เจาะลึก DR เครื่องมือลงทุนต่างประเทศ ตอบโจทย์นักลงทุนยุคใหม่

เจาะลึก DR เครื่องมือลงทุนต่างประเทศ ตอบโจทย์นักลงทุนยุคใหม่ กับ “รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง

วันที่ 19 กันยายน 2565 การลงทุนผ่าน DR หรือตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งกำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นตัวช่วยการลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่ง่าย สะดวก และผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่เชื่อว่าหลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่า DR คืออะไร

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” พานักลงทุนมาทำความเข้าใจการลงทุนหุ้นต่างประเทศผ่าน DR ให้ละเอียดมากขึ้นไปกับ “รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) มานำเสนอ

Q: DR คืออะไร มีกลไกการทำงานอย่างไร

DR ก็คือเป็นตราสารนะ จริง ๆ ถามว่าเป็นหุ้นไหม ไม่ใช่หุ้นนะครับ แต่ว่าในแง่ของสินทรัพย์ปลายทางที่ไปลงทุน มันอาจจะไปจบที่หุ้น  หลักการก็ง่าย ๆ ครับ DR เหมือนเป็นหลักทรัพย์ที่มาจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทย ผู้ซื้อที่ลงทุนใน DR ก็จะเสมือนได้ซื้อหลักทรัพย์ต่างประเทศ เพราะฉะนั้น หลักการจริง ๆ แล้วเนี่ย การลงทุนใน DR จึงเปรียบเสมือนที่นักลงทุนสามารถถือครองหลักทรัพย์ต่างประเทศในทางอ้อม เพราะฉะนั้น ตัวนี้ก็เป็นข้อดีที่ทำให้นักลงทุนไทยสามารถใช้แอปพลิเคชั่นตัวสตรีมมิ่ง หรือว่าซื้อขายผ่านบัญชีหุ้นไทย แต่สามารถลงทุนในหุ้นต่างประเทศไทยได้

ความน่าสนใจก็คือว่า เวลาเราลงทุนผ่าน DR จริง ๆ แล้วขึ้นชื่อว่าเป็นหลักทรัพย์ต่างประเทศ แต่เราสามารถลงทุนได้ด้วยสกุลเงินบาท แล้วข้อดีของ DR อีกข้อหนึ่งเนี่ย เมื่อเทียบกับการลงทุนผ่านกองทุนรวม ก็คือว่า DR จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทย ก็เลยทำให้เราสามารถซื้อขายหลักทรัพย์ประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสินทรัพย์อ้างอิงของ DR ได้แบบเรียลไทม์ และหน่วยลงทุนขั้นต่ำจริง ๆ ก็ค่อนข้างต่ำด้วยครับ ใช้เงินน้อยในการลงทุน ขั้นต่ำ 10,000 บาท ก็ลงทุนได้แล้ว

โดยปกติแล้วถ้าเราไปลงทุนที่อิงกับหลักทรัพย์ต่างประเทศ DR ตัวนี้ผู้ออก อย่างกรณีหลักทรัพย์บัวหลวงเราจะไม่ได้มีการเก็บค่าธรรมเนียมการจัดการเพิ่มเติม เพราะงั้นตรงนี้เองก็เป็นอะไรที่ผมว่าดี ถ้าเทียบกับการลงทุนผ่านกองทุน ที่บางทีแล้วตัวของกองทุนมีการเก็บค่าธรรมเนียม และก็ตัวของหลักทรัพย์อ้างอิงปลายทางก็มีการเก็บค่าธรรมเนียมอีกทอดหนึ่ง เพราะฉะนั้น ค่าธรรมเนียมก็จะมี 2 ทอด ก็จะสูงกว่า

Q: DR เหมาะกับนักลงทุนแบบไหน แล้วก็ถ้าจะเข้าไปลงทุนมีความเสี่ยงอะไรที่ต้องระมัดระวัง

ผมว่าเหมาะกับนักลงทุนทุกประเภท แต่ถ้าเกิดให้จำกัดเลือกสักประเภทหนึ่ง ผมก็คิดว่านักลงทุนรายย่อยทุกท่านนี่แหละ ผมว่าเป็นอะไรที่เหมาะสมมากที่มีบัญชีหุ้นไทยนะครับ และก็ใช้เงินลงทุนน้อยด้วย จริง ๆ อย่าง DR เนี่ยตัวหนึ่งใช้เงิน 10 บาทก็ลงทุนหุ้นต่างประเทศได้แล้วนะ แต่ว่าอย่างที่เรียนครับ ความเสี่ยงมีแน่นอนเหมือนกัน ผมว่าการลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยงหมด แต่ว่าคีย์สำคัญ หรือว่าจุดสำคัญของเราก็คือว่าเราสามารถรับความเสี่ยงนั้นได้ด้วยการที่เรามีความรู้ครับ

ในกรณีของ DR เองความเสี่ยงที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เราน่าจะต้องรับรู้ไว้นะครับ เรื่องแรกก็คือเป็นเรื่องของความเสี่ยงในเรื่องของผู้ออกตราสาร ซึ่งในกรณีนี้ก็คือหลักทรัพย์บัวหลวง ถ้าเกิดเป็น DR ของบัวหลวง อย่างบัวหลวงของเราเรตติ้งเป็น AA จาก TRIS และก็มีธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และจริง ๆ เราเป็นคนที่ดำเนินการด้านตลาดทุน เพราะฉะนั่นกว่า 99% ผู้ถือหุ้นก็คือเรา เป็นบริษัทในเครือธนาคารกรุงเทพนั้นแหละ เพราะฉะนั้นมีความมั่นคงอยู่แล้ว

ประเด็นที่สองก็คือ ความผันผวนของราคาของทั้งสินทรัพย์อ้างอิงและตัว DR เอง ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าเป็นความเสี่ยงทั่วไป คล้าย ๆ กับความเสี่ยงของหุ้น ประเด็นที่สามที่ผมว่าที่จะเพิ่มขึ้นมาและต้องเรียนให้ทุกท่านรับทราบ คือเวลาที่เราลงทุนในหุ้นต่างประเทศ เนื่องจาก DR เองไม่ได้มีการป้องกันความเสี่ยง เพราะฉะนั้น ความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มันจะเพิ่มขึ้น มากกว่าการที่เราลงทุนในหุ้นในประเทศ แต่ว่าข้อดีก็คือว่า ถ้าใครได้ลงทุนใน DR หุ้นอเมริกา หรือหุ้นเวียดนามเองก็ตาม ในช่วงปีที่ผ่านมาจะพบว่าค่าเงินบาทอ่อนค่า จริง ๆ ถ้าไปดูจากปีนี้ ดูจากจุดต่ำสุดของปีนี้นะครับ จะพบเลยว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐที่ 13-14% แปลว่าถ้าเราลงทุนถ้าหุ้นขึ้นมา 5% เราจะได้บวกไปอีก 13-14% เลยปิดเด้งหนึ่งจากค่าเงินด้วย

ฉะนั้น ประเด็นตรงนี้ผมคิดว่าแต่ในทางกลับกัน ถ้าบาทแข็งเราก็มีโอกาสที่จะขาดทุนจากค่าเงิน ต้องเรียนว่าก็เป็นความเสี่ยงที่ต้องพิจารณา สุดท้ายก็คือเป็นเรื่องของความเสี่ยงด้านสภาพคล่องการซื้อขายของตัว DR เนื่องจากว่าตัวของ DR จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทย แต่ว่าหลักทรัพย์อ้างอิงจดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นต่างประเทศ เพราะฉะนั้น บางทีตลาดหุ้นต่างประเทศเวลาเปิดทำการเขาไม่ตรงกับบ้านเรา พอไม่ตรงกับบ้านเราก็อาจจะมีช่วงที่ทำให้สภาพคล่องในการซื้อขายมันอาจจะไม่ได้

เพราะโดยหลักการคือ ผู้ออกหลักทรัพย์บัวหลวงเวลาเราจะเป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง เราก็ต้องมีการไปซื้อหลักทรัพย์อ้างอิงนั้นในตลาดต่างประเทศ ทีนี้ถ้าตลาดหุ้นไทยเปิด แต่ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศปิด เราผู้ออกก็ไม่สามารถไปซื้อหลักทรัพย์อ้างอิงนั้นได้ เพราะฉะนั้นในบางช่วงมันก็จะมีช่วงที่สภาพคล่องการซื้อขายในตัว DR อาจจะไม่ได้สูงนัก ก็จะแนะนำว่าให้ลงทุนในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศเปิดตรงกัน

Q : การลงทุนใน DR เป็นการลงทุนในต่างประเทศ ทีนี้ทางบัวหลวงเองมีมุมมองต่อการลงทุนในต่างประเทศตอนนี้อย่างไรบ้าง

อาจจะฉายภาพสั้น ๆ นะครับว่า จริง ๆ เศรษฐกิจสหรัฐและก็ในสามประเทศที่เป็นตัวหลักทรัพย์อ้างอิงอยู่ในตัว DR ของเรา อย่างตัวแรกนะครับ ภาพรวมเศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐก็จะเห็นเลยว่ากราฟเส้นสีส้ม ๆ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐปรับตัวลดลงมา แต่ว่ากำไรต่อหุ้นยังลงมาไม่ค่อยเยอะ จุดที่น่าสนใจคือคาดการณ์ตอนนี้เขามองว่ากำไรต่อหุ้น หรือว่า Earnings ในสหรัฐอเมริกามีโอกาสที่จะชะลอตัวลงในไตรมาส 3 ไตรมาส 4 ปี 2565 นี้

แต่จุดที่น่าสนใจกว่าคือ ผมอยากให้ดูเส้นสีน้ำเงินข้างล่างนี้นะครับ จะเห็นว่าการประเมินมูลค่า (Valuation) ตอนนี้ P/E ของดัชนี S&P500 ของอเมริกา อยู่ 17 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 5 ปี ที่อยู่ที่ 20 เท่าพอสมควรเลย เพราะฉะนั้น ถ้าเรามองว่าภาพยาว ๆ ในแง่ของการทยอยการลงทุน ผมคิดว่าจุดนี้เป็นจุดที่ผมว่าอาจจะเริ่มทยอยสะสมหุ้นสหรัฐอเมริกาได้ผ่านตัว DR ตอนนี้เศรษฐกิจสหรัฐยังมีปัจจัยที่ต้องติดตามอีกเรื่องหนึ่งด้วยก็คือ การเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐในช่วงปลายปี ก็เป็นประเด็นที่ต้องไปติดตามนะครับ

ส่วนในประเด็นของตลาดหุ้นจีน ฮ่องกง ทุกท่านก็จะเห็นว่าจีน ฮ่องกงเป็นอะไรที่สวนทางกับทางสรัฐอเมริกานะครับ เพราะว่าสหรัฐอเมริกาทยอยขึ้นดอกเบี้ย แต่รัฐบาลจีนทยอยลดดอกเบี้ย ถ้าดูจากไทม์ไลน์ที่ผมให้เห็นจะเห็นว่าเขาทยอยลดดอกเบี้ยเงินกู้ ดอกเบี้ยต่าง ๆ ทยอยลดลงมาโดยตลอด และดูในแง่ของการประเมินมูลค่า (Valuation) จะเห็นว่าหุ้นจีนเองก็ถูกเหมือนกันนะครับ P/E อยู่ 13 เท่า เท่านั้นเอง ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตเล็กน้อย แต่ตรงนี้ถ้ามองในเชิงเปรียบเทียบหุ้นจีน P/E 13 เท่า  เทียบกับหุ้นอเมริกา 17 เท่า ซึ่งจีนตอนนี้เป็นอะไรที่ต้องบอกว่าค่อนข้างถูกมาก

ผมว่าประเด็นเศรษฐกิจจีนอันหนึ่งที่เป็นจุดที่อาจจะทำให้ได้เปรียบสหรัฐอเมริกา ก็คือเงินเฟ้อเขายังไม่สูงครับ แต่ประเด็นที่ต้องติดตามก็คือ ในเดือน ต.ค.นี้เหมือนกัน ก็จะเป็นเรื่องของการประชุมว่าคุณสี จิ้นผิง จะได้ต่อประธานาธิบดีวาระที่ 3 ไหม ซึ่งก็คงต่ออยู่แล้ว  แต่เราก็คงไปดูว่ามันจะมี statement มีคำพูดหรือมีทิศทางอะไรที่ออกมาเพื่อช่วยหนุนภาพรวมเศรษฐกิจของจีนหรือเปล่า

สุดท้ายครับ ก็จะเป็นหุ้นเวียดนาม เศรษฐกิจเวียดนาม อันนี้ผมต้องบอกว่าเศรษฐกิจเขาแข็งแกร่ง แล้วก็ทุกคนคงไม่มีใครเถียงนะครับว่า เศรษฐกิจเวียดนามแกร่งมากนะครับ แล้วเราก็เสียวสันหลังนะครับ เหมือนกับมีคนวิ่งไล่ตามเราอยู่ตลอดนะใช่ไหมครับ ก็อยู่ข้าง ๆ เรานี่เองประเทศนี้ ก็ถือว่าเขาเติบโตมาได้ดีมากนะครับ มองในเชิงการประเมินมูลค่า (Valuation) ของดัชนี VN300 ซึ่งเป็นดัชนีหลักของหุ้นเวียดนามเอง ถูกมาก ๆ P/E 11 เท่า forward P/E นะ เทียบกับค่าเฉลี่ย 16 เท่า ผมว่าถูกมาก ๆ

แล้วก็ล่าสุดเขาก็มีการปรับเรื่องของ SETTLEMENT ในตลาดหุ้นเวียดนาม ก็เป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติที่เขาอยากจะเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ถ้าระบบเขาสามารถทำวันชำระราคาและส่งมอบ  (Date Settlement) ได้ ผมเชื่อว่าจะมีนักลงทุนต่างชาติอยากเข้าไปลงทุนในเวียดนาม มีกองทุนบริหารความเสี่ยง (Hedge Fund) มีอะไรต่าง ๆ ตลาดเขาจะคึกคักยิ่งกว่านี้อีก เพราะฉะนั้น ตรงนี้ก็เป็นปัจจัยที่เป็นอัพไซซ์ของตลาดหุ้นเขาที่เราน่าติดตามครับ

อันนี้ผมลองจัดพอร์ตมาให้ดูนะครับ เป็นพอร์ตระยะยาว (long term port) นะครับ ก็ลองจัดเวียดนามสัก 30% จีน 30% สหรัฐ 40% พอมาดูผลตอบแทนย้อนหลังนะครับ ก็จะเห็นเลยนะครับว่าเส้นสีน้ำเงิน อันนี้คือตัว long term นะครับ ทำผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปี จะเห็นว่าผลตอบแทนอยู่ถึง 75% เลย อันนี้จะเห็นเลยว่าเป็นข้อดีของการที่เรารู้จัดการกระจายการลงทุนไปยังต่างประเทศนะครับ

ก็จะช่วยให้สร้างผลตอบแทนของพอร์ตเราในระยะยาวนะครับได้ดียิ่งขึ้น และผมว่ามีอีกวิธีหนึ่งที่ผมอยากแนะนำก็คือว่า การลงทุนใน DR  สามารถลงทุนด้วยวิธี DCA ก็ได้ คือเราสามารถลงทุนแบบทุกเดือน หลายคนบอกว่าตอนนี้ดอกเบี้ยต่ำ ธนาคารฝากเงินแบงก์ได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เรามาออมในหุ้นกินส่วนต่างเหล่านี้ มีโอกาสเติบโตได้ดีกว่า