สแตนชาร์ต มองจีดีพีปี 2566 โตแรง 4.5% จับตาภาวะเงินเฟ้อ

ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์
ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2566 โตแรง 4.5% มองความเสี่ยงการเมืองน้อย-เศรษฐกิจโลกชะลอ แต่ไม่ถดถอย-ท่องเที่ยวโตดี คาดนักท่องเที่ยว 15-20 ล้านคน จับตาเงินเฟ้อ เกิดภาวะ “W Shaped Inflation” ขึ้นและลงไม่เสถียร คาดปีหน้าเงินเฟ้อไทยอยู่ที่ 2.7% และปี 2567 อยู่ที่ 2.8% แตะกรอบบน ธปท. ด้านดอกเบี้ย คาด กนง.ขึ้น 3 ครั้ง ดอกเบี้ยแตะ 2% ส่วนเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า 35 บาทต่อดอลลาร์ 

วันที่ 8 ธันวาคม 2565 ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 3.3% และทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับในปี  2566 และปี 2567 คาดว่าจะเติบโตได้ในระดับ 4.5%

โดยมองว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะเติบโตชะลอตัวลง แต่ยังไม่ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แต่เป็นการเติบโตแบบ Slow Down หรือเป็นการถดถอยแบบเล็กน้อย (Mild Recession) เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจโลกขยายตัวได้เกินระดับ 2% โดยอยู่ที่ 2.5% ยังไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยแต่อย่างใด

ขณะที่เศรษฐกิจไทย มองระยะข้างหน้ายังคงมีมุมมองเชิงบวก (Positive) หากพิจารณาในเชิงปัจจัยเฉพาะประเทศไทย โดยมองการเมืองไทยความเสี่ยงไม่เยอะ แม้ว่าจะมีการเรียกร้องแต่สามารถควบคุมจัดการได้ และมีเวลาการเลือกตั้งชัดเจน ซึ่งจะช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากรัฐบาลชุดใหม่ และนโยบายใหม่

และภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนคิดเป็น 15% ของจีดีพี ยังคงเห็นการเติบโตโดยในปี 2566 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะกลับมาอยู่ที่ 15-20 ล้านคน จากปีนี้ที่น่าจะเกินกว่า 10 ล้านคน และมีโอกาส Up Side ในปีหน้าจากนักท่องเที่ยวจีน เนื่องจากจีนมีความสำคัญต่อไทยในด้านการค้าและลงทุน

ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็น 40% ของการท่องเที่ยว โดยในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว 5.8% และกำลังจะเปิดประเทศ ทำให้การบริโภคของจีนที่มีสัดส่วนกว่า 50% ของจีดีพีกำลังฟื้นตัว

“เศรษฐกิจปี’66 เรามอง Positive ขยายตัวได้ 4.5% เพราะความเสี่ยงด้านการเลือกตั้งไม่สูง นักท่องเที่ยวที่มี Up Side จากเดิมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาโดนผลกระทบจากโควิด-19 แต่หลังจากนี้ 2-3 ข้างหน้าจะโตได้ดี อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามประเทศจีนที่จะมีการ Reopen เพราะจีนสำคัญในแง่การค้า และนักท่องเที่ยว

โดยเราคงต้องตามดูทั้งเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจ การบริโภค และค่าเงินของจีนด้วย อย่างไรก็ดี สมมติฐานโต 4.5% เราคาดว่าจีนจะยกเลิกนโยบาย Zero COVID ในไตรมาสที่ 2/66 นี้”

ดร.ทิมกล่าวว่า สำหรับทิศทางอัตราเงินเฟ้อมองว่า แม้ว่าราคาน้ำมันปัจจุบันจะลงมาอยู่ที่ระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลงมาอยู่เกือบเทียบเท่าก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ราคาสูงสุด (พีก) ถึง 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ธนาคารมองว่าการลดลงของอัตราเงินเฟ้อยังไม่ค่อยมีเสถียรภาพ และเกิดเป็นภาวะ “W Shaped Inflation” ในช่วงปลายปี 2566 และต่อเนื่องในปีถัดไป

โดยปัจจัยที่ให้เกิดภาวะ “W Shaped Inflation” จะมาจากจีนที่กำลังจะเปิดประเทศ ทำให้การบริโภคของจีนที่มีสัดส่วน 50% ของจีดีพี จะเกิด Demand Side Inflation ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อ ส่วนไทย แม้ว่าเงินเฟ้อจะปรับลดลง 3 เดือนติดต่อกัน แต่จะเห็นเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้ง นักท่องเที่ยว และการบริโภคที่เพิ่มขึ้น อย่าไรก็ดี ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อไทยไม่ลดลงชัดเจน คือ

1.ราคาน้ำมันไม่ได้ลดลง แม้ว่าน้ำมันตลาดโลกลดลง เพราะไทยยังคงต้องช่วยพยุงกองทุนน้ำมันฯ

2.เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว จะหนุนการบริโภคขยายตัว ซึ่งเป็น Demand Inflation

3.ค่าไฟที่จะเพิ่มขึ้นในปี 2566 และ 4.ค่าจ้างแรงขั้นต่ำที่จะปรับเพิ่มขึ้น

“Global Theme เงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับหรือโซนสูง โดยปีหน้าเรามองเงินไทยอยู่ที่ 2.7% และปี’67 อยู่ที่ 2.8% ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อทั้ง 2 ปี แม้ว่าจะอยู่ในกรอบ 1-3% ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่เป็นตัวเลขที่อยู่ในกรอบบน และหากดูตัวเลขเงินเฟ้อไทยก่อนจะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) เงินเฟ้อไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5% เท่านั้น”

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP) มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในปี 2565 กนง.ปรับดอกเบี้ยขึ้น 3 ครั้ง มาอยู่ที่ 1.25% ต่อปี โดยในปี 2566 คาดว่า กนง.จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ต่อปี ทำให้ดอกเบี้ย Terminal Rate อยู่ที่ 2.00% ต่อปี

ซึ่งการปรับขึ้นจะทยอยขึ้นในเดือน มี.ค. และขึ้นต่อในไตรมาสที่ 2 และ 3 ทั้งนี้ มองว่าในช่วงต้นปี 2566 กนง.จะคงดอกเบี้ยไว้ก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ในโลกและความผันผวนต่างๆ ก่อน และค่อยทยอยปรับขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยยังต้องการเติบโต

สำหรับค่าเงินบาท มองว่าต้นปีนี้เงินบาทอยู่ที่ 32.00 บาทต่อดอลลาร์ และกลับมาอ่อนค่าสูงสุด (พีก) ในไตรมาสที่ 3/65 ที่ระดับ 38.50 บาทต่อดอลลาร์ และกลับมาดีขึ้นในช่วงเดือน ต.ค.อยู่ที่ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองข้างหน้าระยะสั้นตลาดโลกมีความผันผวน ดอลลาร์มีโอกาสกลับมาแข็งค่า

ทำให้ที่เหลือของปีนี้-ต้นปี 2566 เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าแตะ 36 บาทต่อดอลลาร์ และหลังจากนั้นมุมมองเศรษบฐกิจไทยที่ดีขึ้น และเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว จะสนับสนุนเงินบาทแข็งค่า โดยสิ้นปี 2566 บาทจะกลับมาแข็งค่าที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์