อาคม ชง ครม. อนุมัติแผนพัฒนาตลาดทุน ฉบับ 4 ชูดิจิทัล-ระดมทุนเพื่อความยั่งยืน

รมว.คลัง ชง ครม. อนุมัติแผนพัฒนาตลาดทุน ฉบับที่ 4 ชูดิจิทัล-ระดมทุนเพื่อความยั่งยืน พร้อมผนึก “ก.ล.ต.-ธปท.” เดินหน้าแก้ไขกฎหมายคุมสินทรัพย์ดิจิทัลอุดช่องโหว่

วันที่ 7 ตุลาคม 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อก้าวต่อไปในทศวรรษหน้า” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่า ขณะนี้แผนพัฒนาตลาดทุน ฉบับที่ 4 อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งได้นำเรื่องดิจิทัลมาอยู่ในแผนด้วย

โดยในวันนี้มีสินทรัพย์ดิจิทัลเกิดขึ้นมา ซึ่งทางกระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.ล.ต. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการหารือร่วมกันมาตลอด ว่าเส้นแบ่งการกำกับดูแล หรือขอบเขตภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีความชัดเจนเพียงใด

ซึ่งก็ชัดเจนว่า อาจจะมีบางส่วนที่ยังไม่รู้ว่าใครกำกับ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การหลอกลวงมีมากขึ้นทุกวัน ขณะที่อีกมุมหนึ่ง ด้านกฎระเบียบการกำกับดูแล นอกจากต้องเอื้อต่อการทำธุรกิจแล้ว ตัวธุรกิจเองก็ต้องไม่เอาเปรียบประชาชน ดังนั้น มี 2 ด้าน ซึ่งตรงนี้ เป็นหน้าที่ผู้กำกับดูแลต้องสร้างสมดุลให้ได้

“ไม่ว่าเศรษฐกิจแบบเดิม หรือเศรษฐกิจดิจิทัล เวลาเกิดความเสียหาย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนในระดับล่าง โดยเฉพาะความเสียหายที่เกี่ยวกับคริปโตฯ ก็ลงไปถึงระดับลูกหลาน ที่นำเงินพ่อแม่ไปเล่น ก็เป็นสิ่งที่หารือกันโดยตลอด ถึงช่องโหว่ตรงนี้ ซึ่งคลัง ก.ล.ต. แบงก์ชาติมีการหารือกันเป็นระยะ และจะนำไปสู่การที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในบางประเด็น”

รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า หลังยุคโชติช่วงชัชวาลย์มา ในปัจจุบันการลงทุนเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศมีค่อนข้างน้อย ดังนั้น บทบาทของตลาดทุน ของ ก.ล.ต.ที่ต้องสร้างโปรดักต์ระดมทุนใหม่ ๆก็จะมีความสำคัญด้วย

ขณะที่การระดมทุนเพื่อความยั่งยืนมีความสำคัญมากขึ้น ทุกเวทีประชุมระดับโลกให้ความสำคัญหมด ทั้งการมองในแง่สิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัยของมนุษย์ สุขภาพ การลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล ซึ่งทุกภาคส่วนด้านเศรษฐกิจต้องมาคิดกันว่า จะทำธุรกิจแบบเดิม ๆ หรือจะเปลี่ยนแปลง โดยรัฐบาลได้ชี้นำนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG) ของภาครัฐไปแล้ว