
คอลัมน์ : Smart SMEs ผู้เขียน : ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
อนาคตของอุตสาหกรรมการก่อสร้างถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญของโลกและมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี จากบทวิเคราะห์ธุรกิจและอุตสาหกรรมการก่อสร้างจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา อุตสาหกรรมการก่อสร้างทั่วโลกคาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 10.55 ล้านล้านดอลลาร์
สหรัฐภายในปี 2565 สำหรับปี 2566-2567 ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตตามมูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.5-5.5% ต่อปี
- น.ศ.เมียนมาแห่เรียนมหาวิทยาลัยไทย ค่าเทอมหลักแสนมุ่งไอที-วิศวะ
- ฮ่องกง เตรียมแจกตั๋วเครื่องบินฟรี 500,000 ใบ ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ
- สถานะเงินเยียวยาน้ำท่วม 2565 https://flood65.disaster.go.th เช็กที่นี่
ตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตของตลาดนี้คือ การเริ่มต้นจากจำนวนที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น
และโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลมาจากการขยายตัวของเมืองและการเติบโตของประชากรที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มที่ผู้ประกอบการธุรกิจต้องเร่งปรับตัวและอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมการก่อสร้าง ได้แก่ ความต้องการการก่อสร้าง
โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โครงสร้างระบบข้อมูลอาคารเพื่อการจัดการอาคารที่มีประสิทธิภาพและ
การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการก่อสร้าง
เทรนด์เทคโนโลยีและนวัตกรรมอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่น่าสนใจ
1.นวัตกรรมพลังงานและการสร้างเมืองสีเขียว (sustainable smart town)
แนวคิดของเมืองอัจฉริยะโดยใช้โซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรม มีการพัฒนาโมเดลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การออกแบบและวางโครงสร้างพื้นฐานของเมืองด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการประหยัดพลังงาน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้มากขึ้น
เพื่อรองรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อาศัยในเมือง จากกรณีศึกษาเมือง Fujisawa Sustainable Smart Town ประเทศญี่ปุ่น เป็นโมเดลเมืองอัจฉริยะและเป็นต้นแบบเมืองแห่งอนาคต
โดยมีวัตถุประสงค์ 5 ด้านคือ ด้านความปลอดภัย ด้านสุขภาพ ด้านสังคม ด้านการคมนาคม และด้านพลังงาน โดยมีเป้าหมายของการพัฒนาเมืองคือ นวัตกรรมด้านพลังงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 70% ลดการใช้น้ำในเมืองลง 30% ใช้งานพลังงานทดแทนในอัตรา 30% และการกักเก็บพลังงานให้ได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
2.โครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะและอาคารสีเขียว (smart infrastructure & green building materials)
การวางโครงสร้างและการออกแบบอาคารสีเขียวโดยใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถทดแทนวัสดุสิ้นเปลืองที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของการก่อสร้างในอนาคต เช่น การใช้แผ่นพื้นคอนกรีตสําเร็จรูปไม้ไผ่พลาสติกรีไซเคิลไม้ที่นํากลับมาใช้ใหม่และเหล็กรีไซเคิล
หรือการก่อสร้างอาคารโดยใช้ไม้ทั้งหมดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เมื่อเทียบกับอาคารคอนกรีต เช่น โครงการ Obayashi Wood Vision : Port Plus เมืองโยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น อาคารทนไฟที่ทำด้วยไม้แห่งแรกของญี่ปุ่นที่ถูกสร้างสำเร็จในปี 2565
ซึ่งชิ้นส่วนโครงสร้างหลักทั้งหมด (เสา คาน พื้น ผนัง) ทำจากไม้จริง โดยผสมผสานนวัตกรรมการออกแบบโครงสร้างที่ทำจากไม้ด้วยเทคโนโลยี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการก่อสร้างที่สวยงาม ปลอดภัย ทนทาน และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมให้กับสังคมและโลก
3.การใช้เทคโนโลยีสร้างแบบจําลอง 5 มิติ และโดรน (5D building information modeling and drone)
แนวโน้มการนำเทคโนโลยี 5 มิติมาช่วยในการสร้างแบบจําลองข้อมูลอาคารนี้มีเพิ่มมากขึ้น เพราะให้ความแม่นยำสูง ช่วยลดข้อบกพร่องและความเสี่ยงอันเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ จึงช่วยทำให้โครงการเสร็จสิ้นเร็วขึ้น และเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กร
นอกจากนี้การนำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ (drone) มาเป็นส่วนช่วยในการถ่ายภาพทางอากาศ การสำรวจพื้นที่สำหรับการก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ สูงและอันตราย หรือเป็นขั้นตอนที่ไม่สามารถใช้แรงงานมนุษย์ทำได้ จึงทำให้การร่างพื้นที่ก่อสร้างนั้น ๆ สำเร็จลุล่วงได้อย่างรวดเร็ว
การนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาประยุกต์และพัฒนาเพื่อใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างนั้น ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขาดแคลนแรงงาน
หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการ SMEs มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากความท้าทายใหม่ และการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น รวมถึงเป้าหมายขององค์กรขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ในการสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อลดคาร์บอนเป็นศูนย์ (carbon net zero)
เทรนด์อุตสาหกรรมการก่อสร้างในอนาคตนี้ นอกจากจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับองค์กรในระยะยาวได้แล้ว ยังช่วยลดการปล่อยมลพิษและเพื่อเป็นเป้าหมายในการยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน