
คลังชี้ปีงบประมาณ 2566 เลิกกู้ “กฎหมายพิเศษ” รับมือความท้าทาย “ดอกเบี้ยขาขึ้น-ตลาดการเงินเปราะบาง” ยันใช้ทุกเครื่องมือบริหาร แจง พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมอนุมัติเต็มเพดาน 5 แสนล้านบาทแล้วกฎหมายหมดอายุสิ้น ก.ย.นี้ เดินหน้าประเมินผลการใช้เงินกู้ต่อไป
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ คาดว่าแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ปีงบประมาณ 2566 ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป น่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)
เพื่อพิจารณาอนุมัติได้ โดยในปีงบประมาณ 2566 จะไม่มีการกู้เงินตามกฎหมายพิเศษแล้ว เนื่องจากพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.นี้
ดังนั้น หลัก ๆ จะเป็นการบริหารการกู้เงินเพื่อกู้ชดเชยขาดดุลงบประมาณเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในปีงบประมาณ 2566 นี้ จะมีความท้าทายการบริหารจัดการเงินกู้ เพราะเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งในช่วงที่ตลาดการเงิน ยังมีความเปราะบางนี้ สบน. จะใช้ทุกเครื่องมือในการบริหารหนี้
โดยพันธบัตรรัฐบาล ยังเป็นเครื่องมือหลัก ต่อมา คือ พันธบัตรออมทรัพย์ ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 นั้น มีแผนที่จะออกบอนด์ออมทรัพย์ครั้งแรกช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.ปีนี้ นอกจากนี้ ก็มีเครื่องมือตั๋วเงินคลัง และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น
“ปีที่ผ่านมา เรามีการปรับแผนเงินกู้ เพื่อรองรับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น จากการคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ค่อนข้างเยอะ เพื่อที่จะได้ล็อกต้นทุนที่อาจจะเพิ่มสูงขึ้น จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น แต่อัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ก็ยังมีอยู่
ซึ่งเมื่อเราได้งบชำระหนี้มา ก็จะต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรให้คุ้มค่าสูงสุด ซึ่งตลาดการเงินก็ยังเปราะบางพอสมควร ดังนั้น เราจะใช้ทุกเครื่องมือในการบริหารหนี้ และสร้างความสมดุลให้มากที่สุด” นางแพตริเซียกล่าว
นางแพตริเซียกล่าวอีกว่า เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 500,000 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ถือว่าเต็มเพดานแล้ว ตามที่ ครม. ได้อนุมัติกรอบวงเงินไป 499,000 ล้านบาท และทาง สบน. ได้ดำเนินการกู้เงินไปแล้ว 450,598 ล้านบาท ซึ่งในช่วงก่อน พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม จะสิ้นสุดนั้น สบน.จะเข้าไปพิจารณารายละเอียดวงเงินของโครงการต่าง ๆ เพื่อทำสัญญาเงินกู้ไว้ รอเบิกจ่ายต่อไป โดยจะทยอยกู้ให้ตามความต้องการใช้เงิน
“ที่ผ่านมา แม้ ครม.จะอนุมัติไปแล้ว 499,999 ล้านบาท แต่เรายังไม่ได้กู้เต็ม ซึ่งวงเงินที่เหลืออยู่ เราจะทำสัญญาเงินกู้ไว้ โดยจะต้องลงนามในสัญญาภายในวันที่ 30 ก.ย. นี้ ส่วนจะใช้วงเงินกู้เมื่อไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการใช้เงินของโครงการนั้น ๆ อย่างไรก็ดี ตามระเบียบการใช้เงินกู้ ต้องเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.2565 นี้ แต่หากมีความจำเป็นที่จะขยายเวลาการใช้เงินของโครงการออกไปอีก ก็มีช่องให้สามารถทำได้” นางแพตริเซียกล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการคลัง และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้ ซึ่งมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
“ตอนนี้ คณะกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ ได้มีการประเมินผลการใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่สิ้นสุดไปก่อนหน้านี้แล้ว จะมีการรายงานผลให้ ครม. รับทราบ คาดว่าจะเป็นในวันที่ 27 ก.ย.นี้เช่นกัน จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร
ซึ่งจากการประเมินโครงการต่าง ๆ ก็ออกมาค่อนข้างดี สามารถลดผลกระทบของประชาชนในช่วงโควิดได้เป็นอย่างดี ส่วน พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท จะมีการประเมินผลต่อไป” ผู้อำนวยการ สบน.กล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังได้เสนอแผนบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 เพื่อให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา โดยตามแผนจะมีการก่อหนี้ใหม่ทั้งของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจรวมกันกว่า 1 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับปีงบประมาณ 2565 เนื่องจากในปีงบประมาณ 2566 รัฐบาลมีการจัดทำงบประมาณขาดดุลอีก 6.95 แสนล้านบาท
นอกจากนี้รัฐวิสาหกิจหลายแห่งยังมีความต้องการใช้เงินกู้กันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีแผนกู้เงิน 8.5 หมื่นล้านบาท เพื่อบริหารภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) รวมถึงรัฐวิสาหกิจอีกหลายแห่งที่ขอกู้เงินเพื่อบริหารสภาพคล่อง
รวมถึงยังมีความต้องการกู้เพื่อดำเนินโครงการลงทุนต่อเนื่องมาจากปีงบประมาณ 2565 อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ, โครงการขยายรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ, โครงการสนามบินอู่ตะเภา โครงการรถไฟฟ้าสีต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง โครงการลงทุนของการเคหะแห่งชาติ รวมถึงโครงการสร้างถนนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท เป็นต้น
แหล่งข่าวกล่าวว่า ภายใต้แผนดังกล่าวจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2566 อยู่ระดับใกล้เคียง 65% ต่อจีดีพี ซึ่งยังไม่เกินกรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดหนี้สาธารณะต้องไม่เกิน 70% ของจีดีพี