ส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-สหรัฐ กว้างสุดตั้งแต่วิกฤตซับไพรม-SET ผันผวนช่วงสั้น

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

บล.เอเซีย พลัส เผยส่วนต่างดอกเบี้ยไทย-สหรัฐ กว้างสุดนับตั้งแต่วิกฤตซับไพรม ห่างถึง 2.5% หลังเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยรอบนี้ 0.75% และแรงกดดันเร่งขึ้นดอกเบี้ยเฟดในช่วงที่เหลือของปี บวกกับความกังวลเร่งขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.ในสัปดาห์หน้า 0.5% เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพเงินบาท น่าจะกดดันให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาผันผวนในช่วงสั้น

วันที่ 22 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด รายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ตามตลาดคาด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐปรับขึ้นจาก 2.25-2.50% เป็น 3.00-3.25% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยยังอยู่ที่ 0.75% ส่งผลให้ส่วนต่าง (Spread) อัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐ-ไทย ห่างมากขึ้นถึง 2.5% กว้างสุดนับตั้งแต่วิกฤตซับไพรม

ในการประชุมครั้งนี้ เฟดได้ส่งสัญญาณในปลายปี’65 ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 4.5% (ตัวเลข Dot-Plot) ซึ่งสูงกว่าที่คาดไว้ 3.4% ในเดือน มิ.ย. ขณะที่นักวิเคราะห์ก็ต่างคาดว่าเฟดจะยังคงขึ้นดอกเบี้ยต่อ แต่อัตราเร่งอาจจะชะลอลง โดยเมื่อดูจาก Fed Watch Tool จะเห็นได้ว่ามีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน พ.ย. และ ธ.ค. 65 ครั้งละ 0.75% และ 0.5% ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยปลายปีของสหรัฐจะอยู่ที่ 4.50% อย่างไรก็ตาม เฟดยังคงมุ่งมั่นที่จะลดอัตราเงินเฟ้อให้กลับมาอยู่ที่เป้าหมาย 2% ทำให้เฟดมองว่าในปี’66 อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง +4.6%

โดยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดรอบนี้กดดันตลาดหุ้นไทยผันผวนช่วงสั้น แนะนำ BBL, BLA, ERW โดยจากตัวเลข Dot-Plot ปลายปี’65 ดอกเบี้ยสหรัฐมีโอกาสขึ้นมาอยู่ที่ 4.5% และภายใต้ถ้าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ขึ้นดอกเบี้ยปลายปีอยู่ที่ (1.25-1.5%) กดดันให้ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐกว้างขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าขึ้นได้เช่นกัน ล่าสุดทะลุ 37 บาทต่อเหรียญ ซึ่งเป็นการอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี

ดังนั้นแรงกดดันการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่เหลือของปี บวกกับความกังวลการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ กนง.ในสัปดาห์หน้า 0.5% เพื่อช่วยสร้างเสถียรภาพเงินบาท น่าจะกดดันให้ตลาดหุ้นไทยกลับมาผันผวนในช่วงสั้น