บาทอ่อนแห่เทขายดอลลาร์ ร้านแลกเงิน คึกคักคิวยาว

ซุปเปอร์ริช

ธุรกิจรับแลกเงินเผยช่วงเงินบาทอ่อนค่าหลุด 38 บาท/ดอลลาร์ คนแห่นำดอลลาร์มาขายกันพรึ่บ “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” ยอมรับธุรกรรมเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้น 20% ระบุคิดเรตต่ำกว่าแบงก์เฉลี่ย 10-30 สตางค์เป็นปกติ คาดปี’66 ธุรกิจฟื้นกลับมาเท่าก่อนโควิด ขณะที่ “ทเวลฟ์ วิคทอรี่ฯ” รับค่าเงินผันผวนดันธุรกรรมเพิ่ม ฟาก “กสิกรไทย” ปรับเรตสู้กรณีบูทตั้งอยู่ใกล้ร้านแลกเงิน

นายปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) หรือ “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ พบว่ามีสัญญาณการทำธุรกรรมซื้อขายเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์ ที่ในเดือน ก.ย.มีปริมาณเพิ่มขึ้นราว 20% จากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่าจากกว่า 36 บาทต่อดอลลาร์ เป็น 38 บาทต่อดอลลาร์ มีส่วนต่างเฉลี่ยมากกว่า 1 บาทต่อดอลลาร์

“ยอดซื้อขายสกุลเงินดอลลาร์ในเดือน ก.ย. 2565 อยู่ที่ 90 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นมูลค่า 3,340 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ส.ค.ที่อยู่ที่ 79.3 ล้านดอลลาร์ หรือ 2,845 ล้านบาท ส่วนหนึ่งสะท้อนทิศทางการแข็งค่าของสกุลดอลลาร์ จากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจากสัญญาณการฟื้นตัวเศรษฐกิจและการเปิดประเทศ

ทำให้นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจเดินทางเข้ามาในไทยมากขึ้น คาดว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5 แสนคนต่อเดือน และทั้งปีจะอยู่ที่ 10 ล้านคน และปี 2566 จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน ช่วยหนุนรายได้จากการท่องเที่ยว 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งส่งผลดีต่อภาพรวมธุรกิจแลกเงินปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ” นายปิยะกล่าว

นายปิยะกล่าวว่า ปกติเรตอัตราแลกเปลี่ยนที่ “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” กำหนด ก็จะเป็นเรตที่ดีกว่าที่สถาบันการเงินให้อยู่แล้ว ในกรณีที่เป็นการซื้อขายเงินสดผ่านหน้าเคาน์เตอร์เหมือนกัน โดยเฉลี่ยจะแตกต่างกันประมาณ 10-30 สตางค์ อย่างไรก็ดี ต้องขึ้นอยู่กับสกุลเงิน

“หากเทียบการซื้อขายเงินสดผ่านหน้าเคาน์เตอร์ เราจะเรตดีกว่าสถาบันการเงิน แต่ขึ้นกับสกุลเงินด้วย ไม่เท่ากัน รวมถึงปริมาณธุรกรรมด้วย หากปริมาณธุรกรรมจำนวนมากเรตอาจจะไม่สูงมาก เฉลี่ยไม่เกิน 1 สตางค์ ทั้งนี้ จะไม่รวมกรณีการซื้อขายผ่านโมบายแอปพลิเคชั่น หรือบัตรแทรเวลการ์ดที่สามารถเสนอเรตได้ดีกว่า เพราะเขาไม่ต้องมีต้นทุนด้านคน พนักงาน สาขา หรือบูท แต่เขามาร์จิ้นจะบางกว่าเมื่อเทียบกับเราหรือแบงก์” นายปิยะกล่าว

ซุปเปอร์ริชชี้ปริมาณธุรกรรมพุ่ง

นายปิยะกล่าวด้วยว่า ปีนี้คาดว่ายอดซื้อขายเงินตราต่างประเทศของซุปเปอร์ริชสีส้มจะสามารถเติบโตได้ 80% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น จากยอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000-7,000 ล้านบาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นเป็น 8,000 ล้านบาทต่อเดือน และแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยว โดยคาดว่าปริมาณธุรกรรมในปีนี้จะอยู่ที่ราว 8 หมื่นล้านบาท เทียบช่วงก่อนโควิด-19 เฉลี่ยอยู่ที่ราว 1 แสนล้านบาท และน่าจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในปี 2566

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการสนับสนุนธุรกิจร้านแลกเงินให้สามารถขยายตัว และปรับตัวไปสู่ดิจิทัล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในอนาคต “ซุปเปอร์ริชสีส้ม” อยากให้กรมสรรพากรมีการทบทวนเรื่องภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ปัจจุบันโดนเรียกเก็บค่อนข้างสูงถึง 3.3% ของกำไร เทียบกับธนาคารพาณิชย์โดนเรียกเก็บเพียง 0.1% ของกำไร แต่มีขนาดธุรกิจใหญ่กว่าร้านแลกเงิน จึงอยากให้มีการทบทวน เพราะธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว

“ธุรกิจเราดีขึ้นตามลำดับหลังภาครัฐประกาศเปิดประเทศ และเดือน ต.ค.ทุกคนไม่ต้องใส่แมส ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะขึ้น ประกอบกับแบงก์เริ่มไปเน้นเรื่องดิจิทัลหมด ทำให้ยอดขายที่เป็น Physical cash จะเทมาทางเราหมด และปัจจุบันร้านรับแลกเงินก็เหลือไม่กี่เจ้า เพราะเจ้าเล็ก ๆ ก็ล้มไปก่อนหน้านี้แล้ว เราจึงคาดหวังว่าปี 2566 น่าจะกลับมาเติบโตเท่าก่อนโควิด-19 ได้” นายปิยะกล่าว

ขณะที่นางสาวชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ ประธานกรรมการ บริษัท ทเวลฟ์ วิคทอรี่ เอ็กเชน จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าอยู่ที่ระดับ 37-38 บาทต่อดอลลาร์ ยอมรับว่ามีลูกค้าเข้ามาขายเงินสกุลดอลลาร์เพิ่มจากช่วงปกติมากขึ้น

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินที่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดี พอสถานการณ์ค่าเงินบาทเริ่มนิ่ง ก็พบว่าสัญญาณการซื้อขายกลับมาเป็นปกติ เนื่องจากสกุลเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักอันดับ 1 ที่มีการซื้อขายอยู่แล้ว

โดยปริมาณธุรกรรมขายเงินตราต่างประเทศในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ของทเวลฟ์ วิคทอรี่ฯ อยู่ที่ 9,994 ล้านบาท และมียอดซื้อเงินตราต่างประเทศเข้าทั้งสิ้น 9,908 ล้านบาท ขณะที่ในเดือน ส.ค. “ทเวลฟ์ฯ” ทุกสาขามียอดขายรวมทั้งสิ้น 3,132 ล้านบาท มียอดปริมาณธุรกรรมรวมอยู่ที่ 4,097 รายการ และมียอดซื้อสกุลเงินตราต่างประเทศอยู่ที่ 3,115 ล้านบาท คิดเป็นยอดธุรกรรมรวมอยู่ที่ 18,461 รายการ

เปิดประเทศ ธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศฟื้นตัว

นางสาวชนาพรกล่าวว่า จากสัญญาณการเปิดประเทศมากขึ้น ประเมินว่าธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศน่าจะทยอยฟื้นตัว แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงจับตามองใกล้ชิดที่จะเข้ามากระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งจะมีผลต่อธุรกิจแลกเงิน เช่น ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ปัญหาน้ำท่วมภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในและต่างประเทศ รวมถึงการระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มสายพันธุ์ใหม่

“ตอนนี้เราก็หวังว่าจะไม่มีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบภาคการท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวไม่เดินทางเข้ามา และจากสถานการณ์ดังกล่าว เราจึงยังไม่ได้มีแผนจะขยายสาขาเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่เหลืออยู่ 32 แห่ง จากเดิมที่มีกว่า 60 แห่ง แต่ก็ยังคงเพียงพอในการให้บริการ และหากสถานการณ์ปรับดีขึ้นชัดเจน อาจจะมีการทบทวนเพิ่มเติม” นางสาวชนาพรกล่าว

นายอมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศทยอยฟื้นตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นตามการทยอยเปิดประเทศ โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ กสิกรไทยมีปริมาณธุรกรรมแลกเงินราว 1.14 หมื่นล้านบาท

ขณะที่สกุลหลักที่มีการแลกมากที่สุดคือ USD, EUR, JPY, GBP และ AUD ส่วนในจังหวะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า ยังไม่ได้เห็นสัญญาณการนำเงินดอลลาร์มาขายผิดปกติ เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่น่าจะใช้บริการผ่านร้านรับแลกเงิน (Money Changer) มากกว่า

ทั้งนี้ จากสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจที่ดีขึ้น ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาการทยอยเปิดบูทซื้อขายแลกเงินตามสนามบินและจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาทยอยเปิดบูทในสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และภูเก็ต รวมประมาณ 20 แห่ง และอยู่ระหว่างการเปิดที่เชียงใหม่ คาดว่าภายในปีนี้น่าจะเปิดบูทแลกเงินทั้งสิ้นราว 50-70 แห่ง จากเดิมเคยมีอยู่ประมาณ 100 แห่ง

“เราเห็นธุรกรรมเติบโตขึ้น 20% ตามจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มยุโรปและอินเดีย ส่วนจีนยังทยอยเข้ามา แต่มองภาพทั้งปีน่าจะปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ เราก็ทบทวนการเปิดบูทที่ก่อนหน้านี้ปิดไปเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มเติม” นายอมรกล่าว

ทั้งนี้ การกำหนดเรตอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็น Booth ตามชายหาด และ สาขาแตกต่างกันไม่มาก แต่ไม่สามารถระบุว่าแตกต่างกันเท่าไร เพราะเรตมีการเปลี่ยนแปลงตลอดวัน และถ้าเป็น booth ที่ติดกับร้านรับแลกเงิน ธนาคารก็จะปรับเรตอัตราแลกเปลี่ยนให้ใกล้เคียงกันเป็นพิเศษด้วย


“เนื่องจากธนาคารมีต้นทุนในการดูแล ความเสี่ยง กระบวนการต่าง ๆ ตามมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และต้นทุนพนักงานที่สูงกว่าร้านรับแลกเงิน แต่ธนาคารก็พยายามที่จะปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้ใกล้เคียงและสามารถแข่งขันได้” นายอมรกล่าว