คลังเผยแบงก์รัฐเตรียมออกมาตรการพิเศษ ในงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้

คลังเผยแบงก์รัฐเตรียมออกมาตรการพิเศษ ในงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้
ภาพจาก pixabay

รมว.คลัง จับมือ ธปท. จัดงานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ชี้แบงก์รัฐเตรียมออกมาตรการพิเศษ หนุนลูกหนี้เข้าร่วมโครงการ พร้อมช่วยปรับโครงสร้างหนี้ จัดสินเชื่อ เป็นที่ปรึกษา เสริมทักษะทางการเงิน 

วันที่ 26 กันยายน 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดโครงการ มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน ซึ่งดำเนินการตามนโยบายนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดให้ปี 2565 นี้ เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้

โดยในส่วนของสถาบันการเงินของรัฐจะมีแพ็กเกจมาตรการพิเศษออกมาตามการออกแบบของแต่ละสถาบันการเงิน เพื่อให้ลูกหนี้สมัครใจที่จะเดินเข้ามาร่วมโครงการ

“รูปแบบของโครงการดังกล่าว เบื้องต้น จะเป็นการเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ ให้สินเชื่อ มีที่ปรึกษาทางการเงิน และมีการดูแลในเรื่องบัตรเครดิตด้วย ทั้งนี้ ลูกหนี้ที่ต้องการปรับโครงสร้างหนี้ สามารถเข้ามาเจรจาพักหนี้ หรือขยายเวลาการผ่อนชำระหนี้ได้ ทั้งในส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้น จากเดิมที่จะต้องเดินทางไปที่สาขาแบงก์เท่านั้น”

ทั้งนี้ ในวันที่ 26 ก.ย.นี้ จะมีการแถลงข่าวการเข้าไปช่วยเหลือแก้หนี้ในรูปแบบระบบออนไลน์ ซึ่งดำเนินการโดยธปท. และในส่วนของกระทรวงการคลังจะมีการสัญจรไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ระหว่างเดือน พ.ย. 65-ม.ค. 66 เพื่อให้คำปรึกษาประชาชน ซึ่งจะมีทั้งการเจรจาแก้ปัญหาหนี้เดิม ให้คำปรึกษาเสริมทักษะด้านการเงิน และให้สินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่จำเป็น เป็นต้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การจัดมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ จะจัดแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ธปท.และคลังร่วมเป็นเจ้าภาพ โดยจะเปิดให้แก้หนี้ให้กับลูกหนี้ทั้งธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงนอนแบงก์ ให้เข้ามาแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมมาตรการผ่านการลงทะเบียนทางช่องทางออนไลน์ ส่วนที่สองจะเป็นมหกรรมแก้หนี้สัญจร ซึ่งมีคลังและสถาบันการเงินของรัฐ 7 แห่ง และหน่วยงานอื่น เช่น กองทุนการออมแห่งชาติร่วมดำเนินการ

โดยประเดิมจัดครั้งแรกที่กรุงเทพฯ มีออมสินเป็นเจ้าภาพ จากนั้นจะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนเจ้าภาพกระจายไปตามภูมิภาคอื่นอีก 4 ครั้ง เพื่อเน้นลงพื้นที่ช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของธนาคารรัฐที่อยู่หลายล้านราย ทั้งประชาชน เกษตรกร รวมถึงเอสเอ็มอีรายย่อยให้เข้าถึงการแก้หนี้ รองรับความผันผวนจากดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคต

สำหรับแนวทางจะคล้ายกับที่กระทรวงยุติธรรมทำ ซึ่งเปิดให้ประชาชนเข้ามาไกล่เกลี่ยหนี้ แต่ของคลังจะขยายแนวทางช่วยเหลือมากกว่า พร้อมกับมีมาตรการพิเศษ 4-5 รูปแบบ ได้แก่ มาตรการพักหนี้ปรับโครงสร้างหนี้ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพื่อนำไปใช้หมุนเวียนหรือเริ่มต้นอาชีพ การส่งเสริมการออมด้วยเงินฝากดอกเบี้ยสูง การให้คำปรึกษาด้านการเงินรูปแบบต่าง ๆ

และสุดท้ายการลงไปช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้าน โดยตอนนี้คลังได้ให้การบ้านแต่ละสถาบันการเงิน ไปคิดแพ็คเกจสำหรับช่วยเหลือลูกหนี้เพื่อให้นำกลับมาเสนออีกครั้งก่อนถึงมหกรรมสัญจรเดือนพ.ย.นี้

ทั้งนี้ สถาบันการเงินรัฐ 7 แห่งประกอบด้วย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ออกมาตรการช่วยเหลือ