กองทุนประกันขอกู้ 5 หมื่นล้าน เร่งจ่ายเงินเคลมโควิด 4 บริษัทปิดกิจการ

เงินเคลมโควิด

บอร์ดกองทุนประกันวินาศภัย ตั้ง “คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ” จัดหาแหล่งเงินทุนชำระหนี้เคลมโควิด 6.5 หมื่นล้านบาท เร่งคืนเงินเจ้าหนี้ 6.7 แสนราย ประสาน “สบน.-แบงก์ชาติ” อัพสปีดตรวจสอบคำทวงหนี้เร่งกระบวนการจ่ายเงิน พร้อมเก็บเงินสมทบ “บริษัทประกัน” เพิ่มรายได้ “ผู้จัดการกองทุน” ชงแผนขอกู้กรอบวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท หวังรัฐช่วยค้ำประกันลดภาระจ่ายดอกเบี้ยแพง ตั้งเป้า 4-5 ปีเคลียร์หนี้หมด

นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุน กปว. ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ได้มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ พิจารณาศึกษาแนวทางในการจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาชำระหนี้เคลมสินไหมประกันภัยโควิด-19 ซึ่งขณะนี้มีมูลหนี้ทั้งหมดสูงกว่า 6.5 หมื่นล้านบาท จาก 4 บริษัทประกันวินาศภัยที่ถูกปิดกิจการ

ทั้งนี้ แบ่งเป็นหนี้สัญญาประกันภัยจำนวน 5 หมื่นล้านบาท จำนวนเจ้าหนี้ 6.7 แสนราย และหนี้ทั่วไปอีกกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกองทุนจะรับผิดชอบเฉพาะหนี้จากสัญญาประกันภัย ที่จะจ่ายไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อรายตามกฎหมาย

เก็บเงินสมทบ บ.ประกัน 0.5%

นายชนะพลกล่าวว่า กองทุนต้องประสานงานร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อเร่งหาแหล่งเงินทุนเพื่อมาใช้หนี้ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป เบื้องต้นอาจกู้ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) หรือออกเป็นพันธบัตร ส่วนปี 2565 นี้จนถึงสิ้นปี กองทุนจะสามารถจ่ายหนี้ตามสภาพคล่องที่เหลืออยู่ได้ทั้งหมดแค่ 3,000 ล้านบาท

โดยแบงก์ชาติและ สบน. ได้สอบถามถึงขีดความสามารถในการชำระหนี้ของกองทุน ว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งตามแนวทางคือ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 เป็นต้นไป กองทุนจะขอปรับอัตรานำส่งเงินสมทบเข้ากองทุน จากบริษัทประกันวินาศภัยทุกแห่ง จากเดิมที่เก็บอยู่ 0.25% ของเบี้ยรับรวมแต่ละบริษัท ซึ่งมีรายได้เข้ามาปีละ 600 ล้านบาท ปรับเพิ่มเป็น 0.5% (อัตราเต็มเพดานที่กฎหมายกำหนด) โดยจะทำให้กองทุนมีรายได้เข้ามาปีละ 1,300 ล้านบาท เพื่อให้มีความสัมพันธ์กับเงินกู้ที่นำมาใช้ในแต่ละปี

ขอคลังค้ำเงินกู้ 5 หมื่นล้าน

สำหรับแผนการจัดหาแหล่งเงินกู้ คาดว่าจะขอกู้ภายใต้กรอบวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท โดยกองทุนจะขออนุมัติวงเงินและทยอยจ่ายหนี้เป็นปีต่อปี คาดว่าจะส่งแผนได้ประมาณเดือน ธ.ค. 2565 และภายในเดือน ม.ค. 2566 จะดำเนินการปรับปรุงแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปความชัดเจนของวงเงินนำจ่ายจริงต่อไป

“ช่วง 3-4 เดือนที่เหลือของปีนี้ เราต้องตรวจสอบคำทวงหนี้ให้แล้วเสร็จในแต่ละเดือนว่าได้ประมาณเท่าไหร่ เพื่อจัดทำตัวเลขให้นิ่ง เพื่อนำไปเป็นฐานไปทำวงเงินในการขอกู้ในปีหน้า สมมุติดำเนินการจ่ายหนี้ได้ประมาณ 500 ล้านบาทต่อเดือน ฐานวงเงินขอกู้จะอยู่ประมาณ 6,000 ล้านบาท และถ้าสามารถอัพสปีดระบบตรวจสอบคำทวงหนี้ได้ในปี 2567-2568 ปีนั้น ๆ ก็มีโอกาสจ่ายหนี้ได้เป็นหมื่นล้านบาท ผมตั้งใจไว้ว่าประมาณ 4-5 ปี หนี้ทั้งหมดน่าจะคลี่คลายได้” ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัยกล่าว

โดยหลังจากวันที่ 14 ก.ค. 2565 ทางกองทุนได้ปิดรับการยื่นคำทวงหนี้ของ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย ปัจจุบันได้อนุมัติการจ่ายหนี้ให้เจ้าหนี้ไปแล้ว 400-500 รายต่อบริษัท ขณะนี้รอการยืนยันสิทธิและจ่ายเงิน ซึ่งคาดว่าในเดือนต่อ ๆ ไปน่าจะมากขึ้นกว่านี้ โดยตามแผนต้องอนุมัติการจ่ายหนี้ของ 4 บริษัท ไม่ต่ำกว่า 1,000 รายต่อบริษัท

ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย กล่าวด้วยว่า กรณีเงินกู้ หากกองทุนกู้เองต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง ประมาณ 6% ต่อปี แต่ถ้ารัฐค้ำประกันจะจ่ายดอกเบี้ยถูกลง แค่ 1-2% ต่อปี ดังนั้นความคาดหวังของกองทุน คือรัฐน่าจะช่วย ซึ่งก็จะทำให้กลายเป็นหนี้สาธารณะ

แก้ไขกฎหมายชำระบัญชี

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา กองทุนประกันวินาศภัย ได้ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็น การจัดทำแผนยุทธศาสตร์กองทุน ระยะ 5 ปี (2566-2570) โดยภารกิจเฉพาะกิจเร่งด่วนช่วง 1-2 ปีนี้คือ เร่งรัดชำระหนี้ และการจ้างเหมาบุคลากรภายในพร้อมค่าตอบแทนที่เหมาะสม

พร้อมกันนี้เสนอแนวทางแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการชำระบัญชีบริษัทประกัน โดยปรับวิธีการแจ้งยืนยันสิทธิการจ่ายเงิน จากปัจจุบันที่เป็นรูปแบบไปรษณีย์ เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของกองทุนปีละราว 100 ล้านบาท