กนง. มติเอกฉันท์ ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็น 1% แบงก์ปรับขึ้นทันที

กนง แบงก์ชาติ ดอกเบี้ย
อัพเดตข้อมูลล่าสุด วันที่ 28 กันยายน 2565 เวลา 18.03 น.

กนง.มีมติเอกฉันท์ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็นครั้งที่ 2 ของปี ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเป็น 1% มีผลทันที พร้อมคาดการณ์จีดีพีปี 2565 อยู่ที่ 3.3% ปี 2566 อยู่ที่ 3.8% แบงก์กรุงเทพนำร่องขึ้นดอกเบี้ยกู้-ฝาก มีผลทันที 29 ก.ย.นี้ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดแบงก์ขึ้นดอกเบี้ยตามหลัง กนง. เฉลี่ย 0.125-0.25%

วันที่ 28 กันยายน 2565 นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง.ในวันนี้ว่า คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 1.00 ต่อปี โดยให้มีผลทันที

พร้อมให้เหตุผลว่า เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังอยู่ในระดับสูง จากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แม้แรงกดดันด้านอุปทานจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มคลี่คลาย ในภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อใกล้เคียงกับที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้า

คณะกรรมการเห็นว่าการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังเป็นแนวทางการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี ในการประชุมครั้งนี้

คาดจีดีพีปี 2565 โต 3.3% ปีหน้าขยายตัว 3.8%

ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.3 และ 3.8 ในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ ตามแรงส่งของภาคท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความทั่วถึงมากขึ้น ทั้งในมิติของสาขาธุรกิจโดยเฉพาะภาคบริการและในมิติของรายได้ที่เริ่มกระจายตัวดีขึ้น

ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงกว่าคาด ส่งผลต่อภาคการส่งออก แต่ไม่ได้กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 6.3 และ 2.6 ตามลำดับ โดยมีแนวโน้มปรับลดลงตามราคาน้ำมันโลก และปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ทยอยคลี่คลาย ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.6 และ 2.4 ตามลำดับ โดยโน้มสูงขึ้นจากการส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ด้านค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้นในบางภาคธุรกิจและบางพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงาน แต่ยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มขึ้นในวงกว้าง

นอกจากนี้ แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังมีจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย คณะกรรมการจะติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นหากผู้ประกอบการเผชิญกับแรงกดดันด้านต้นทุนหลายด้านพร้อมกัน

เดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้ ดูแล SMEs-ครัวเรือนรายได้น้อย

ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ในบางสาขาธุรกิจที่ฟื้นตัวช้าและครัวเรือนรายได้น้อยบางกลุ่มที่ยังอ่อนไหวต่อค่าครองชีพ คณะกรรมการเห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุด และแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง

ขณะที่ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทยอยปรับสูงขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนโดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบ
ดอลลาร์สหรัฐ ปรับอ่อนค่าเร็วและต่อเนื่องตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค

คณะกรรมการจะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในช่วงที่ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูง ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน

อีกทั้งคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป เข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว และในกรณีที่แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กนง.ประชุมวันนี้ เป็นครั้งที่ 5 ของปีนี้ โดยมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 2 ครั้ง คือในการประชุมเมื่อวันที่ 10 ส.ค. และวันนี้ ครั้งละ 0.25% ซึ่งยังเหลือการประชุมอีก 1 ครั้ง โดยจะเป็นครั้งสุดท้ายของปี ในวันพุธที่ 30 พ.ย. 2565

ธ.กรุงเทพนำร่องขึ้นดอกเบี้ยกู้-ฝาก มีผล 29 ก.ย.นี้

วันที่ 28 กันยายน 2565 นางรัชนี นพเมือง รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เพิ่มขึ้น โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับเพิ่มขึ้น 0.15-0.50% ต่อปี

โดยอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ เอ็มแอลอาร์ (MLR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (Minimum Loan Rate) เพิ่มขึ้น 0.40% ต่อปี

เอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) เพิ่มขึ้น 0.375% ต่อปี

เอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) เพิ่มขึ้น 0.30% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2565

ทั้งนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มผู้ฝากเงิน และเพื่อเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบกับกลุ่มเปราะบาง ในด้านเงินกู้ ธนาคารจึงได้ปรับอัตราดอกเบี้ย MRR ในอัตราที่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อื่น ๆ

กสิกรคาดแบงก์ขึ้นดอกเบี้ยตามหลัง กนง.

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ดังกล่าว ผนวกกับนโยบายการปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ กลับมาที่ 0.46% ตั้งแต่ต้นปี 2566 นั้น คงทำให้ธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินกู้มาตรฐานตามเฉลี่ย 0.125-0.25% แม้ว่าสภาพคล่องจะอยู่ในระดับสูง แต่การปรับจะแตกต่างกันแต่ละธนาคาร เนื่องจากพอร์ตและฐานลูกค้ามีความแตกต่างกัน


ขณะที่ แม้มองว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะไม่ส่งผลให้เกิดภาวะการพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Cliff) เนื่องจากธนาคารพาณิชย์เร่งปรับโครงสร้างหนี้และบริหารจัดการหนี้ในเชิงรุก แต่ประเด็นเรื่องคุณภาพหนี้และการช่วยเหลือลูกค้า ก็ยังต้องจับตามองอย่างต่อเนื่อง

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์สัดส่วนหนี้ด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของระบบธนาคารพาณิชย์อยู่ในกรอบ 2.90-3.10% ภายในสิ้นปีหน้า เทียบกับ 2.88% ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปี 2565 ส่วนแนวโน้มสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 4.5-6.0% ในปี 2566 เทียบกับประมาณ 5.0% ในปีนี้ ซึ่งถือว่าไม่ได้สูงมาก ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่มาก

“ประเด็นคุณภาพหนี้ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะแม้ว่าเอ็นพีแอลจะไม่สูง แต่จะเห็นตัวเลข SM หรือสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษเพิ่มขึ้นสูงหลายเช็กเตอร์ โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ ดังนั้น เรามองว่าแบงก์จะมีการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกมากขึ้น ทำให้ความกังวลในการเกิดหน้าผาเอ็นพีแอลอาจจะไม่มี” นางสาวธัญญลักษณ์กล่าว