สำรวจเงินเดือนคนไทย ปี’65 แนวโน้มดีขึ้น แต่เงินเฟ้อแรงทำมูลค่าจริงลด

คนกรุงเทพ ค่าตอบแทน เงินเดือน
Photo by orelien00 on Pixabay

เปิดผลสำรวจเงินเดือน-ค่าตอบแทนของไทย มีแนวโน้มดีขึ้น จาก GDP โต-ตลาดแรงงานพื้น แต่เมื่อหักเงินเฟ้อ เงินเดือนแท้จริงกลับลดลง

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 จากสถานการณ์ค่าครองชีพของประเทศไทยในปัจจุบัน ที่ยังคงสูงขึ้นจากปัจจัยที่เกี่ยวกับเงินเฟ้อ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ จนส่งผลต่อการกิน-อยู่ของคนไทยที่ต้องจ่ายเงินซื้อสินค้ามากขึ้น แต่จำนวนเงินในกระเป๋า ไม่ได้โตตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี มีการสำรวจภาคธุรกิจเรื่องค่าตอบแทนและเงินเดือน ถึงแนวโน้มการปรับค่าตอบแทน เงินเดือนของพนักงานในบริษัท หรืออุตสาหกรรมนั้น ๆ ว่าจะมีแนวโน้มไปในทิศทางไหน

มองบวก GDP โตขึ้น-ตลาดแรงงานเริ่มฟื้น ทุกอุตสาหกรรมพร้อมขึ้นเงินเดือน

บริษัท Mercer บริษัทให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ และการบริหารสินทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานผลสำรวจ Total Remuneration Survey (TRS) ประจำปี 2565 ซึ่งสำรวจเพื่อศึกษาเกณฑ์ด้านค่าจ้างและผลตอบแทนที่เกี่ยวกับค่าจ้าง และนโยบายตอบแทนพนักงาน รวมถึงแนวโน้มของงบประมาณ การจ้างงาน และการโยกย้ายงานที่จะเกิดขึ้นในปีถัดไป จาก 636 องค์กร ใน 15 กลุ่มอุตสาหกรรมของไทย โดยสำรวจในช่วง เมษายน-มิถุนายน 2565

ผลสำรวจระบุว่า การปรับค่าตอบแทนและเงินเดือน มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศไทย ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้น 3.8% ในปี 2566 ซึ่งสูงที่สุดในปีที่ผ่านมา

ขณะที่ แนวโน้มการปรับอัตราเงินเดือนของประเทศไทย คาดการณ์ไว้ว่าจะขึ้นที่ 4.5% สูงกว่าค่าเฉลี่ยในเอเชีย-แปซิฟิกเล็กน้อย (ซึ่งไม่รวมอินเดีย ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2565) ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 4.4%

ผลสำรวจยังระบุอีกว่า ทุกอุตสาหกรรม จะมีการปรับเงินเดือนขึ้น ไม่มีอุตสาหกรรมใด มีคาดการณ์ว่าจะลดเงินเดือน-ค่าตอบแทนลง โดย 5 อุตสาหกรรมที่คาดการณ์ปรับอัตราเงินเดือนสูงที่สุด

  • อุตสาหกรรมเคมี +4.9%
  • อุตสาหกรรมเทคโนโลยี +4.8%
  • อุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ +4.8%
  • อุตสาหกรรมยานยนต์ +4.5%
  • อุตสาหกรรมประกันชีวิต +4.0%

การคาดการณ์ปรับขึ้นอัตราเงินเดือนใน 3 อุตสาหกรรมแรก มีความใกล้เคียงที่สุดกับระดับก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ 5% ยกเว้นอุตสาหกรรมยานยนต์และประกันชีวิต ที่ความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์และประกันชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่กลับมาเท่าตัวเลขก่อนเกิดโรคระบาดเมื่อปี 2562

ในแง่ของค่าตอบแทนผันแปร มีการคาดการณ์อัตราการจ่ายโบนัสพนักงานไว้ที่ประมาณ 1.3 ถึง 2.5 เดือน โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ เป็นกลุ่มที่มีคาดการณ์จ่ายโบนัสสูงสุด อยู่ที่ 2.4 เดือน

ด้านการจ้างงานและการบริหารกำลังคน พบว่า 53% ของนายจ้างที่ตอบแบบสำรวจ กล่าวว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนพนักงานในปี 2566 โดยนายจ้าง 22% ตั้งใจที่จะเพิ่มจำนวนคนให้มากขึ้น ขณะที่นายจ้างเพียง 4% ระบุว่าจะลดจำนวนพนักงานลง

ในขณะเดียวกัน อัตราการลาออกจากงานในปี 2565 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงเป็นมากกว่า 10% ซึ่งเป็นระดับก่อนเกิดโรคระบาด ขณะที่ปี 2564 อยู่ที่ 9.4% โดยคาดว่า อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และ อุตสาหกรรมยาและเครื่องมือแพทย์ จะมีการย้ายงานเกิดขึ้นสูงสุด จากการที่ภาคส่วนดังกล่าวกำลังฟื้นตัว พร้อมกับโอกาสทางธุรกิจและตำแหน่งงานว่างที่มากขึ้นด้วย

สำหรับประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเชีย มีการประมาณการอัตราค่าตอบแทนที่ปรับตัวสูง โดยประเทศเวียดนาม เป็นประเทศที่มีประมาณการสูงสุดถึงระดับ 7.1% ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีประมาณการต่ำสุดที่ระดับ 2.2%

แม้เศรษฐกิจฟื้น แต่เงินเดือนแท้จริงของคนไทย ยังติดลบ

บริษัท ECA International บริษัทที่ปรึกษาด้านแรงงาน เปิดเผยผลสำรวจ Salary Trends Report ครั้งล่าสุด ซึ่งสำรวจสำรวจการขึ้นเงินเดือนที่แท้จริงทั่วโลก รวบรวมจากบริษัทข้ามชาติกว่า 360 แห่ง ใน 68 ประเทศ โดยพบว่า อัตราการเพิ่มเงินเดือนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 4% และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 5% ในปี 2566

จากการสำรวจประเทศต่าง ๆ มีประเทศที่เงินเดือนที่แท้จริง (Real Salary) หรือ เงินเดือนหลังหักลบกับเงินเฟ้อในแต่ละประเทศแล้ว “ลดลง” มากถึง 78% และในปี 2566 จะมีประเทศที่มีเงินเดือนที่แท้จริงเพิ่มขึ้น 37%

สำหรับเงินเดือนที่แท้จริงของประเทศไทย ผลการสำรวจเปิดเผยว่า คนไทยมีเงินเดือนที่แท้จริงลดลง 1.8% ในปี 2565 จากอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และคาดการณ์เงินเดือนที่แท้จริงในปี 2566 ของประเทศไทยไว้ว่า จะกลับมาเพิ่มขึ้น 2.2% จากการขึ้นเงินเดือนที่สูงขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลง

ขณะที่ 10 ประเทศที่มีเงินเดือนที่แท้จริงเพิ่มขึ้นสูงสุด คือ ประเทศจีน ซึ่งอยู่ที่ 3.7% และคาดการณ์ว่าปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.8% ต่างกับอินเดีย ซึ่งเงินเดือนที่แท้จริง ปี 2565 เพิ่มขึ้น 2.1% แต่ในปี 2566 มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นสูงที่สุดเป็น 4.6%

การคาดการณ์เงินเดือนที่แท้จริง ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ระหว่างปี 2565 และ 2566 (ข้อมูลจาก ECA International)

นอกจากนี้ ผลสำรวจ ยังมีการระบุว่า ยุโรป เป็นภูมิภาคที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยเงินเดือนที่แท้จริงโดยเฉลี่ย ลดลงถึง 5.9% ในปีนี้ และลดลงอีก 1.5% ในปีหน้า หนึ่งในประเทศที่เงินเดือนที่แท้จริงลดลงอย่างมาก คือ สหราชอาณาจักร (UK) ที่เงินเดือนแท้จริงในปีนี้จะลดลงถึง 5.6% และลดลงอีก 4% ในปีหน้า จากผลกระทบภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 9.1%

ภาพจาก ECA International

ส่วน สหรัฐอเมริกา จะลดลง 4.5% ในปีนี้ หลังอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเป็น 8.1% ก่อนจะปรับตัวขึ้นเล็กน้อย 1% ในปีหน้า เพราะคาดว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ น่าจะลดลงเป็น 3.5%