เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ก่อนวันหยุดคริสต์มาส

เงินบาท

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ก่อนวันหยุดคริสต์มาส แบงก์ชาติยันดำเนินนโยบายการเงินสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน คาดแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะมาจากการบริโภคของภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 22 ธันวาคม 2565 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/12) ที่ระดับ 34.64/65 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (21/12) ที่ระดับ 34.72/75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบแคบภายหลังการร่วงลงอย่างหนักก่อนหน้านี้ โดยเมื่อคืนที่ผ่านมาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังคงไร้ทิศทาง โดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Conference Board รายงานผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐเดือนธันวาคมปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 108.3 สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 10.5 และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 101.4 ถือเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนเมษายน ส่งสัญญาณว่าผู้บริโภคมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและคลายความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเฟ้อ

นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 2.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 9.1% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยการส่งออกสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับ 5.47 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าปรับตัวลงสู่ 8.182 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี

อย่างไรก็ตาม สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริการายงานยอดขายบ้านมือสองเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ 4.09 ล้านยูนิต ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 4.43 ล้านยูนิต และต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 4.43 ล้านยูนิต ส่งสัญญาณว่าภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีถ้อยแถลงถึงความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจากผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งและความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยมีมุมมองว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยแต่จะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ยืนยันว่าการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศไทยสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันและคาดการณ์ว่าแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยจะมาจากการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โดยประมาณการตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 ที่ 22 ล้านคน ซึ่งประกอบด้วยนักท่องเที่ยวจากเอเชียและอาเซียนเป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดและคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวสูงกว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่งผลให้ความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามีจำกัด

ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยเชื่อมั่นว่าเงินเฟ้อไทยสามารถกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในปี 2566 แม้ว่าจะมีปัจจัยกดดันจากการส่งผ่านต้นทุนของภาคธุรกิจและการอุดหนุนต้นทุนด้านพลังงานของภาครัฐก็ตาม ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบระหว่าง 34.62-34.74 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 34.65/66 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้านี้ (22/12) ที่ระดับ 1.0630/32 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (21/12) ที่ระดับ 1.0611/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร สถาบัน GfK ของเยอรมนีรายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเยอรมนีของเดือนมกราคมจากการสำรวจความเห็นของชาวเยอรมัน 2,000 คนอยู่ที่ระดับ -37.8 สูงกว่าคาดการณ์ที่ -38.0 และสูงกว่าเดือนก่อนหน้าที่ -40.1 ส่งสัญญาณว่าชาวเยอรมันมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0625-1.0650 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.0631/33 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/12) ที่ระดับ 131.91/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (22/12) ที่ระดับ 131/71/73 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนมีแรงเทขายทำกำไรจากนักลงทุนหลังแข็งค่ากว่า 4% ในช่วงวันอังคาร (20/12) ที่ผ่านมา ภายหลังธนาคารกลางญี่ปุ่นขยายกรอบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรให้เคลื่อนไหวได้ในช่วงร้อยละ -0.50 ถึง +0.50 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 131.65-32.10 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลดที่ระดับ 132.03/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.25/-10.75 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -15.50/-12.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ