ธปท.ปรับเกณฑ์คุมดอกเบี้ยผิดนัด เพิ่มธุรกิจบัตรเครดิต-ดีเดย์ 1 เมษายน 66

บัตรเครดิต

ธปท.จ่อขยายการคุมคิด “ดอกเบี้ยผิดนัด-ตัดชำระหนี้” ครอบคลุมบัตรเครดิต จากเดิมบังคับแค่กู้สินเชื่อ “บ้าน-เอสเอ็มอี” เล็งบังคับใช้ 1 เม.ย. 2566 ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต นัดถกแบงก์ชาติกลางเดือน ธ.ค.นี้ แจงส่วนใหญ่ยกเว้นคิดดอกเบี้ยผิดนัดให้ลูกหนี้อยู่แล้ว ส่วนการตัดชำระหนี้ต้องปรับระบบไอที ระบุต้องใช้เวลาพัฒนานาน 6 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ยกร่างหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ภายใต้การกำกับดูแลการให้บริการอย่างเป็นธรรม (market conduct) ขึ้นมา โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นมาระยะหนึ่งแล้ว

ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ และเตรียมบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ จะเป็นการเข้าไปคุมการคิดดอกเบี้ยผิดนัดและการตัดชำระหนี้ในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิตด้วย หลังจากก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2563 ธปท.ได้ออกประกาศบังคับใช้ครอบคลุมแค่เพียงสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเอสเอ็มอี

โดยร่างหลักเกณฑ์ฯที่รับฟังความคิดเห็น มีรายละเอียด ได้แก่ 1.การขยายขอบเขตหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ให้ครอบคลุมลูกหนี้ทุกกลุ่ม 2.ขยายขอบเขตผู้ให้บริการทางการเงินให้รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน

และ 3.ปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจกรณีสัญญาที่มีกฎหมายบังคับใช้เป็นกฎหมายต่างประเทศ

ตาราง หลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ย

โดยเกณฑ์กำหนดว่า สินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อหมุนเวียนให้ผู้ให้บริการ คิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยปกติสูงสุดที่เรียกเก็บจริงตามที่ระบุในสัญญา ซึ่งสามารถสะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ที่แท้จริงได้ไม่เกิน 3% ต่อปี

โดยคำนึงจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม เช่น ประวัติการจ่ายชำระหนี้ และกรณีสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวให้ใช้อัตราดอกเบี้ย ณ วันที่ผิดนัดชำระหนี้เป็นอัตราอ้างอิง

ขณะที่ฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ให้ผู้ให้บริการคำนวณบนฐานเงินต้นของค่างวดที่ลูกหนี้ค้างชำระในแต่ละงวดไปจนถึงวันที่ศาลรับฟ้องเป็นอย่างน้อย ซึ่งการฟ้องคดีต่อศาลต้องมีระยะเวลาที่ลูกหนี้ค้างชำระหนี้เกินกว่า 90 วันนับแต่วันถึงกำหนดชำระ และกรณีสินเชื่อหมุนเวียนให้คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานเงินต้นที่ค้างชำระทั้งจำนวน

ส่วนการตัดชำระหนี้ ให้ผู้ให้บริการนำเงินที่ได้รับชำระหนี้ไปตัดชำระหนี้ตามยอดหนี้แต่ละงวด โดยให้ตัดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของยอดหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระนานที่สุดก่อน และค่อยตัดชำระยอดหนี้ที่ค้างชำระนานรองลงมาตามลำดับ ซึ่งเป็นการตัดชำระหนี้แบบแนวนอน ส่วนสินเชื่อหมุนเวียนให้ตัดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นที่ค้างชำระทั้งหมดได้

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประมาณกลางเดือน ธ.ค.นี้ ธปท.จะประชุมหารือกับทางชมรมธุรกิจบัตรเครดิต เพื่อตีความร่างหลักเกณฑ์ฯดังกล่าว หลังจากสิ้นสุดการเปิดรับความคิดเห็นในวันที่ 12 ธ.ค. 2565 แล้ว

โดยผู้ประกอบการเห็นว่า การกำหนดให้คิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้ไม่เกิน 3% ต่อปี บนฐานเงินต้นของค่างวดลูกหนี้ค้างชำระนั้น ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการไม่ได้เรียกเก็บลูกค้าอยู่แล้ว เพราะบัตรเครดิตถูกกำหนดเพดานดอกเบี้ยที่ 16% และมีส่วนน้อยที่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยผิดนัดได้จริง เพราะส่วนใหญ่จะยกเว้น เพราะผู้ประกอบการไม่ได้คิดว่าดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จะเป็นรายได้หลักอยู่แล้ว

ส่วนประเด็นลำดับการตัดชำระหนี้ จากเดิมเป็นแนวตั้ง หรือตัดชำระหนี้ในงวดที่ค้างล่าสุดก่อน แล้วค่อยทยอยตัดงวดค้างเก่ากว่า และตัดเงินต้นก่อนดอกเบี้ย มาเป็นแนวนอน หรือการตัดงวดที่ค้างชำระนานที่สุดก่อน ไล่มาจนถึงงวดค้างชำระปัจจุบันนั้น เรื่องนี้จะค่อนข้างยุ่งยาก

เพราะผู้ประกอบการจะต้องมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบหลังบ้านให้รองรับกับการตัดชำระหนี้แบบใหม่ ค่อนข้างใช้เวลาและขั้นตอนที่มาก ทั้งนี้ คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาระบบให้รองรับอย่างน้อย 6 เดือน


“เกณฑ์ใหม่นี้จะเพิ่มธุรกิจบัตรเครดิตเข้ามา แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะจะต้องมีการพูดคุยกันเพื่อตีความอีกครั้ง อย่างไรก็ดี เบื้องต้นไม่ได้มีผลกระทบต่อรายได้ รายจ่ายของผู้ประกอบการมากนัก แต่จะกระทบต่อการทำงานภาพรวมของอุตสาหกรรม ในเรื่องของการพัฒนาระบบไอทีรองรับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากและต้องใช้เวลา” แหล่งข่าวกล่าว