SME ร่อแร่ แห่ร่วมมาตรการ บสย. กว่า 8,000 ราย จ่อลุยค้ำสินเชื่อเฟสใหม่

มาตรการบสย.

เอสเอ็มอีลูกหนี้แบงก์อาการหนัก ปรับโครงสร้างแล้วยังไม่ไหว แห่เข้าร่วมมาตรการ บสย.ช่วยเต็มสูบ ทั้ง “ตัดเงินต้น-หั่นดอกเบี้ย” แถมยืดผ่อนนาน 7 ปี เผย 8 พันรายลงทะเบียนขอเข้าร่วมแล้ว พร้อมเดินหน้าโครงการค้ำประกันเฟสใหม่ PGS10 อีก 1.5 แสนล้านบาท คาดช่วยเอสเอ็มอีกว่า 3.5 หมื่นราย

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ล่าสุด บสย.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ผ่าน “บสย.พร้อมช่วย ผ่อนน้อย เบาแรง” สำหรับดูแลลูกค้าที่ปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินไม่ไหว

แล้วแบงก์ส่งมาเคลม และปรับโครงสร้างหนี้กับ บสย. ซึ่งตอนนี้มีลูกหนี้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 8,000 ราย โดย บสย.ดำเนินการช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีไปแล้วกว่า 1,200 ราย มูลค่า 2,400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 27% ของจำนวนลูกค้าที่ขอเข้าร่วมโครงการ

สำหรับมาตรการดังกล่าว แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสีม่วง ปลอดชำระหนี้ครั้งแรก โดยให้ระยะเวลาการผ่อนนาน 5 ปี ตัดเงินต้น 20% และดอกเบี้ยอีก 80% โดยอัตราดอกเบี้ยตามประกาศ บสย.ที่ 3% ซึ่งกลุ่มนี้ บสย.ช่วยเหลือไปแล้ว 6%, กลุ่มสีเหลือง ชำระหนี้ครั้งแรกเพียง 1% ให้ระยะเวลาการผ่อนนาน 5 ปี โดย บสย.ตัดเงินต้นให้ทั้งจำนวน

และคิดอัตราดอกเบี้ยตามประกาศ บสย.ที่ 3% โดย บสย.ช่วยเหลือกลุ่มนี้แล้ว 15% และกลุ่มสีเขียว อัตราดอกเบี้ย 0% ให้ระยะเวลาการผ่อนนานถึง 7 ปี ตัดเงินต้นทั้งจำนวน และชำระครั้งแรกเพียง 10% ซึ่งกลุ่มนี้มีสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าระดับไมโครเอสเอ็มอี บสย.ก็ช่วยไปแล้วกว่า 79%

“จากดอกเบี้ยที่เราประกาศ 6.3% แค่ลูกหนี้ที่เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ และติดต่อ บสย. เราจะลดดอกเบี้ยให้เหลือเพียง 3% ทันที ในมาตรการสีม่วง และเน้นตัดเงินต้นก่อนตัดดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้เงินต้นหมดเร็ว และลดหนี้ได้เร็วขึ้น

และหากลูกหนี้มีเงิน 10% เช่น ยอดหนี้ 100,000 บาท หากปรับโครงสร้างหนี้กับ บสย.ก็จ่ายเพียง 10,000 บาท อีก 90,000 บาท ดอกเบี้ย 0% ผ่อนนาน 7 ปี ซึ่งจะช่วยทำให้ลูกหนี้อยู่ได้ นอกจากนี้ บสย.ยังมีศูนย์เรียนรู้ เพื่อให้คำปรึกษาลูกค้าว่าจะอยู่รอดได้อย่างไร”

ขณะเดียวกัน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มกลับมาดีขึ้น คาดว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่อาจจะต้องการสภาพคล่องเพื่อนำมาพัฒนาต่อเติมธุรกิจ ซึ่ง บสย.มีทางเลือกให้กับเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุน ผ่านสินเชื่อฟื้นฟูของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยังมีวงเงินคงเหลืออยู่ 40,000 ล้านบาท หากผู้ประกอบการสนใจสามารถติดต่อได้

ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการ เนื่องจากโครงสร้างสินเชื่อกำหนด 2 ปีแรก อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2% ต่อปี และหากรวมกับค่าธรรมเนียมค้ำประกันของ บสย. 1% เป็น 3% ต่อปี และเฉลี่ย 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก

นอกจากนี้ ยังมีเสียงเรียกร้องจากสถาบันการเงินให้ บสย.เดินหน้าโครงการ Port Guarantee Scheme ระยะที่ 10 (PGS10) เพื่อเป็นหลักค้ำประกันช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดย บสย.ได้เสนอรายละเอียดไปให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พิจารณาแล้ว หลังจากที่โครงการสินเชื่อ PGS9 ดำเนินการเต็มวงเงินแล้ว

โดยโครงการ PGS10 ในรอบนี้ วงเงินค้ำประกันอยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลจะอุดหนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกันใน 2-3 ปีแรก จากค่าธรรมเนียมปกติอยู่ที่ 1.75%

“PGS10 ยังเป็นเงื่อนไขเดียวกันกับโครงการ PGS9 โดยคาดว่าจะสามารถช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้กว่า 3.5 หมื่นราย และสามารถสนับสนุนให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท และยังมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ micro entrepreneurs ระยะที่ 5 วงเงิน 30,000 ล้านบาท” นายสิทธิกรกล่าว