คลังสั่งคุมเข้ม ศูนย์ซื้อขายคริปโต สกัดโดมิโน-ขาใหญ่เบรกลงทุน

คริปโต

เตือนโดมิโนเอฟเฟกต์ตลาดคริปโตฯขาลง “ซิปเม็กซ์” ระเบิดเวลาลูกแรกของไทย เจอวิกฤตสภาพคล่องปิดระบบ ZIPUP+ เขย่าขวัญนักลงทุนเสียหายเฉียด 2 พันล้านบาท รัฐมนตรีคลังเรียกเลขาฯ ก.ล.ต.ชี้แจงด่วน สั่งคุมเข้ม “ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล” หวั่นกระทบวงกว้าง เร่งสอบกรณีนำเงินนักลงทุนไปลงทุนต่อ

วงการชี้โมเดล “แชร์ลูกโซ่” เลขาฯ ก.ล.ต.งัดข้อกฎหมายเชือด เผยกระทบเชื่อมั่นตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ขาใหญ่เหยียบเบรกลงทุน SCBX ชี้เข้มงวดลงทุนมากขึ้น แจงเลื่อนดีล “บิทคับ” ไม่มีกำหนด

ระเบิดเวลาลูกแรก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การประกาศระงับการถอนเงิน และคริปโตเคอร์เรนซีของ “ซิปเม็กซ์” (Zipmex) ผู้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อช่วงเย็นวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลไทย โดยเฉพาะบรรดานักลงทุนทั้งหลาย ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นโดมิโนเอฟเฟ็กต์จากภาวะตลาดคริปโตร่วงลงอย่างหนัก ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นกับ “ซิปเม็กซ์” อาจเป็นแค่ระเบิดลูกแรกของผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

นายเอกลาภ แย้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิปเม็กซ์ ประเทศไทย ชี้แจงว่า ปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นเกิดจากผลิตภัณฑ์ ZipUp+ ซึ่งดูแลโดย Zipmex Global ขณะที่สินทรัพย์ดิจิทัล และเงินบาทในบัญชีซื้อขาย (เทรดวอลเลต) ยังคงใช้งานได้ตามปกติ

โดยระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากบริษัทได้นำสินทรัพย์ไปฝากไว้ที่คู่ค้า คือ บาเบลไฟแนนซ์ มูลค่า 48 ล้านเหรียญสหรัฐ และเซลเซียส เน็ตเวิร์ก มูลค่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐ (กว่า 1.8 พันล้านบาท) ซึ่งทั้งสองบริษัทประสบปัญหาสภาพคล่อง ซึ่งในกรณีของ “เซลเซียส เน็ตเวิร์ก” (Celsius Networks) ได้ยื่น Chapter11 ต่อศาลล้มละลายสหรัฐแล้ว

คลังสั่งสกัดกระทบวงกว้าง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีที่บริษัท ซิปเม็กซ์ ผู้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ระงับการถอนเงินบาทและสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียก น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาชี้แจงรายละเอียดกรณีดังกล่าว และสั่งการให้ ก.ล.ต.จัดทำรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร กลับมาที่กระทรวงการคลังด้วย

นอกจากนี้ ได้กำชับให้ ก.ล.ต.ไปกำกับดูแลศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง และให้ ก.ล.ต.ไปดูรายละเอียดในเรื่องกฎหมาย กรณี ซิปเม็กซ์ นำเงินฝากของนักลงทุน ไปลงทุนต่อในกิจการอื่นว่าผิดข้อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง

“หลังจากรับนโยบายแล้ว ก.ล.ต.ก็เร่งออกประกาศชี้แจ้งให้กับนักลงทุนทันที แต่ในเรื่องรายละเอียดต้องรอ รายงานลายลักษณ์อักษร ซึ่ง รมว.คลังก็แสดงความเป็นห่วงในกรณีนี้ และติดตามอย่างใกล้ชิด สอบถามความคืบหน้ากับ ก.ล.ต.เป็นระยะ ๆ” นายกฤษฎากล่าว

ก.ล.ต.งัดกฎหมายเชือด

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่ให้ทางซิปเม็กซ์นำส่งเพิ่มเติมก่อน ทั้งนี้ ก.ล.ต.ต้องดำเนินการตามข้อกฎหมายที่มีอยู่แน่นอน แต่ก็ต้องให้เวลาทางบริษัท เพราะข้อมูลบางส่วนที่เป็นสาระสำคัญเป็นข้อมูลจากต่างประเทศ

“เกณฑ์ ก.ล.ต.กำหนดชัดเจนว่า ศูนย์ซื้อขาย ห้ามแตะต้องทรัพย์สินของลูกค้า ก็ต้องรอดูข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเมื่อได้ข้อเท็จจริงครบถ้วน ก.ล.ต.ก็จะดำเนินการตามข้อกฎหมาย โดยประเด็นสำคัญคือ บริษัทจะต้องดูแลคุ้มครองผู้ซื้อขายเป็นอันดับแรก และต้องทำตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ที่มีอยู่ ส่วนจะทำผิดหรือถูก ตรงนี้จะมีร่องรอย โดย ก.ล.ต.จะดำเนินการตามกฎหมายอยู่แล้ว เราไม่ได้ละเว้นหน้าที่ เพียงแต่ต้องรอข้อมูล ข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน”

กรณีผู้ประกอบการบางค่ายต้องการให้เปิดรายละเอียดทรัพย์สินลูกค้าทั้งหมด เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวว่า ตรงนี้ไม่ได้มีปัญหา ใครต้องการเปิดเผยก็ดำเนินการได้ ในส่วนของ ก.ล.ต.ก็มีกติกาอยู่ว่า ศูนย์ซื้อขายจะต้องมีการกระทบยอดทรัพย์สินออกมาด้วย

โดยเมื่อ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางสำนักงาน ก.ล.ต.ได้มีหนังสือสั่งการให้ซิปเม็กซ์ ชี้แจงรายละเอียดของเหตุการณ์อย่างครบถ้วน ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินของลูกค้าที่อยู่ภายใต้การดูแล และให้แสดงหลักฐานการนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่ฝากไว้ในโปรแกรม ZipUp ไปลงทุนในแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะ Celsius และ Babel Finance

นักลงทุนผวาขาดความเชื่อมั่น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับซิปเม็กซ์ แม้บริษัทจะระบุว่า มีปัญหาเฉพาะผลิตภัณฑ์เรียกว่า ZipUp+ ระบบซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลยังเปิดบริการปกติ แต่แน่นอนว่ากระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนตลาดคริปโตถ้วนหน้า ทำให้ Bitkub และ Satang Pro 2 ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลออกแถลงการณ์แจ้งลูกค้า

โดย Bitkub Exchange ระบุว่า บริษัทดำเนินงานตามนโยบายการจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเคร่งครัด และไม่มีนโยบายนำสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไปหาผลประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งไม่มีนโยบายนำเงินฝากของลูกค้าไปหาประโยชน์อื่นใด นอกจากการฝากไว้ที่ธนาคารเท่านั้น

เช่นเดียวกับ สตางค์โปร ที่แจ้งลูกค้าว่า สินทรัพย์ทุกประเภทรวมถึงเงินบาทของลูกค้ายังเก็บรักษาไว้อย่างปลอดภัย และบริษัทได้ดำเนินงานตามนโยบายการจัดเก็บสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างเคร่งครัด อีกทั้งการซื้อขายและฝากถอนสินทรัพย์ทุกประเภทยังสามารถดำเนินการได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดกรณีของซิปเม็กซ์ ในช่วงเย็นวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมาพบว่า หลังจากนั้นตลาดซื้อขายของซิปเม็กซ์ ก็มีนักลงทุนเข้าไปเทรดอย่างคึกคัก อย่างไรก็ตาม พบว่าส่วนใหญ่เป็นการเข้าไปขายเพื่อนำเงินออกมา รวมถึงศูนย์ซื้อขายของรายอื่น ๆ ก็พบว่ามีนักลงทุนเข้าไปเทรดมากขึ้นเพื่อขายเอาเงินออกมา

บิทคับจี้ตรวจ “กระดานเทรด”

ขณะที่นายสกลกรย์ สระกวี ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการ บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวต่อกรณีซิปเม็กซ์ว่า “สิ่งที่ ก.ล.ต.ควรทำตอนนี้ คือ สั่งตรวจสอบว่าแต่ละ exchange มีทรัพย์สิน digital assets อยู่ครบหมดจริงไหม อยู่ที่ไหนเพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนไทย ใน exchange ไทย Bitkub ยินดีให้ตรวจสอบ ยินดีช่วยเหลือ ก.ล.ต.ในการตรวจสอบอย่างโปร่งใส เพราะรายงานทุกอย่างที่เราส่ง ก.ล.ต. เป็นไปตามนั้นทั้งหมด ตรวจสอบได้”

เรียกร้อง ก.ล.ต.ปฏิบัติเท่าเทียม

แหล่งข่าวในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามเงื่อนไขของสำนักงาน ก.ล.ต.มีความชัดเจนว่า บริษัทห้ามนำเงิน หรือสินทรัพย์ของลูกค้าไปหาผลประโยชน์อื่น จึงไม่แน่ใจว่าทำไมซิปเม็กซ์ทำได้จนเกิดปัญหาดังกล่าว อีกทั้งปกติ ก.ล.ต.จะทำหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานของผู้รับใบอนุญาตโดยตลอด แต่ไม่ได้ตรวจลึก เป็นการสอบถามไปยังบริษัท และบริษัทมีหน้าที่ให้คำตอบตามความเป็นจริง

หากเกิดเหตุการณ์ใด ๆ ขึ้นก็อยู่ที่ว่า ใครโกหกใคร ถ้าเป็นผู้บริหารโกหกคนทั้งบริษัทก็เป็นความผิดผู้บริหาร ในแต่ละกรณีจึงค่อนข้างมีรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น แต่กรณีนี้ดูว่าบริษัทมีความไม่ตรงไปตรงมา ซึ่งไม่แน่ใจว่าใคร อาจเป็นฝั่งต่างประเทศ หรือฝั่งบริษัทในไทย เพราะกรณีที่เกิดขึ้นชัดเจนว่า ก.ล.ต.ไม่ให้เอ็กซ์เชนจ์เอาเงินลูกค้าไปทำอย่างอื่น เพราะเกรงว่าจะเกิดความเสียหายแบบนี้ แต่การที่ ก.ล.ต.ปล่อยให้ซิปเม็กซ์ทำได้ ถือว่าไม่แฟร์กับบริษัทที่อยู่ในธุรกิจเดียวกัน คนอื่นถ้าจะให้ดอกเบี้ยลูกค้า ต้องใช้เงินตัวเอง

“กรณีที่เกิดขึ้นส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยอย่างแน่นอน เพราะบริษัทอยู่ภายใต้การกำกับของ ก.ล.ต. ถามว่ากรณีนี้จะถึงขั้นถอนใบอนุญาตไหม ส่วนตัวมองว่า ก.ล.ต.น่าจะให้โอกาสในการแก้ตัว”

กรุงศรีเบรกลงทุนเพิ่ม

ด้านนายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด หนึ่งในบริษัทที่สนับสนุนการลงทุนใน Zipmex กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทลงทุนใน Zipmex สัดส่วนน้อยมาก ประมาณ 1% คิดเป็นเม็ดเงินไม่กี่สิบล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนโดยตรงจาก กรุงศรี ฟินโนเวต ไม่ได้เกี่ยวกับกองทุน Finnoventure Fund และบริษัทไม่ได้มีธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าธนาคารกรุงศรีอยุธยา กับ Zipmex แต่อย่างใด จึงไม่ได้มีผลกระทบมากนัก

โดยในระหว่างนี้บริษัทคงไม่ได้ลงทุนเพิ่มเติม แต่จะช่วยหาพันธมิตรที่จะเข้ามาลงทุนใหม่ ซึ่งมีนักลงทุนหลายรายให้ความสนใจ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งปัจจุบันบริการของ Zipmex กลับมาเปิดให้บริการปกติ ยกเว้น ZipUp+ และผู้บริหารบริษัทยืนยันว่าจะรีบหาเงินมาชำระลูกค้า แม้ในระยะสั้นอาจกระทบความมั่นใจของลูกค้า แต่เชื่อว่าบริษัทจะกลับมาเป็นปกติได้

“ผลกระทบเราถือน้อย เพราะ ธปท.ยังไม่อนุญาตให้เราทำเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล เราจึงลงทุนเพื่อศึกษาเทคโนโลยี ไม่ได้ลงทุนเพื่อหาผลตอบแทน จึงไม่มีธุรกรรมเกี่ยวข้องที่กระทบกับลูกค้าแบงก์ และปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจาก Zipmex แต่เป็นจาก Celsius แพลตฟอร์มกู้ยืมคริปโตที่มีปัญหา เราก็หวังว่า Zipmex จะนำเงินมาคืนเงินลูกค้าได้ รวมถึงการมองหานักลงทุนใหม่ โดยยังเชื่อว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนยังคงมีประโยชน์อยู่”

ช่องโหว่กำกับเหมือนแชร์ลูกโซ่

แหล่งข่าวตลาดทุนไทยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โมเดลการบริการ ZipUp+ กลไกเหมือน “แชร์ลูกโซ่” โดยลูกค้าจะนำเหรียญคริปโตไปฝาก และบริษัทแม่ของ Zipmex ที่ต่างประเทศจะนำเหรียญไปหาผลประโยชน์ต่อ โดยอาจจะนำเหรียญคริปโตหรือแปลงเป็นสกุลเงิน (Fiat Currency) เอาไปลงทุนกับแพลตฟอร์ม Celsius และ Babel ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ทำหน้าที่เสมือนเป็น “ตัวกลางทางการเงิน” หาคนกู้กับคนฝาก

สมมุติคนกู้ยอมจ่ายดอกเบี้ย 8-10% ต่อปี ซึ่งถ้าเหรียญเป็นขาขึ้นต่อเนื่องก็จะได้ผลตอบแทนหลายร้อยหลายพันเปอร์เซ็นต์ และแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางทางการเงินก็จะคืนผลตอบแทนกลับมาให้ Zipmex ที่ต่างประเทศ และจ่ายคืนมาให้ Zipmex ในไทย ที่การันตีผลตอบแทนลูกค้าไว้ที่ 7% แต่พอเหรียญกลับเป็นขาลง แพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลางทางการเงินลักษณะเหมือนแบงก์ เวลาเจ๊งก็ไม่มีเงินมาคืนลูกค้า

ประเด็นสำคัญตอนนี้คือ สำนักงาน ก.ล.ต.ได้ตรวจสอบการดำเนินงานดีหรือไม่ ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่หรือจุดอ่อนที่ ก.ล.ต.พลาด เพราะธุรกรรมลักษณะนี้คือการวางเหรียญในตัวกลาง และการันตีว่าตัวกลางนี้จะไม่ล้ม พอฝากไว้ครบกำหนด เช่น 15-30 วัน ได้รีเทิร์นกลับมา เหมือนเล่นวงแชร์

Zipmex เอฟเฟ็กต์ 3 บจ.

นายสุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากปัญหา Zipmex มี 3 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนทางตรง ประกอบด้วย 1.บมจ.แพลน บี มีเดีย (PLANB) โดยใส่เงินลงทุนประมาณ 70 ล้านบาท 2.บมจ.มาสเตอร์ แอด (MACO) เงินลงทุน 197 ล้านบาท และ 3.บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ใส่เงินลงทุนราว 1% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของ Zipmex

ทั้งในกรณีที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ (ดร.เอกลาภ ยิ้มวิไล) ออกมาระบุว่า เตรียมขายหุ้นไปให้กับนักลงทุนอย่างคอยน์เบส (Coinbase) ซึ่งระบุว่าได้เสนอซื้อด้วยมูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท แต่เชื่อว่าจ่ายจริงคงไม่ถึง เพราะปัจจุบันสภาพตลาดคริปโตกำลังแย่ ซึ่งถ้าได้กลุ่มทุนใหม่เข้ามาจริงก็จะสามารถชดใช้ความเสียหายให้กับนักลงทุนจากการเอาเหรียญไปฝากที่ ZipUp+ได้ ทั้ง 3 บริษัทก็คงไม่ต้องตั้งสำรองขาดทุนจากเงินลงทุนดังกล่าว แต่หากจำเป็นต้องตั้งสำรองขาดทุนจริง ๆ ก็ไม่มาก ทำให้ผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นน้อย

ขณะที่สถานการณ์ของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในช่วงนี้ประเมินว่า บริษัทที่ลงทุนขุดเหมืองคงต้องชะลอ ถ้าเกิดเจอผลกระทบ stocks loss ที่ต้นทุนขุดแพงขึ้น จากราคาสินทรัพย์ดิจิทัลปรับลดลง ประกอบกับหุ้นที่เกี่ยวข้องสินทรัพย์ดิจิทัลปรับตัวลงมามาก ฉะนั้นตอนนี้ตลาดรับรู้ไปแล้วทั้งการตั้งสำรองพิเศษ โดยตัวชี้วัดจริง ๆ ต้องประเมินจากราคาเหรียญและราคาบิตคอยน์

SCBX รัดกุมลงทุนคริปโต

ด้านนายมาณพ เสงี่ยมบุตร Chief Finance & Strategy Officer บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) และรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ปัจจุบัน SCBX มีการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านบริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB10X)

หากดูการลงทุนที่เป็นคริปโตเคอร์เรนซีโดยเฉพาะมีมูลค่าน้อยกว่า 1 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อเรียนรู้ protocal และเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีผลขาดทุนในการลงทุนส่วนนี้ เนื่องจากไม่ใช่การลงทุนเพื่อสร้างผลกำไร ดังนั้นการที่คริปโตมีความผันผวนมากในปัจจุบันจึงไม่มีผลกระทบต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าแผนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลและสตาร์ตอัพฟินเทคยังคงมีความเข้มงวด ดูเรื่องผลตอบแทนและความเสี่ยง โดย SCBX มีกระบวนการลงทุนที่รอบคอบรัดกุม โดยมีคณะกรรมการที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านการลงทุนและเทคโนโลยีที่จะมาช่วยคัดกรอง เพื่อให้แน่ใจว่าการลงทุนจะไม่รับความเสี่ยงมากเกินไป โดยมีการคัดเลือกการลงทุนด้วยความระมัดระวัง

เลื่อนดีล “บิทคับ” ไม่มีกำหนด

นายมาณพกล่าวว่า ขณะเดียวกัน SCBX เน้นการลงทุนในสตาร์ตอัพตั้งแต่ระดับ series B และ C ที่มีแผนการดำเนินงานและผลตอบแทนการลงทุนชัดเจน ไม่เน้นลงทุนในสตาร์ตอัพ early stage ดังนั้นความเสี่ยงจึงไม่ได้มีมากเกินไป แต่ยอมรับว่ามีความผันผวนในระยะสั้น แต่ยังมั่นใจว่าวิสัยทัศน์ในระยะยาวที่จะผันตัวเองไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยีในอนาคตยังเป็นไปตามเป้าหมาย และปัจจุบันการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลก็ยังไม่ได้มีผลกระทบต่อภาพรวม และความเสี่ยงยังอยู่ในกรอบที่ประเมินไว้ โดยจะเห็นว่ากำไรในไตรมาสที่ 2 ของ SCBX ยังเติบโตถึง 14%

สำหรับความคืบหน้าการลงทุนในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bikub) ปัจจุบันยังเป็นไปตามที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่อยู่ระหว่างกระบวนการสอบทานธุรกิจ (due diligence) โดยได้ขอเลื่อนกำหนดวันเสร็จสิ้นไปก่อน และขณะนี้ยังไม่มีพัฒนาการเพิ่มเติม

“บิทคับตอนนี้ก็เหมือนที่แจ้ง ตลท.ว่า ขอเลื่อนกรอบเวลาไปก่อน ส่วนในอนาคตจะลงทุนอะไร แบบไหน ก็คงต้องประเมินดูผลตอบแทนและความเสี่ยง ซึ่งภายใต้ SCBX เรามีกระบวนการลงทุนที่รัดกุมและเข้มงวด และหลังจากนี้จะเข้มงวดเพิ่มขึ้น”

อุตฯคริปโตขาลง-จับตาลดคน

แหล่งข่าวตลาดทุนไทยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัว ตอนนี้ในต่างประเทศบรรดาบริษัทรับจำนำเหรียญ หรือรับฝากเหรียญคริปโตเคอร์เรนซี ก็เริ่มปรับลดพนักงานลงมาประมาณ 10-30% ขณะที่ในประเทศไทย บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด ถึงขนาดจะต้องขายกิจการบางส่วนเพื่อนำเงินมาชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งแนวทางนี้จำเป็นจะต้องลดคนออกไป

ขณะเดียวกัน บรรดาบริษัทอื่น ๆ ที่ใกล้เคียงกันคงหนีไม่พ้น แม้ว่าคู่แข่งจะลดน้อยลง แต่ก็กดดันเพราะตลาดหดตัวลงไปมาก จึงต้องลดขนาดองค์กรลงด้วย ถือเป็นช่วงขาลงของอุตสาหกรรมนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่แค่คริปโต แต่รวมถึงหุ้นด้วยจากวอลุ่มเทรดน้อย ทำให้บรรดาบริษัทที่สนใจจะลงทุนในอุตสาหกรรมเหล่านี้น่าจะชะลอการลงทุนออกไป

ก.ล.ต.วัวหายล้อมคอก

แหล่งข่าวรายนี้กล่าวอีกว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ต้องมีการวางเงินในการขอไลเซนส์ เพื่อรองรับหากกรณีเจ๊งหรือต้องปิดกิจการไป สามารถถอนเงินก้อนนี้มาชดใช้ให้ลูกค้าได้ แต่ไม่แน่ใจว่าบริษัทที่ทำธุรกิจคริปโตทั้งหลายมีการวางเงินด้วยหรือไม่ และถ้ามี มีเท่าไหร่ ซึ่งถ้ามีการวางเงินลักษณะนี้ก็น่าจะยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบได้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของบริษัทระบุว่า มีทุนจดทะเบียน 241 ล้านบาท และมีเงินสดในธนาคาร 50 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นเกือบ 2,000 ล้านบาท

เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ และมีข้อเรียกร้องต้องรีบให้ไลเซนส์ไม่เช่นนั้นจะแข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ จึงไม่แปลกที่หน่วยงานกำกับอาจจะมีความหละหลวม และต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ คือต้องเกิดเรื่องก่อนถึงจะเรียนรู้ ซึ่งอาจเป็นเรื่องปกติในช่วงเริ่มต้นของอุตสาหกรรมต่าง ๆ

โดยอุตสาหกรรมดิจิทัลแอสเซตเหมือนภาพจำแลงของอุตสาหกรรมการเงินและการลงทุนปัจจุบัน เพียงแต่คนละแอสเซต แต่โดยกลไกคล้ายกัน ดังนั้นเป็นช่วงเริ่มต้นต้องให้เวลาสำนักงาน ก.ล.ต. ส่วนการเข้าไปล้วงข้อมูลเงินในแต่ละเอ็กซ์เชนจ์ จริง ๆ ก็ควรจะต้องทำ ซึ่งคาดว่า ก.ล.ต.น่าจะกำลังเริ่มดำเนินการอยู่ เหมือนวัวหายล้อมคอก

โดมิโนเอฟเฟ็กต์คริปโตขาลง

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า โมเดลการให้บริการ ZipUp+ ถามว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ต้องบอกว่ายังไม่มีกฎหมายรองรับมากกว่า และยังไม่รู้ว่าประเภทธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย อยู่ภายใต้การกำกับของใครระหว่าง ก.ล.ต. หรือ ธปท. เพราะธุรกิจอาจจ่ายดอกเบี้ยเป็นเหรียญ เป็นโทเค็นก็ได้

ธุรกิจในลักษณะการให้ดอกเบี้ย แปลว่าต้องไปลงทุน ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยที่จะจ่าย ซึ่ง Zipmex ไม่ได้ลงทุนในภาคธุรกิจจริง จึงให้ความรู้สึกเหมือน “แชร์บ้านออมเงิน” เป็นกลไกลงทุนเป็นทอด ๆ และปัญหาคืออุตสาหกรรมนี้ไม่ได้เล่นกันแค่เบา ๆ มี leverage ให้สูง 5 เท่า โดยไปเล่นเก็งกำไร 10-100 เท่า กลายเป็นทวีความเสี่ยงขึ้นไปเรื่อย ๆ และเมื่อเกิดการล้มก็กลายเป็นลูกโซ่จนกลายเป็นโดมิโนเอฟเฟ็กต์ ซึ่งจริง ๆ จุดเริ่มต้นมาจาก Terra ตามมาด้วย Luna และการพังทลายของเหรียญ UST และลามมาด้วย Celsius เพราะเป็นทอดฝาก ๆ ไปเรื่อย ๆ และสุดท้ายห่วงโซ่ที่พังลงก็เพราะไปลงทุนเพื่อหวังดอกเบี้ย

ตอนนี้ก็ต้องระวังไบแนนซ์ (Binance) เพราะตอนนี้ลูกค้านำเงินไปฝากไว้ค่อนข้างมาก ดังนั้นต้องพิจารณาว่า ไบแนนซ์นำเงินไปลงทุนที่ไหน เพราะทุกอย่างเชื่อมกันเป็นลูกโซ่ เป็นวงจร และเมื่อถึงคราวก็จะระเบิดเป็นทอด ๆ ไปอีก