ก.ล.ต.คุมเสี่ยงเงินดิจิทัล ดันคลังออกกฎICOสกัดมุดใต้ดิน

เลขาฯ ก.ล.ต.ชูโมเดลกำกับดูแล “ICO-สกุลเงินดิจิทัล” ชี้นโยบายสองเรื่องนี้ต้องไปด้วยกัน หวั่นไร้กฎหมายกำกับเปิดช่องขบวนการ “แชร์แม่ชม้อย” ระบาด ก.ล.ต. สรุปผลประชาพิจารณ์ทำ ICO เตรียมเสนอคลัง พร้อมนัดถก 4 หน่วยงานจัดการ “คริปโตเคอเรนซี่” เพื่อให้ทุกอย่างอยู่บนดิน ชี้การ “แบน” จะทำให้ทุกอย่างหนีลงใต้ดิน ไม่สามารถตรวจสอบไล่บี้ผู้กระทำผิดได้ ย้ำนักลงทุนต้องมีความรู้เพราะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก

ก.ล.ต.วิ่งไล่โลกดิจิทัล

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่เทคโนโลยีการเงินคลื่นลูกใหม่กำลังเข้ามาอย่างรวดเร็ว ในด้านตลาดทุนก็อาจตอบรับเรื่องดังกล่าวไม่ได้เต็มที่ เพราะหลักเกณฑ์ของ ก.ล.ต. ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับกับเทคโนโลยีการเงินรูปแบบใหม่ รวมถึงการระดมทุนรูปแบบใหม่อย่าง initial coin offering (ICO) ซึ่งเป็นการระดมทุนผ่านสกุลเงินดิจิทัล ที่กำลังได้รับความนิยม และความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก แต่ ก.ล.ต.ก็ยังไม่มีสามารถเข้าไปกำกับได้ ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานทางการว่าควรใช้แนวทางการกำกับอย่างไร

เลขาธิการ ก.ล.ต.อธิบายว่า ICO เป็นช่องทางการระดมทุนของสตาร์ตอัพ ซึ่งทุกอย่างอยู่บน virtual world สตาร์ตอัพที่ทำ ICO จะออกเหรียญอิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า “โทเคน” (token) ให้แก่นักลงทุน ซึ่งคนที่ลงทุนไม่ได้มีสถานะเป็นผู้ถือหุ้น ไม่ได้เงินปันผล และอาจจะไม่ใช่เจ้าหนี้ด้วย เพราะ ICO เป็นเพียงการลงทุนโปรเจ็กต์ที่มีแค่ white paper อธิบายกระบวนใช้เทคโนโลยี เพื่อทำให้เกิดธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ถ้าโปรเจ็กต์สำเร็จอาจจะแบ่งกำไรให้ ซึ่งสามารถสตรักเจอร์ได้ทุกรูปแบบ เช่นอาจแบ่งกำไรเป็นขั้น ๆ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับข้อตกลง

“ดังนั้นวิธีการกำกับดูแลจะคิดแบบเดิม ๆ ไม่ได้ เพราะสตาร์ตอัพไม่มีข้อมูลผลประกอบการในอดีต ทั้งไม่สามารถทำไฟแนนเชียลโปรเจ็กชั่นได้ เพราะเป็นธุรกิจใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น จึงมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนสูงมาก ดังนั้นกลุ่มนักลงทุนต้องรู้เรื่องเทคโนโลยี และรับความเสี่ยงได้สูง เพราะการทำธุรกิจสตาร์ตอัพ 95% คือเจ๊ง มีเพียง 5% เท่านั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จ แต่ถ้าสำเร็จก็จะได้รับผลตอบแทนกลับมาหลายเท่า”

โมเดลคุม ICO สกัดลงใต้ดิน

เลขาฯ ก.ล.ต.อธิบายต่อว่า สาเหตุที่ ก.ล.ต.ให้ความสำคัญกับเรื่อง ICO เพราะปัจจุบันหากมีผู้สนใจจะออก ICO ซึ่งไม่เข้าเกณฑ์หุ้น และหลักทรัพย์ ก็จะไม่มีผู้กำกับดูแล ซึ่งแปลว่าถ้าเกิดปัญหา ผู้ลงทุนก็จะต้องไปฟ้องร้องกันเอง ใครจะโฆษณา ให้ข้อมูลการลงทุนอย่างไรก็ได้ เพราะไม่มีใครกำกับดูแล ดังนั้นการจะไล่บี้หรือจัดการก็จะยากมาก ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดว่าเรื่องนี้ควรจะมีการกำกับดูแลอย่างอ่อน ๆ เพราะถ้าจะแบนหรือปิดกั้นเลยก็จะลงใต้ดินและก็จะห้ามไม่ได้ เพราะเป็นการซื้อขายผ่านคอมพิวเตอร์ไม่มีคนที่จะให้เราไปจับ หาตัวเขาไม่เจอหรอก

ดังนั้น ก.ล.ต.จึงเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะในเรื่องการทำ ICO ซึ่งก็ได้รับข้อมูลเสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนี้ก็จะสรุปข้อมูลที่ได้รับทั้งหมดและนำเข้าบอร์ด ก.ล.ต. และต้องไปหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในลำดับถัดไป เพราะเรื่องนี้ต้องเป็นนโยบายในภาพรวม หากทุกฝ่ายเห็นด้วยกันหมด ก็จะสามารถออกประกาศมารองรับให้ใช้หลักเกณฑ์การระดมทุนแบบ ICO ได้ ภายในไตรมาส 1/2561 แต่ระหว่างนั้นก็ต้องมีการหารือกันในเรื่องของสถานะคริปโตเคอเรนซี่ (cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัลด้วย เนื่องจากเป็นสกุลเงินที่ใช้ระดมทุน ซึ่งหากประเด็นนี้ไม่ได้ข้อสรุปก็ไปต่อไปไม่ได้ เพราะเรื่อง ICO และคริปโตเคอเรนซี่เป็นนโยบายที่ต้องไปด้วยกัน

4 หน่วยงานถกคุมเงินดิจิทัล 

นายรพีกล่าวว่า เนื่องจากการทำ ICO จะกำหนดให้ใช้สกุลเงินดิจิทัล เช่น บิตคอยน์ ฯลฯ มาซื้อโทเคน โดยจะไม่รับเงินสด ดังนั้นในกำกับต้องแยกเป็นสองส่วน คือส่วนแรก ก.ล.ต.จะกำกับดูแล ICO เพราะเป็นการระดมทุน ซึ่งอยู่ในขอบเขตหน้าที่ของ ก.ล.ต.แต่ในส่วนการจ่ายเงินที่จะใช้สกุลเงินดิจิทัล จะเป็นประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องพิจารณา เพราะมีลักษณะเป็นสกุลเงิน แม้ว่าแบงก์ชาติบอกว่าคริปโตเคอเรนซี่ ไม่ใช่เงินตราที่ชำระได้ตามกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าผิดกฎหมาย เพราะถ้านักลงทุน หรือเจ้าหนี้ยอมที่จะรับคริปโตเคอเรนซี่ก็เป็นเรื่องที่ทำได้

สำหรับเรื่องคริปโตเคอเรนซี่ ตอนนี้รัฐมนตรีได้มอบหมายให้แบงก์ชาติ, ก.ล.ต. กระทรวงคลัง และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ไปหารือว่าจัดการอย่างไร จะกำกับดูแล หรือจะห้ามก็ต้องพูดให้ชัด ซึ่งจะมีการนัดหารือประชุมกันในเร็ว ๆ นี้ แต่ในส่วนที่ ก.ล.ต.ที่ดำเนินการคือการรับฟังความเห็นเรื่องการทำ ICO ที่ช่องทางการระดมทุนของสตาร์ตอัพ

“การระดมทุนแบบ ICO ไม่ได้เหมาะกับนักลงทุนทุกคน เพราะเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงมาก และที่สำคัญนักลงทุนต้องเข้าใจเทคโนโลยี และต้องทำความเข้าใจด้วยว่า สามารถเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นไปสร้างเงินได้จริง ๆ หรือไม่ จึงอาจเป็นตลาดของคนรุ่นใหม่ที่รับความเสี่ยงได้เยอะ และต้องเป็นคนที่รู้เรื่องเทคโนโลยีและเข้าใจธุรกิจด้วย ซึ่งนักลงทุนทั่วไปคงน้อยมาก น่าจะเป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก” นายรพีกล่าว

เตือนบริษัทอ้าง ICO หลบ ก.ล.ต.

นายรพียอมรับว่า ปัจจุบันมีบริษัทจำนวนมากเกาะกระแสเรื่อง ICO และคริปโตเคอเรนซี่ แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ หรืออาจเป็นลักษณะการหลอกลวงนักลงทุน ดังนั้น ก.ล.ต.จึงมองว่า ICO ควรถูกดึงเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ซึ่ง ก.ล.ต.ก็มีแนวคิดจะให้ใบอนุญาตบริษัทผู้เชี่ยวชาญเข้ามาทำหน้าที่เป็นพอร์ทัลเหมือน crowdfunding รับรอง ICO โดยให้ช่วยตรวจสอบ white paper ว่าเจ้าของมีตัวตนจริง โครงการมีความน่าเชื่อถือระดับหนึ่ง ไม่ใช่แชร์แม่ชม้อย ดูดเงินคนแล้วหนีไปเลย

อย่างไรก็ตามสำหรับกรณี บมจ.เจมาร์ท ที่มีการประกาศทำ ICO กำหนดให้โทเคนมีสถานะเหมือน “หุ้น” ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องเข้ามาในกระบวนการเสนอขายหลักทรัพย์ของ ก.ล.ต.ตามปกติ เนื่องจากการระดมทุนดังกล่าวจะเข้าข่ายเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ซึ่ง ก.ล.ต.ต้องเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้ธุรกิจเลี่ยงเกณฑ์การระดมทุน

“ก.ล.ต.ได้เตือนไปทางเจมาร์ทแล้วว่าถ้าคุณทำแล้วในที่สุดเป็นการขายหุ้น คุณจะมีความผิด เพราะเท่ากับคุณออกหุ้นโดยที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการของ ก.ล.ต.” นายรพีกล่าว

แก้โจทย์คนไม่ใช้ตลาดทุน

เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวเพิ่มเติมว่า โจทย์ใหญ่ของ ก.ล.ต.นับจากนี้ก็คือ หากการระดมทุนรูปแบบใหม่ ที่ตัดตัวกลางไปหมด ไม่ต้องจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ทุกอย่างทำบนโลกเสมือน และหาลูกค้าได้โดยตรงอย่าง ICO เกิดขึ้น ก.ล.ต.ควรจะกำกับหรือไม่กำกับ ทำอย่างไรจะให้เกิด e-Identity รองรับ อีกด้านคือการสนับสนุนให้นักลงทุนได้รับ “คำแนะนำ” ที่เหมาะสมกับการลงทุน เพราะขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ราว 16 ล้านล้าน หรือ 120% ของจีดีพี มูลค่าการซื้อขายมากกว่า 5 หมื่นล้าน สภาพคล่องก็สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน แต่คนไทยเข้าถึงตลาดทุน โดยมีผู้เปิดบัญชีโบรกเกอร์เพียง 1.5 ล้านคน กองทุนรวม 2.5 ล้านบัญชี และการเปิดบัญชีอาจมีการนับซ้ำ ซึ่งทั้งหมดอาจเหลือเพียง 3 ล้านบัญชี จากประชากรประเทศราว 70 ล้านคน ซึ่งถือว่าน้อยมาก

ขณะที่ตลาดทุนให้อัตราผลตอบแทนสม่ำเสมอเฉลี่ยกว่า 10% แต่คนจำนวนมากยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนตรงนี้เพื่อวัยเกษียณ แต่ไปฝากเงินแบงก์ก็จะได้ผลตอบแทนปีละ 1% หรือซื้อตราสารหนี้ก็อาจได้ 3% ดังนั้นโจทย์ใหญ่ของ ก.ล.ต.คือทำไมคนไม่ใช้ตลาดทุน ซึ่งปัญหาสำคัญก็คือเพราะไม่มีคนช่วยแนะนำบริการ การลงทุนที่เหมาะสมกับแต่ละคน ดังนั้น ก.ล.ต. ต้องสนับสนุนให้เกิดการแนะนำการลงทุนให้กับประชาชนได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น

 

ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น Prachachat ได้แล้วทั้งระบบ iOS และแอนดรอยด์