เปิดค่าธรรมเนียมฝากเงิน ทุกรูปแบบ ฝาก 1 ครั้ง จะต้องเจอค่าอะไรบ้าง?

ฝากเงิน สาขา ตู้ CDM
ภาพจาก Facebook Krungthai Care

เปิดข้อมูลค่าธรรมเนียมฝากเงิน ทั้งข้ามเขต ข้ามแบงก์ และฝากผ่านตัวแทน ก่อนดีเดย์ 15 พ.ย. 2565 ฝากเงินที่ตู้ ต้องเสียบบัตรทุกครั้ง

หลังจากธนาคารพาณิชย์ และธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดให้ใช้บัตรเครดิต และบัตรเดบิตของผู้ฝากเงิน เพื่อยืนยันตัวตนก่อนการฝากเงินผ่านช่องทางตู้อัตโนมัติ ทั้งตู้ฝากเงินอัตโนมัติ (CDM/ADM) และตู้ฝากถอนเงินสดอัตโนมัติ (ATM Recycling) ตามกฎเกณฑ์ของ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

และกลายมาเป็นประเด็นที่สังคมพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา โดยเฉพาะมุมของภาระในการทำธุรกรรมที่กลายเป็นการผลักและเพิ่มภาระให้กับประชาชน เพราะถึงแม้จะฝากเงินผ่านช่องทางสาขา และตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) และยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนได้อีกหนึ่งช่องทาง แต่ย่อมแลกกับการเสียค่าธรรมเนียมการใช้บริการด้วยเช่นกัน

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลค่าธรรมเนียมการฝากเงินสดผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจการใช้บริการ

หมายเหตุ: ข้อมูล ณ วันที่ 19 ตุลาคม 2565

จำนวนบัตรในตลาดประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยจำนวนบัตรพลาสติกในประเทศไทย ณ เดือนกรกฎาคม 2565 ว่า มีจำนวนบัตรพลาสติกในตลาด 99,573,306 ใบ แบ่งเป็น บัตรเครดิต 24,579,189 ใบ บัตรเอทีเอ็ม  11,516,084 ใบ และบัตรเดบิต 63,478,033 ใบ

เมื่อเทียบข้อมูลเดือนกรกฎาคม ปี 2565 และ 2564 พบว่า จำนวนบัตรพลาสติกในตลาด ลดลงถึง 1,414,642 ใบ (ปี 2564 มีจำนวน 100,987,948 ใบ) แบ่งเป็น บัตรเครดิต เพิ่มขึ้น 105,992 ใบ (ปี 2564 มีจำนวน 24.473.197 ใบ) บัตรเอทีเอ็ม เพิ่มขึ้น 206,278 ใบ (ปี 2564 มีจำนวน 11,309,806 ใบ) และบัตรเดบิต ลดลง 1,726,912 ใบ (ปี 2564 มีจำนวน 65,204,945 ใบ)

เปิดอัตราค่าธรรมเนียมฝากเงิน

ธนาคารต่าง ๆ ในประเทศไทย มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมฝากเงิน ทั้งการฝากเงินธนาคารเดียวกัน ข้ามสาขา/ข้ามเขต และการฝากเงินข้ามธนาคาร ดังนี้

ค่าธรรมเนียมการฝากเงินสาขาเขตเดียวกัน

ไม่มีการคิดค่าธรรมเนียม

ค่าธรรมเนียมการฝากเงินข้ามเขต

ฝากผ่านช่องทางสาขา คิดค่าธรรมเนียม หมื่นละ 10 บาท + ค่าบริการ 20 บาท (ขั้นต่ำ 30 บาท สูงสุด 1,000 บาท/รายการ)

ฝากผ่านช่องทางตู้อัตโนมัติ (CDM/ADM/ATM Recycling) คิดค่าธรรมเนียม หมื่นละ 10 บาท + ค่าบริการ 10 บาท (ขั้นต่ำ 20 บาท/รายการ)

ค่าธรรมเนียมการฝากเงินข้ามธนาคาร

ฝากผ่านช่องทางตู้อัตโนมัติ ค่าธรรมเนียมเริ่มต้น 50 บาท/รายการ ดังนี้

  • ยอดไม่เกิน 10,000 บาท ค่าธรรมเนียม 50 บาท/รายการ
  • ยอด 10,001-20,000 บาท ค่าธรรมเนียม 60 บาท/รายการ
  • ยอด 20,001-30,000 บาท ค่าธรรมเนียม 70 บาท/รายการ
  • ยอด 30,001-40,000 บาท ค่าธรรมเนียม 80 บาท/รายการ
  • ยอด 40,001-50,000 บาท ค่าธรรมเนียม 90 บาท/รายการ
  • ยอด 50,001-65,000 บาท ค่าธรรมเนียม 100 บาท/รายการ
  • ยอด 65,001-80,000 บาท ค่าธรรมเนียม 110 บาท/รายการ
  • ยอด 80,001-100,000 บาท ค่าธรรมเนียม 120 บาท/รายการ

ค่าธรรมเนียมการฝากเงินผ่านตัวแทนธนาคาร (Banking Agent)

  • ฝากผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส, ห้างสรรพสินค้า, ร้านสะดวกซื้อ ค่าธรรมเนียม 15-20 บาท/รายการ
  • ฝากผ่านไปรษณีย์ไทย ค่าธรรมเนียม 10-25 บาท/รายการ
  • ฝากผ่านตู้เติมเงินมือถือ ค่าธรรมเนียม 30-70 บาท/รายการ

ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมและวงเงินการทำธุรกรรมฝากเงินต่อรายการ ขึ้นอยู่กับธนาคาร และตัวแทนธนาคารแต่ละแห่งกำหนด

ตัวอย่าง นาย A ทำรายการฝากเงินเข้าบัญชี 15,000 บาท จะเสียค่าธรรมเนียม ดังนี้.

  • ฝากเงินเขตเดียวกัน ไม่มีค่าธรรมเนียม
  • ฝากเงินข้ามเขต ผ่านสาขา ค่าธรรมเนียม 20 บาท (หมื่นละ 10 บาท) + ค่าบริการ 20 บาท = ค่าธรรมเนียมรวม 40 บาท
  • ฝากเงินข้ามเขต ผ่านตู้อัตโนมัติ ค่าธรรมเนียม 20 บาท (หมื่นละ 10 บาท) + ค่าบริการ 10 บาท = ค่าธรรมเนียมรวม 30 บาท
  • ฝากเงินข้ามธนาคาร ค่าธรรมเนียม 60 บาท
  • ฝากเงินผ่าน Banking Agent ค่าธรรมเนียมตามแต่ละตัวแทนฯ กำหนด

ขณะเดียวกัน มีบางธนาคารที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมฝากเงิน ผ่านช่องทางสาขา และตู้อัตโนมัติ ทั้งการฝากเขตเดียวกัน และฝากข้ามเขต โดยจากการสำรวจของทีมข่าว มีอยู่ 6 ธนาคาร หนึ่งในนั้นคือ ธนาคารทีทีบี (ttb) ซึ่งเป็นผู้ริ่เริ่มการฟรีค่าธรรมเนียมข้ามเขตเป็นเจ้าแรก เมื่อปี 2556 สมัยยังเป็นธนาคารทหารไทย (TMB)

ส่วนอีก 5 ธนาคารที่ฟรีค่าธรรมเนียมด้วยเช่นกัน คือ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (ฟรีเฉพาะลูกค้าบุคคลธรรมดา) ธนาคารไทยเครดิตฯ ธนาคารทิสโก้ และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (ฟรีเฉพาะช่องทางตู้อัตโนมัติ)

ค่าบัตรเดบิต อีกค่าใช้จ่ายที่ต้องเจอ

อีกหนึ่งค่าใช้จ่ายที่ลูกค้าจะต้องแบกรับภาระ หลังการเพิ่มมาตรการยืนยันตัวตนก่อนการฝากเงินที่ตู้อัตโนมัติ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ คือ ค่าธรรมเนียมบัตรเดบิต สำหรับผู้ที่ไม่มีบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิตสำหรับการยืนยันตัวตน

ค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตรุ่นมาตรฐาน ที่ธนาคารต่าง ๆ ในประเทศไทยเปิดให้บริการ เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 200-400 บาท/ปี ขึ้นอยู่กับสิทธิประโยชน์ของบัตร ตั้งแต่บัตรแบบมาตรฐาน มีสิทธิพิเศษอื่นๆ หรือฟรีค่าธรรมเนียมการกดเงินที่ตู้ธนาคารอื่น

แต่ในตลาดบัตรเดบิตไทย ยังมีบางธนาคารที่ค่าธรรมเนียมบัตรเดบิตรายปี มีอัตราที่ถูกกว่า อาทิ บัตรเดบิต ชิลดี ของ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB Thai) ที่ไม่คิดค่าธรรมเนียมรายปีบัตรเดบิต หรือบัตรเดบิตกรุงไทย ทรานซิท ที่คิดค่าธรรมเนียมรายปี 100 บาท/ปี เป็นต้น

หน่วยงานรัฐ เร่งหาทางยืนยันตัวตนสะดวกขึ้น

หลังจากมีการกำหนดให้ใช้บัตรเดบิต เพื่อยืนยันตัวตนก่อนฝากเงินแล้ว เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมมาอย่างยาวนาน ถึงการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน จนเกิดการตั้งคำถามว่าเป็นการหารายได้เข้าธนาคารหรือไม่ และแนะนำว่า ทำไมถึงไม่ใช้บัตรประชาชนในการยืนยันตัวตนแทน

ขณะเดียวกัน หน่วยงานรัฐ เร่งหารือกับธนาคารพาณิชย์ในการหาวิธีการที่ช่วยอำนวยความสะดวกการยืนยันตัวตนมากขึ้น โดยไม่เป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนจนเกินไป

เริ่มจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ยืนยันว่า จะเร่งธนาคารพาณิชย์ พัฒนาระบบให้สามารถรองรับการยืนยันตัวตนรูปแบบอื่น ๆ เช่น การใช้บัตรประชาชน หรือการยืนยันตัวตนในลักษณะที่ไม่ต้องใช้บัตร (Cardless) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกกลุ่มโดยเร็วต่อไป

ขณะที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำหนดวิธีการดังกล่าวขึ้นตั้งแต่แรก ระบุเช่นกันว่า ได้หารือเบื้องต้นกับสมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการข้างต้น โดยมีหลักการว่า ต้องไม่สร้างภาระแก่ประชาชนมากจนเกินสมควร ต้องมีวิธีการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการใช้บริการ ให้สามารถแสดงตนได้หลายรูปแบบ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม


จากนี้ ต้องติดตามกันต่อว่า หน่วยงานรัฐและธนาคารต่าง ๆ จะมีวิธีการหรือรูปแบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการยืนยันตัวตนก่อนการฝากเงินที่ตู้อัตโนมัติได้อย่างไร