ผู้ว่าฯแบงก์ชาติเตือนภัยปี’66 กับดักระเบิดตลาดโลก-ปมเสี่ยงนโยบายประชานิยม

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติส่งสัญญาณเตือนปี 2566 ปัจจัยเสี่ยงโลกสูงขึ้น เตรียมรับมือ “กับดักระเบิดโลก” ผุดต่อเนื่อง เผยตลาดเงินโลกเกิดภาวะผิดปกติ “น้ำลดตอผุด” จากทั่วโลกเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วแรง ไทยเสี่ยงเผชิญเงินไหลออก-ค่าเงินผันผวน ยืนยันเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวแต่อาจไม่ราบรื่น กังวลความเสี่ยงในประเทศ จากนโยบายประชานิยมสุดโต่งพรรคการเมืองหาเสียง “พักหนี้-พักดอกเบี้ย” ยาวหลายปีกระทบเสถียรภาพแบงก์

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจปี 2566 ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้ายังจะเห็นอยู่ เพียงแต่อาจจะไม่ smooth take off ปัจจัยหลัก ๆ ก็มาจากความเสี่ยงโลก ซึ่งจากที่ไปร่วมประชุมต่างประเทศทั้งเวทีไอเอ็มเอฟ และเวิลด์แบงก์เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ชัดเจนว่าเงินเฟ้อมาแรงกว่าที่คิด และเงินเฟ้ออยู่ยาว เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกว่าที่คิด

อย่างไรก็ตามเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอตัวเรารับรู้ไปส่วนหนึ่งแล้ว โดยประมาณการจีดีพีปีนี้โต 3.3% และปีหน้าโต 3.8% ประเมินว่าตัวเลขส่งออกไทยที่ปีนี้โต 8% ปีหน้าจะลดเหลือ 1% ก็ใส่ไปในประมาณการแล้ว ดังนั้นโอกาสที่จะเห็นตัวเลขจีดีพีปีหน้าแย่มาก ๆ ต่ำกว่า 3% เป็นไปได้น้อยมาก แต่การเติบโตอาจไม่ราบรื่นจากภาวะความเสี่ยงของโลก

ตลาดเงินโลก “ผิดปกติ”

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า เนื่องจากตอนนี้ทุกประเทศเหยียบเบรกนโยบายการเงินค่อนข้างแรง ด้วยการขึ้นดอกเบี้ย เพราะความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ ปีหน้าตลาดเงินจะมีความผันผวน และความไม่แน่นอนเพิ่มมากขึ้น และประเด็นที่เดิมไม่ค่อยพูดถึง แต่ตอนนี้มีสัญญาณชัดมากขึ้น คือเรื่อง “Market dysfunction” คือตลาดเงินโลกมีความผิดปกติ

ตอนนี้เหมือน “น้ำลดตอผุด” จากที่ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำติดดินเป็นเวลายาวนาน ตลาดมีสภาพคล่องสูง ทำให้ที่ผ่านมามองไม่เห็นปัญหา แต่ตอนนี้น้ำลดลงเร็วและแรงกว่าปกติ สมัยก่อนปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% เป็นมาตรฐาน แต่ตอนนี้ปรับ 0.75% กลายเป็นเรื่องปกติ ดอกเบี้ยขึ้นเร็วและแรง ขณะที่ภาระหนี้ในระบบค่อนข้างสูง

“และปกติจะเกิดความเสี่ยงในตลาดเปราะบาง เช่นถ้าเป็นธุรกิจก็เป็นกลุ่มเอสเอ็มอี หรือประเทศก็เป็นอีเมอร์จิ้งมาร์เก็ต แต่รอบนี้ปัญหาเกิดขึ้น ในประเทศที่ safe ที่สุด ตลาดที่ safe ที่สุด และสินค้าที่ safe ที่สุด ตัวอย่างปัญหาเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ ที่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลเกิดความผันผวนมหาศาล และเกิดระเบิดไปลงตลาดกองทุนบำเหน็จบำนาญ ทำให้ตลาดเกิดความปั่นป่วน ซึ่งสะท้อนว่าระเบิดจะเกิดที่ไหนก็ได้ และจะทำให้ความเสี่ยงแรงกว่าปกติ”

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ถ้าสินค้าที่คิดว่าเสี่ยงแล้วเกิดระเบิด ก็เหมือนจะพอรู้กัน เช่นบอนด์ไม่มีเครดิตเรตติ้ง แต่ปัญหาเกิดในตลาดพันธบัตรรัฐบาลที่มองว่าปลอดภัย ทำให้คิดไม่ถึง และที่ผ่านมาตลาดที่ถือว่าปลอดภัยที่สุดในโลก อย่างตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐก็เริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง เป็นสัญญาณว่าเริ่มออกอาการความผิดปกติ แต่ท้ายที่สุดธนาคารกลางสหรัฐก็คงต้องเข้ามาดูแล เหมือนอังกฤษที่ประกาศเลิกทำคิวอี เมื่อเกิดปัญหาก็ต้องกลับเข้ามาดูแล

กับดักระเบิดโลก

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ด้วยสภาวะแบบนี้ทำให้เชื่อว่าปีหน้ามีกับดักระเบิดอยู่เยอะ ความเสี่ยงเข้ามาไม่หยุด คือรู้ว่ามีแน่ แต่ไม่มีใครรู้ว่าระเบิดอยู่ตรงไหน และที่น่ากังวลคือจะเกิดขึ้นในจุดที่คาดไม่ถึง ซึ่งจากการประชุมหารือในเวทีต่าง ๆ ครั้งนี้ความกังวลไม่ได้อยู่ที่ระบบแบงก์ แต่อยู่ที่น็อนแบงก์ หมายถึงกองทุนเฮดฟันด์ใหญ่ ๆ และอีกส่วนที่มีการพูดถึงเยอะคือความเสี่ยงของหนี้ภาคเอกชน ตราสารหนี้ภาคเอกชนทั่วโลก โดยที่ผ่านมาอยู่ได้เพราะดอกเบี้ยต่ำ แต่ในภาวะที่ทั่วโลกกำลังเร่งขึ้นดอกเบี้ย มีโอกาสที่จะเกิดอะไรขึ้นได้

“ปีหน้าต้องทำใจเตรียมรับข่าวไม่ดีของตลาดการเงินโลก เมื่อตลาดเกิดภาวะ Market dysfunction ทำให้ตลาดเกิดความกังวล เกิดการดึงเงินกลับ ค่าเงินอ่อน และตลาดหุ้นมีปัญหา” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว และว่า

ปัจจัยเหล่านี้เสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไทยเกิดปัญหาค่าเงินแกว่ง-เงินไหลออก อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเกิดขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีความสามารถในการรับช็อกสไตล์อย่างนี้ได้ดีกว่าประเทศอื่น ๆ ภูมิคุ้มกันเรายังดีกว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับที่สูง หรือสถานะของสถาบันการเงินที่มีความเข้มแข็ง แต่ก็ต้องยอมรับว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยช้ากว่าที่อื่น

ชั่งน้ำหนักนโยบาย

ดร.เศรษฐพุฒิกล่าวว่า จากโลกมีกับดักระเบิดอยู่เยอะ แบงก์ชาติก็มีการรีเช็ก และประเมินสถานการณ์อยู่อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โดยในสถานการณ์โลกแบบนี้ นโยบายการเงินในประเทศด้วยการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปยังเหมาะสม และอาจถือว่าโชคดีที่เราไม่ได้ไปเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพราะหน้าตาเงินเฟ้อของประเทศไทยไม่เหมือนที่อื่น และบริบทของการฟื้นตัวก็ไม่เหมือนกัน คือเราฟื้นตัวไม่เร็ว และหนี้ก็สูง ถ้าขึ้นดอกเบี้ยเร็วแรงในขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น ก็จะทำให้การฟื้นตัวไม่เกิดขึ้นอย่างที่อยากเห็น

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการขึ้นดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไปก็อาจมีผลต่อค่าเงิน ทำให้อ่อนค่าไปบ้าง ซึ่งแบงก์ชาติต้องชั่งน้ำหนัก เพราะมีหลายอาการ อย่างค่าเงินมีอ่อนมีแข็ง แต่ดอกเบี้ยปรับขึ้นไปแล้วลงไม่ได้ และถ้าขึ้นไปในขณะที่รายได้ประชาชนยังไม่ฟื้น แล้วกลายเป็นหนี้เสียก็จะเป็นเอ็นพีแอลไปอีกยาวนาน

“ไม่ใช่ว่าไม่แคร์เรื่องการอ่อนของค่าเงิน แต่เราดูว่าไม่ให้อ่อนค่าเกินไป ซึ่งพื้นฐานของประเทศก็ไม่น่าจะอ่อนค่าไปจนกระทบเสถียรภาพ”

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ความกังวลตอนนี้การดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของหลาย ๆ ประเทศไม่ค่อยคิดถึงผลข้างเคียง อย่างสหรัฐเงินเฟ้อสูง ก็ทำทุกอย่างเพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวเอง ขึ้นดอกเบี้ยเยอะ ๆ ผลข้างเคียงไม่สนเอาตัวเองก่อน โดยไม่ได้คิดเรื่องการ coordinate และในขณะที่ทุกคนขึ้นดอกเบี้ยแรงพร้อมกัน เหยียบเบรกพร้อมกัน อาจทำให้เบรกแรงเกินไป

ห่วงนโยบายการเมืองแปลก ๆ

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวถึงประเด็นที่มีความกังวลที่สุด ว่าเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์โลก (geopolitics) ที่มีการแบ่งข้างกันอย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะยาว ประเทศอย่างเราจะอยู่อย่างไร การค้าโลก ระบบซัพพลายเชนต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปหมด และอีกประเด็นกังวลที่พูดไปก็คือตลาดการเงินโลกไม่ปกติ เพราะแม้ว่าเงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัวลง แต่ยังวางใจไม่ได้ เพราะตลาดแรงงานร้อนแรงมาก เงินเฟ้อจะไม่ลงง่ายขนาดนั้น

อย่างไรก็ตามนอกจากความเสี่ยงโลก สิ่งที่น่าห่วงมากกว่าคือความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายแปลก ๆ เนื่องจากตอนนี้พรรคการเมืองต่าง ๆ เริ่มหาเสียงเลือกตั้งในปีหน้า มีการเสนอนโยบายประชานิยมเกี่ยวกับปัญหาหนี้ เช่น การพักหนี้ยาว 3 ปี 5 ปี พักดอกเบี้ย หรือการเสนอลบข้อมูลเครดิตบูโร ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกทำ เพราะจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบแบงก์

“ประเทศไทยดูแล้วความเสี่ยงจากต่างประเทศน้อย เพราะพื้นฐานเราเข้มแข็ง แต่ถ้าเราไปทำอะไรที่สร้างความเสี่ยงขึ้นมาเองก็จะทำให้สถานการณ์เปลี่ยน นโยบายอาจฟังดูดีในระยะสั้น แต่จะมีผลข้างเคียงในระยะยาวเยอะก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี เช่นมีการพูดถึงการลบข้อมูลเครดิตบูโร เพื่อให้คนเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น แต่สุดท้ายจะยิ่งทำให้คนเข้าไม่ถึงสินเชื่อ สำหรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในโลกเราคงทำอะไรไม่ได้ แต่เราอย่าสร้างความเสี่ยงภายในเพิ่มขึ้น” ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว

จังหวะนี้ไม่ใช่ “กระตุ้น”

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ในภาพรวมการดำเนินนโยบายของประเทศไทย ในจังหวะนี้ต้องเน้นเรื่องเสถียรภาพมากกว่าเรื่องการกระตุ้น แม้เศรษฐกิจจะฟื้นช้าแต่ก็ฟื้น ซึ่งการที่จะออกมาตรการกระตุ้นตลอดเวลาเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะถ้าไม่สนใจเรื่องเสถียรภาพจะทำให้เกิดผลกระทบกับตลาด ฝ่ายการเมืองต้องไม่ออกนโยบายแปลก ๆ ที่ทำให้มีผลข้างเคียงกระทบกับตลาด

ทั้งนี้มาตรการการคลังต้องมี แต่ต้องเน้นการดูแลกลุ่มเปราะบาง เป็นการทำเฉพาะจุด แต่ปัญหาคือส่วนมากที่ออกมาเป็นมาตรการเหวี่ยงแห ซึ่งไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย โออีซีดีประเมินออกมาทั่วโลกทำแบบนี้กว่า 90%