บทบาท ก.ล.ต. ต่อการออก-เสนอขายหุ้นไอพีโอของภาคเอกชน

ก.ล.ต.
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

การออกและเสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชน (IPO) ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่จะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงตลาดทุน โดยการระดมทุนจากภาคประชาชน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จึงให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดกรองคุณภาพของบริษัทที่จะ IPO เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน เช่น การกำหนดให้มีผู้ประกอบวิชาชีพในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้สอบบัญชี ผู้ตรวจสอบภายใน และที่ปรึกษากฎหมาย ในการให้ความเห็นและตรวจเช็กความพร้อมของบริษัทที่จะเสนอขายหุ้นต่อประชาชน

ในส่วนของ ก.ล.ต. มีบทบาทหน้าที่ในการพิจารณาอนุญาตการเสนอขายหุ้น IPO ซึ่งจะพิจารณาทั้งเกณฑ์ด้านคุณสมบัติเชิงคุณภาพและความครบถ้วนของการเปิดเผยข้อมูล โดยเกณฑ์เชิงคุณภาพจะพิจารณาในเรื่องต่าง ๆ เช่น โครงสร้างการถือหุ้นมีความชัดเจนเป็นธรรม กลไกการบริหารจัดการสามารถรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้น กรรมการและผู้บริหารมีคุณสมบัติเหมาะสมและไม่ขาดความน่าไว้วางใจ งบการเงินจัดทำถูกต้องตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินและมีความน่าเชื่อถือ ตลอดจนมีระบบควบคุมภายในที่เหมาะสมเพียงพอ เป็นต้น  ส่วนการเปิดเผยข้อมูลในแบบ filing เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าใจลักษณะการประกอบธุรกิจ แผนกลยุทธ์และ
ทิศทางการดำเนินงาน การกำกับดูแลกิจการ ปัจจัยความเสี่ยงของกิจการ ฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับใช้ประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนในบริษัทที่จะเสนอขายหุ้น IPO

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง IPO เนื่องจากลักษณะการประกอบธุรกิจหรือฐานะการเงินหรือผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนอาจแตกต่างไปจากข้อมูลในช่วงที่เสนอขาย IPO  ผู้ลงทุนจึงควรจะต้องติดตามการดำเนินงานและการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียน เช่น ข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย งบการเงิน หรือแบบ 56-1 One report เป็นต้น อย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุน

นอกจากนี้ เนื่องจากบริษัทที่เสนอขายหุ้น IPO ต่อประชาชน มักจะนำหุ้นไปขอจดทะเบียนเพื่อซื้อขายใน ตลาดรอง จึงจะต้องยื่นขอจดทะเบียนเป็น “หลักทรัพย์จดทะเบียน” ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทดังกล่าว ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณ (quantitative) เช่น
การกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของทุนชำระแล้ว ฐานะการเงิน สภาพคล่อง และผลการดำเนินงาน เป็นต้น รวมทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพ (qualitative) อื่น ๆ เช่น การดำเนินงานอยู่ภายใต้กลุ่มกรรมการผู้บริหารเดียวกันไม่น้อยกว่า 1 ปี (same management) การกำกับดูแลกิจการ และระบบการควบคุมภายใน เป็นต้น


ทั้งนี้ ในการกำกับดูแลบริษัทที่จะเสนอขายหุ้น IPO และบริษัทจดทะเบียน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ
จะมีการประสานงานและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อยกระดับการกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้ลงทุนและตลาดทุนโดยรวม ทั้งเพิ่มความเชื่อมั่นและความมีเสถียรภาพของตลาดทุน อันจะทำให้ตลาดทุนไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป