
สมาคมประกันวินาศภัยไทย เอาจริง ! ลุยนำระบบเอไอดักจับเคลม “น่าสงสัย-ฉ้อฉล” ทุกผลิตภัณฑ์ หวังลดปัญหาทุจริตเคลม-ต้นทุนเบี้ยแพง เผยสถิติในหลายประเทศที่มีเบี้ยสูง พบอัตราฉ้อฉลสูงถึง 5-10% ของเบี้ยในตลาด
นายวาสิต ล่ำซำ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า
- Café Amazon เฉลยเอง ไวรัลนกหน้าร้านสะดวกซื้อ กำลังจะเกิดอะไรขึ้น?
- 12 นิสิตเก่า ‘สิงห์ดำ’ ดีเด่น ปี 66 ความภาคภูมิใจ ‘รัฐศาสตร์ จุฬาฯ’ สถาบันผลิตบุคลากรชั้นนำของประเทศ
- เปิดประวัติ เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม นักการเมืองดัง ลูกเจ้าพ่อปากน้ำ
ปัจจุบันสมาคมได้จัดตั้งคณะทำงานศึกษาและแก้ไขปัญหาการฉ้อฉลประกันภัย ชื่อย่อ IFWG (Insurance Fraud Working Group) ซึ่งจะครอบคลุมการเคลมที่น่าสงสัย หรือเคลมฉ้อฉลในทุกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่สามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยดักจับการฉ้อฉลประกันภัยได้
โดยขณะนี้สมาคมอยู่ระหว่างเจรจาผู้ค้าในต่างประเทศ จำนวน 2-3 ราย เพื่อนำระบบเอไอ (ปัญญาประดิษฐ์) มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เช่น ข้อมูลกรมธรรม์, เลขที่บัญชีในการรับเคลม, ผู้รับประโยชน์ เป็นต้น
“ประเด็นสำคัญที่ต้องตรวจสอบคือ ลักษณะเคลมเรียกร้องความเสียหายเล็ก ๆ น้อย ๆ (small claim) ที่เกิดขึ้นแต่ไม่มีใครจับได้ เพราะอาจถูกมองข้ามไป เนื่องจากมูลค่าไม่กี่หมื่นบาท ยกตัวอย่างเช่น ก่อนโควิดเกิดทุจริตเคลมประกันภัยการเดินทาง โดยมีชาวต่างชาติรายหนึ่งใช้วิธีเคลมสินไหมจากความเสียหายกระเป๋าเดินทางพร้อมกันหลาย ๆ บริษัท และได้เงินไปจำนวนหลายล้านบาท”
อย่างไรก็ดี เนื่องจากภาคธุรกิจประกันวินาศภัยจะต้องมีการรวมข้อมูลส่งให้กับสมาคมไว้เป็นฐานข้อมูลกลาง เพื่อใช้งานข้อมูลโดยการรวมศูนย์
ซึ่งหลายบริษัทอาจมีความกังวลต่อกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ทางสมาคมจึงได้ทำหนังสือไปถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ผ่านคณะกรรมการข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเข้าไปพูดคุยถึงที่มาที่ไป เหตุผลและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น โดยนำข้อมูลสถิติทั้งในและต่างประเทศที่ตรวจพบการฉ้อฉลและจับกุมได้ส่วนหนึ่งไปนำเสนอ
ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวได้รับการยกเว้น เพราะเป็นข้อมูลเพื่อประโยชน์สาธารณะ และจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ทุกบริษัทประกันยินยอมส่งข้อมูลเพื่อให้เกิดการวิเคราะห์ในฐานข้อมูลกลาง ซึ่งสมาคมจะเป็นผู้ดูแลและยืนยันว่ามีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลไว้เป็นอย่างดี
นายวาสิตกล่าวว่า ประเทศที่ใช้เอไอดักจับการฉ้อฉลประกันภัยอยู่แล้ว คือ ฮ่องกง, สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จมาก จึงเป็นหนึ่งกลยุทธ์ในการสร้างกลไกที่ทำให้อัตราเบี้ยประกันในอนาคต ควรจะกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม เพราะสถิติในหลายประเทศที่มีค่าเบี้ยประกันสูง ๆ จะพบอัตราการฉ้อฉลประกันภัย 5-10% ของเบี้ยประกันภัยในตลาด ซึ่งถือว่าสูงมาก

โดยหากประเมินแค่ประกันภัยรถยนต์ในประเทศไทย เบี้ยประกันรับรวมที่ 1.5 แสนล้านบาท มีอัตราการฉ้อฉลประกัน 5% ก็คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 7,000 ล้านบาทแล้ว แต่ปัจจุบันจับไม่ได้ จะจับได้เฉพาะจัดฉากชน เป็นต้น
“เรื่องนี้เป็นหนึ่งในความพยายามที่เราจะค่อย ๆ ลดปัญหาการฉ้อฉลในธุรกิจประกันลงไปเรื่อย ๆ เพราะหากยังจับไม่ได้เลย เคลมที่น่าสงสัยหรือเคลมฉ้อฉลก็อยู่ในระบบทั้งหมด และเมื่อเราจ่ายเงินออกไปก็จะไปฝังอยู่ในต้นทุนสินไหม ซึ่งเป็นต้นทุนในการคำนวณอัตราเบี้ยประกันในอนาคต
แต่หากจับได้อย่างน้อยก็มีส่วนทำให้โอกาสปรับปรุงเบี้ยประกันลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมได้มากขึ้น โดยสินไหมที่จ่ายออกไปจะตรงกับผู้เอาประกันที่ผู้สุจริตและเกิดเหตุจริง ๆ จึงคาดหวังจะทำให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด”