ดอลลาร์แข็งค่า หลังเจ้าหน้าที่ IMF สนับสนุนนโยบายการเงินคุมเงินเฟ้อ

ดอลลาร์สหรัฐ
ภาพ : pixabay

ดอลลาร์แข็งค่า หลังเจ้าหน้าที่ IMF สนับสนุนนโยบายการเงินคุมเงินเฟ้อ ชี้มิฉะนั้นจะสูญเสียความน่าเชื่อถือ ขณะที่ปัจจัยในประเทศแบงก์ชาติระบุ กนง.พยายามดำเนินนโยบายการเงินให้ตลาดสามารถคาดการณ์ทิศทางได้ ไม่ต้องการจะเซอร์ไพรส์ตลาด ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/10) ที่ระดับ 38.26/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อพุธ (12/10) ที่ระดับ 38.06/08 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

หลังนางกิตา โกปินาธ รองผู้อำนวยการคนที่หนึ่งของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า เป็นเรื่องยากที่จะควบคุมเงินเฟ้อในสหรัฐ โดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ควรเดินหน้า “ตามแผนการ” ด้วยคุมเข้มนโยบายการเงิน มิฉะนั้นจะสูญเสียความน่าเชื่อถือ “ภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐยังคงจัดการได้ยาก และหากเฟดส่งสัญญาณยุติการคุมเข้มนโยบายการเงินดังที่ได้วางแผนไว้ในสถานการณ์เช่นนี้ จะทำให้สูญเสียความน่าเชื่อถืออย่างมาก ดังนั้น เฟดจึงควรดำเนินตามแผนต่อไป”

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนจากการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เพิ่มขึ้น 8.2% ในเดือน ก.ย. เมื่อเทียบรายปี โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 8.1% เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI เพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ก.ย. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3%

ขณะเดียวกัน ดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 6.6% ในเดือน ก.ย.เมื่อเทียบรายปี โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.5% เมื่อเทียบรายเดือน ดัชนี CPI พื้นบนปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือน ก.ย. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าสหรัฐยังคงเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้ออยู่และไม่มีทีท่าว่าจะชะลอตัวลงในระดับที่อาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เลิกปรับขึ้นดอกเบี้ย

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานประชุมนักวิเคราะห์ (Analys Meeting) ครั้งที่ 3/2565 ว่า กนง.จะพยายามดำเนินนโยบายการเงินให้ตลาดสามารถคาดการณ์ทิศทางได้ ไม่ต้องการจะเซอร์ไพรส์ตลาด แต่ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงนี้ อาจทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกคาดเดาสถานการณ์ในอนาคตได้ยาก

ดังนั้นการจะให้ผูกมัดลงไปชัดเจนว่าจะต้องดำเนินนโยบายการเงินอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะไม่เหมาะสมนัก พร้อมมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยน่าจะยังขึ้นต่อไปอีกระยะ แต่จะไปหยุดตอนไหนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการตอบสนองของเงินเฟ้อต่อเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นว่าจะเป็นอย่างไร และเห็นว่าคงอีกสักระยะกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพ โดยประเมินว่าอาจต้องใช้เวลา 1 ปีครึ่ง-2 ปี ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 38.08-38.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 38.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/10) ที่ระดับ 0.9746/48 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อพุธ (12/10) ที่ระดับ 0.9705/07 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังนางกิตา โกปินาธ รองผู้อำนวยการคนที่หนึ่งของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้แสดงความเห็นว่า “การเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซนจะชะลอตัวลงอย่างมาก ซึ่งเราคาดว่าจะเติบโตขึ้นเพียง 0.5% ในปีหน้า”

อย่างไรก็ตาม นางโกปินาธระบุว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ควรจะกลับมาใช้นโยบายการเงินแบบปกติภายในสิ้นปีนี้และคุมเข้มนโยบายการเงินในปีหน้า ทั้งนี้ ECB ลดการใช้นโยบายเชิงผ่อนคลายมาตลอดทั้งปี และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมกัน 1.25% ในการประชุมสองครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโร เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 0.9719-0.9757 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 0.9750/52 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/10) ที่ระดับ 148.57/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อพุธ (12/10) ที่ระดับ 146.39/41 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า BOJ จำเป็นต้องคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ (Ultralow Interest Rate Policy) ต่อไป เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 148.41-148.80 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 148.67/69 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือน ต.ค. จากเฟดนิวยอร์ก (17/10), การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ย. (18/10), รายงานสรุปภาะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) (19/10), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ (20/10), ดัชนีการผลิตเดือน ต.ค.จากเฟดฟิลาเดลเฟีย (20/10), ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือน ก.ย. จากคอนเฟอร์เรนซ์บอร์ด (Conference Board) (20/10)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -7/-6.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -7/-5.6 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ