รู้จักใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ใช้สิทธิลดหย่อน ช้อปดีมีคืน 40,000 บาท

ช้อปดีมีคืนปี 2566

มาตรการ “ช้อปดีมีคืนปี 2566” ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งเห็นชอบไป โดยให้มีผลในช่วงวันที่ 1 ม.ค. 2566 ไปจนถึงวันที่ 15 ก.พ. 2566 รวม 46 วันนั้น ได้มีการขยายสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็น 40,000 บาท จากรอบก่อนที่ให้ใช้สิทธิได้สูงสุด 30,000 บาท

อย่างไรก็ดี การใช้สิทธิในส่วน 30,000 บาทแรก สามารถเลือกใช้ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่อยู่ในรูป “กระดาษ” หรือจะใช้ “ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์” หรือ e-Tax invoice และ e-Recipt มาลดหย่อนภาษีก็ได้

แต่หากจะใช้สิทธิ “เพิ่มเติมอีก 10,000 บาท” หรือใช้สิทธิลดหย่อน “เกินกว่า 30,000 บาท” ส่วนที่เกินนั้นจะต้องใช้แต่ “ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์” หรือ e-Tax invoice และ e-Recipt มาลดหย่อนเท่านั้น

ทั้งนี้ ก็มีคำถามว่า “ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์” คืออะไร ใช่ แบบที่เวลาซื้อของออนไลน์ แล้วผู้ขายส่งใบกำกับภาษีมาให้หรือไม่ ?

คำตอบ คือ ไม่ใช่ !

โดยจากการสอบถามเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้คำตอบว่า ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ที่จะนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีช้อปดีมีคืนได้ ต้องออกโดยผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์จากกรมสรรพากรได้เท่านั้น ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ทั้งสิ้น 1,742 บริษัท (เช็กได้จากเว็บไซต์กรมสรรพากร)

“กรมสรรพากรเริ่มให้มีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่ปี 2555 แล้ว ซึ่งคนที่จะออกใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ได้ ต้องมาขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน โดยจะต้องมีระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่มั่นคงปลอดภัย มีการลงทุนค่อนข้างสูง” เจ้าหน้าที่สรรพากรระบุ

ทำความรู้จักใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์

โดยข้อมูลจากเว็บไซต์กรมสรรพากร อธิบายว่า ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) คือ ใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร รวมถึงใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 และใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) หรือได้มีการประทับรับรองเวลา (Time Stamp) ด้วยระบบ e-Tax Invoice by Email

ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร

ส่วนใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) คือใบรับตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้ลงลายมือชื่อดิจิทัลด้วยวิธีการที่กรมสรรพากรกำหนด