ประกันขาดทุนยับรอบ 10 ปี อ่วมเคลม “เจอจ่ายจบ” เฉียด 2 แสนล้าน

เจอจ่ายจบ

ธุรกิจประกันวินาศภัยเจ๊งยับรอบ 10 ปี อ่วมเคลมโควิด “เจอจ่ายจบ” สมาคมเผยถึงสิ้นปี 2564 ขาดทุนไปแล้ว 8 พันล้านบาท ชี้บทสรุปประกันโควิดยอดเคลมภาพรวมล่าสุดราว 1.5 แสนล้านบาท คาดจบที่ไม่เกิน 2 แสนล้านบาท ประเมินมีทุจริต 20%

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ประกันภัยโควิด-19 มียอดจ่ายเคลมสินไหมเข้ามารวมทั้งสิ้น 124,933 ล้านบาท โดยจ่ายเคลมไปจนถึงสิ้นปี 2564 แล้วจำนวน 39,908 ล้านบาท

ขณะที่ในปี 2565 ช่วง 5 เดือนแรก หรือจนถึง ณ สิ้นเดือน พ.ค. มียอดเคลมเข้ามาจำนวนสูงถึง 85,025 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณการว่า มีการทุจริตเคลม (moral hazard) ประมาณ 10-20%

ทั้งนี้ ปัจจุบันกรมธรรม์ประเภทเจอจ่ายจบได้หมดความคุ้มครองไปแล้ว เหลือแต่ประกันสุขภาพที่คุุ้มครองค่ารักษาพยาบาลและภาวะโคม่า จนถึงตอนนี้เคลมสินไหมน่าจะขึ้นไปสูงที่ 1.5 แสนล้านบาท

พร้อมกับคาดการณ์ว่าสุดท้ายแล้วน่าจะไม่เกิน 2 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 50% ของเคลมสินไหมน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่มีมูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท

“วิกฤตโควิด ถือว่าทำลายธุรกิจประกันภัยพังยับเยิน เจ๊งไปแล้ว 4 บริษัท ซึ่งใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ลงดาบ และมีอีก 2 บริษัทอาการกำลังร่อแร่” นายกี่เดชกล่าว

โดยการรับประกันภัยโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) มีจำนวนกรมธรรม์ทั้งสิ้น 19.7 ล้านฉบับ มีเบี้ยรับ 10,342 ล้านบาท โดยเป็นยอดขายในปี 2563 จำนวน 4,168 ล้านบาท คิดเป็น 1.6% ของเบี้ยรับรวมทั้งระบบ 2.52 แสนล้านบาท และในปี 2564 จำนวน 6,174 ล้านบาท คิดเป็น 2.3% ของเบี้ยรับรวมทั้งระบบ 2.62 แสนล้านบาท

“ผลพวงนี้ กระทบต่อกำไรสุทธิจากการรับประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย ทำให้ประสบผลขาดทุนสุทธิเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 โดยเมื่อสิ้นปี 2564 ทั้งระบบขาดทุนสุทธิจากการรับประกันไปกว่า 8,000 ล้านบาท พอร์ตประกันภัยเบ็ดเตล็ดซึ่งรวมประกันภัยโควิดพลิกขาดทุน จากการรับประกันไปกว่า 2.3 หมื่นล้านบาท จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 7,200 ล้านบาท เนื่องด้วยเกือบทุกบริษัทที่ขายประกันภัยโควิดไม่มีการส่งประกันภัยต่อ เทียบกับกรณีน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ที่ยังมีการโอนความเสี่ยงให้ประกันภัยต่อไปสูงกว่า 80%”

นายกี่เดชกล่าวต่อว่า ในอนาคตการรับประกันภัยความเสี่ยงอุบัติใหม่ สิ่งที่บริษัทประกันไทยต้องประเมินคือ 1.บริษัทประกันภัยต่างประเทศมีการรับประกันไว้หรือไม่ 2.อัตราเบี้ยต้องเหมาะสมกับความเสี่ยงภัย และมีการกำหนดลิมิตวอลุ่ม 3.คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงหรือองคาพยพภายในองค์กรต้องประเมินความเสี่ยงหลัก (risk factor) ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก่อนเข้าไปรับประกันทุกครั้ง และ 4.ต้องส่งประกันภัยต่อ ถ้าไม่มีผู้รับก็ไม่ควรจะขาย