุนหุ้นต่างประเทศ ขั้นต่ำ 50 บาท

แอป Dime

บริษัท หลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ จำกัด หรือ KKP Dime เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “Dime” บริการลงทุนและการออม พุ่งเป้ากลุ่มรายย่อยเข้าถึงบริการ ชูจุดเด่น ลงทุนขั้นต่ำ 50 บาท นำร่อง 3 บริการ “ลงทุนหุ้นต่างประเทศ-เงินฝาก-กองทุนรวม” ตั้งเป้าภายในสิ้นปีลูกค้าสนใจ 1.5 แสนบัญชี ยอด AUM 150 ล้านบาท และภายในปี’68 ลูกค้าแตะ 1 ล้านราย ยอดสินทรัพย์ 2 พันล้านบาท เล็งขยายบริการ “ประกัน-บัตรเครดิต” เพิ่มในอนาคต

วันที่ 6 กันยายน 2565 นายกัมพล จันทวิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หลักทรัพย์ เคเคพี ไดม์ จำกัด หรือ KKP ให้กลุ่มลูกค้ารายย่อย โดยเน้นกลุ่มที่มีรายได้ 1 หมื่นบาทต่อเดือน ให้สามารถเข้าถึงบริการเงิน เนื่องจากที่ผ่านมาสถาบันการเงินจะเน้นแต่กลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง (Wealth) จึงเป็นช่องว่างในการเข้าถึงบริการของคนไทย ทั้งช่องว่างความมั่งคั่งและรายได้

ทั้งนี้ หากดูการใช้บริการเงินของคนไทยจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าคนไทยมีบัญชีเงินฝาก 50 ล้านคน คิดเป็น 20 ล้านบัญชี แม้ว่าจะดูว่าค่อนข้างแต่เป็นการเปิดบัญชีเพื่อรองรับมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ

กัมพล จันทวิบูลย์
กัมพล จันทวิบูลย์

ขณะที่มีการใช้บัตรเดบิต 13 ล้านบัญชี บัตรเครดิต 8 ล้านคน และซื้อกองทุนรวมเพียง 1.5 ล้านคน ถือว่าค่อนข้างน้อย เพราะโปรดักต์กองทุนรวมมีในไทยมานานแล้ว และสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) 2.4 ล้านคน ซึ่งหากเทียบกับประชากรสหรัฐมีสัดส่วนประมาณ 50% ที่มีการเปิดบัญชีลงทุน

ทั้งนี้ สาเหตุที่คนไทยมีการลงทุนค่อยข้างน้อยมาจาก 2 ปัจจัย คือ คนไทยยังไม่มีความรู้ และไม่รู้จะเข้าถึงการลงทุนอย่างไร และ 2.ผู้ให้บริการมีต้นทุนที่สูงมาก เพราะต้องใช้พนักงานลูกค้าสัมพันธ์ (RM) ต้องดูแลลูกค้า

ดังนั้น เป้าหมายของ “Dime” ต้องการให้คนรายย่อยมีเงินเพียง 50 บาทก็สามารถลงทุนหุ้นต่างประเทศได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ แต่บริการเทียบเท่าลูกค้ากลุ่ม Wealth โดยการลงทุนจะทำผ่านดิจิทัลแบบ End to End เนื่องจาก Dime จะเป็น Tech company ทุกอย่างจะเป็น Pure Digital ซึ่งจะมีทีมงานอยู่ประมาณ 90 คน โดยจะไม่ได้มี RM คอยดูแล

“เราใช้เวลาพัฒนาแอป Dime มาประมาณ 10 เดือน และจะเปิดให้ดาวน์โหลดภายในวันที่ 8 ก.ย.นี้ ซึ่งระบบมีความสามารถในการรองรับการใช้งานของ Dime เราตั้งไว้ได้มากกว่า 5 เท่าของเป้าหมายที่ตั้งไว้ และหากมีจำนวนธุรกรรมถึง 40% ของ 5 เท่าระบบจะมีการแจ้งเตือนและสามารถขยายสเกลการรองรับธุรกรรมโดยอัตโนมัติ

ทั้งนี้ เท่าที่ได้ทดลองใช้แอป Dime กับกลุ่มธนาคารเกียรตินาคินภัทรแล้ว จุดที่ยังติดขัดนั้นพบว่าเป็นการยืนยันตัวตนในการเปิดบัญชีเงินฝากในกลุ่มลูกค้าที่ยังไม่เคยยืนยันตัวตน (e-KYC) ผ่านระบบสถาบันการเงินมาก่อน จึงทำให้มีปัญหาในการยืนยันตัวตนผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (NDID) และทำให้ลูกค้าต้องใช้การยืนยันตัวตนที่สถาบันการเงินแทน”

สำหรับบริการ “Dime” เริ่มต้น 3 บริการ ได้แก่ 1.การลงทุนในหุ้นต่างประเทศ โดยใช้เงินลงทุนขั้นต่ำเพียง 50 บาท ซึ่งจะอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรม เช่น ซื้อหุ้นต่างประเทศด้วยเงินบาท และสามารถแลกเงินบาทเป็นดอลลาร์ก็สามารถแลกได้ทันทีภายใน 2 วัน ผู้ลงทุนจะได้รับการยกเว้นค่าคอมมิชชั่นเดือนละ 1 ครั้ง สำหรับการซื้อขายครั้งแรกของทุกเดือน และรายการต่อไปจะเก็บตามจริงที่ 0.15% ของมูลค่าซื้อขาย และกรณีลูกค้าเปิดบัญชีลงทุนภายในปีนี้จะได้รับการยกเว้นค่าคอมมิชชั่นถึง 30 มิถุนายน 2566 ทั้งนี้ บริษัทจะเริ่มจากตลาดหุ้นสหรัฐ ก่อนจะขยายไปตลาดอื่น เช่น ฮ่องกง เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นต้น

2.บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ Dime Save ร่วมมือธนาคารเกียรตินาคินภัทร ให้ดอกเบี้ยสูงสุดถึง 3% ไม่มีขั้นต่ำในการเปิดบัญชี โดยลูกค้าสามารถโอนเงินได้ยืดหยุ่น และไม่มีเงื่อนไขมากเหมือนบัญชีฝากประจำ และมีลูกเล่นสามารถตกแต่งสลิปได้ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการพุดคุยกับธนาคารกสิกรไทย และทีทีบี เพิ่มเติม และ

3.บัญชีกองทุนรวม ลูกค้าสามารถลงทุนได้ทุกทีแบบไม่จำกัดค่าย มีกองทุนมากกว่า 1,700 กองทุน จาก 21 บลจ. โจทย์ลูกค้าที่ต้องการกระจายการลงทุน

นายกัมพลกล่าวต่อไปว่า สำหรับเป้าหมายระยะสั้นภายในสิ้นปี 2565 บริษัทคาดว่าจะมีคนเปิดบัญชีจำนวน 1.5 แสนราย คิดเป็นสินทรัพย์ภายใต้บริหารจัดการ (AUM) อยู่ที่ 150 ล้านบาท เฉลี่ยฝากเงินและลงทุนอยู่ที่ 2,000 บาทต่อคน และคาดภายในปี 2568 จำนวนผู้ใช้จะเพิ่มเป็น 1 ล้านคน มี AUM 2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจุดคุ้มทุน และเป้าหมายระยะยาวภายในปี 2570 มีฐานลูกค้าเป็น 3 ล้านราย และ AUM เพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี บริษัทให้ความสนใจที่จะเป็นธนาคารดิจิทัลที่ไม่มีสาขา (Virtual Bank) แต่ก็ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ที่จะออกมาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเป็นอย่างไร หาก ธปท.มีการกำหนดเงินกองทุนระดับสูงเทียบเท่าธนาคาร อาจจะไม่ทำ โดยปัจจุบัน Dime ได้รับการอนุมัติจาก ธปท.และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ให้ประกอบธุรกิจลงทุนและออมได้

“ตั้งเป้าหมายเราต้องการมีจำนวนผู้ใช้แอป ในหลักล้านรายภายในปี’68 ซึ่งในระหว่างนี้เราต้องการข้อมูลลูกค้า เพื่อดูผลตอบรับ ชอบหรือไม่ชอบตรงไหน ความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งจะทำให้เราสามารถแยกลูกค้าได้ และเป้าหมายถัดไปเราจะมีการพัฒนาโปรดักต์เพิ่มเติม ทั้งด้านกองทุนต่าง ๆ บัตรเครดิต และไมโครประกันภัย ซึ่งไม่จำเป็นต้องราคาสูงก็สามารถซื้อได้ โดยจะทำร่วมกับพันธมิตรในกลุ่มต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเราสามารถขยายฐานลูกค้าต่อเนื่องได้”