เปิดสถิติ กว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่า ตั้งแต่ต้นปีอ่อนค่าลงไปกี่ครั้ง ?

เงิน-เงินบาท

ย้อนดูสถิติเงินบาทปี 2565 อ่อนค่าลงไปกี่ครั้ง ? ก่อนดีดกลับมาแข็งค่าสุดในรอบกว่า 5 เดือนครึ่งอีกครั้งที่ 34.76 บาทต่อดอลลาร์

วันที่ 5 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาหลังจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดำเนินมาตรการ QT ลดสภาพคล่องเงินดอลลาร์ในตลาด และส่งผลให้เกิดความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยทำให้คนหันไปถือเงินดอลลาร์และซื้อพันธบัตรมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้

เป็นผลให้ค่าเงินทั่วโลกดิ่งอ่อนค่าลงในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น เงินเยนของญี่ปุ่น เงินยูโรของฝั่งยุโรป และอีกหลาย ๆ ประเทศรวมถึงเงินบาทของประเทศไทย ก็ได้รับผลกระทบและอ่อนค่าลงไปทำจุดต่ำสุดเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.76 บาทต่อดอลลาร์ หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือนครึ่งที่ 34.71 บาทต่อดอลลาร์ ในระหว่างสัปดาห์

“ประชาชาติธุรกิจ” พาย้อนดูสถิติค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปี 2565 กว่าจะกลับมาแข็งค่า อ่อนค่าลงไปกี่ครั้ง ?

มกราคม : บาทผันผวนหนัก

เงินบาทสัปดาห์แรกของปี 2565 ผันผวนหนัก เริ่มต้นด้วยแข็งค่า ก่อนจะพลิกกลับมาอ่อนค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ในขณะนั้น โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงวันทำการแรก ๆ ของปีสอดคล้องกับสัญญาณเงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะแรงซื้อสุทธิในพันธบัตรระยะสั้นและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดีเงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่า แต่โดยภาพรวมในเดือนมกราคมเงินบาทยังอยู่ในทิศทางแข็งค่า

กุมภาพันธ์ : บาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 7 เดือน

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 7 เดือนในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ 32.20 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้นมาแล้วประมาณ 3.8% เมื่อเทียบกับระดับสิ้นปี 2564 และกลายเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดในเอเชีย

จากการที่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวดี บริษัทจดทะเบียนมีกำไรดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ เป็นปัจจัยดึงดูดเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้นต่อเนื่องจากปลายปีก่อน โดยมีแรงซื้อสุทธิหุ้นไทยสะสม 64,580 ล้านบาท พร้อม ๆ กับเพิ่มการถือครองพันธบัตรไทยอีก 127,778 ล้านบาท ทำให้ยอดถือครองพันธบัตรไทยโดยนักลงทุนต่างชาติขยับสูงขึ้นไปแตะ 1.15 ล้านล้านบาท

มีนาคม : บาทผันผวนจากสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน”

จากสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนตั้งแต่หลังวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา การปะทุของสงครามรัสเซีย-ยูเครนนำพาโลกเข้าสู่ความยุ่งเหยิงและความไม่แน่นอน สร้างความเสี่ยงครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจไทยและค่าเงินบาท และเงินบาทมีการผันผวนและอ่อนค่า

โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นอย่างแข็งแกร่งในฐานะสกุลเงินปลอดภัยและมีสภาพคล่องสูงท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ระหว่างยูเครน-รัสเซีย รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจได้รับผลกระทบมากขึ้นจากราคาน้ำมัน และเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น

เมษายน : เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 เดือน

ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องจนอยู่ระดับที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 4 เดือน และกลายเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าที่สุดในภูมิภาคที่ 33.95 บาทต่อดอลลาร์

จากเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นรับเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวและการคาดการณ์ถึงโอกาสของการขึ้นดอกเบี้ยแบบรุนแรงของเฟดเพื่อสกัดเงินเฟ้อสหรัฐ นอกจากนี้เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากแรงขายของต่างชาติในตลาดพันธบัตรไทย

พฤษภาคม : บาทอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี

เงินบาทอ่อนค่าในรอบ 5 ปี ทะลุ 34 บาทต่อดอลลาร์ จากทิศทางนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นของเฟด ที่ในขณะนั้นนักลงทุนคาดกันว่าจะขึ้นดอกเบี้ยแบบรุนแรง ประกอบกับความกังวลเรื่องเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศไทยกลับไปสู่สกุลดอลลาร์ที่ถูกมองเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

เป็นสาเหตุที่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าหนัก ไม่ได้มีประเทศไทยเท่านั้น หลายประเทศในในฝั่งเอเชียก็ต่างพากันอ่อนค่ากันถ้วนหน้า แต่ในช่วงกลางเงินบาทก็สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะกลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้งในช่วงสิ้นเดือน

มิถุนายน : บาทอ่อนต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน

เงินบาทยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าโดยในมิถุนายนอ่อนค่าลงไปต่ำสุดในรอบ 5 ปี 3  เดือน ที่ 35.05 บาทต่อดอลลาร์

โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางสกุลเงินอื่น ๆ ในภูมิภาค ซึ่งปัจจัยหลักคืออ่อนลงตามดอลลาร์แข็งค่ารวมถึงตลาดและนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% นอกจากนี้เงินบาทยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของต่างชาติด้วยในเดือนนี้

กรกฎาคม : เงินบาทสวิงใกล้อ่อนค่าสุดรอบ 16 ปี

ค่าเงินบาทอ่อนค่าไปที่ระดับ 36.65 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งยังเป็นการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 7 ปีอยู่ เนื่องจากในปี 2015 (พ.ศ. 2558) ค่าเงินบาทอ่อนค่าสูงสุดที่ 36.665 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ถือว่าเข้าใกล้ระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปีแล้ว

จากแรงกดดันจากดอลลาร์ที่แข็งค่ามาก หลังเงินเฟ้อสหรัฐออกมาเหนือกว่าที่ตลาดคาดไว้ ทำให้แทบทุกสินทรัพย์ถูกเทขาย เงินไหลกลับเข้าสกุลดอลลาร์ทำให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างมาก

ทั้งนี้ท่ามกลางปัจจัยกดดันจากการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐ รวมถึงความกังวลแนวโน้มทางการจีนอาจใช้มาตรการล็อกดาวน์เข้มงวด เพื่อควบคุมการระบาดโควิด-19 ทำให้เงินบาทยังคงเสี่ยงอ่อนค่าต่อเนื่อง

สิงหาคม : บาทแกว่งตัวผันผวน

เงินบาทยังคงผันผวนแกว่งตัวอย่างหนักตลอดทั้งเดือน ทั้งนี้เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบประมาณ 3 สัปดาห์ที่ 36.33 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงแรกท่ามกลางทิศทางที่อ่อนค่าของสกุลเงินเอเชียและเงินหยวน หลังจากธนาคารกลางจีนเพิ่มการผ่อนคลายทางการเงินด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ลงเพื่อบรรเทาแรงกดดันในตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจจีนในภาพรวม

นอกจากนี้เงินดอลลาร์ ยีังขยับขึ้นตามทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐ ท่ามกลางการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งอาจจะมากกว่า 50 bps. ในการประชุมเดือน ก.ย.

กันยายน : บาทอ่อนทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทอ่อนทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงราว 0.41% ถือเป็นระดับการอ่อนค่าที่สุดในรอบ 16 ปี ปัจจัยส่วนใหญ่มาจากการดีดตัวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ นอกจากนี้เงินบาทลดช่วงบวกทั้งหมดลงและพลิกอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายสัปดาห์ หลังอัตราเงินเฟ้อ CPI และ Core CPI ของสหรัฐ ออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาด

ซึ่งหนุนแนวโน้มการเร่งคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐ แม้เสียงส่วนใหญ่จะมองว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ย 75  bps. แต่ตลาดบางส่วนเริ่มมองความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะขึ้นมากกว่านั้นในการประชุม 20-21 ก.ย. ส่งผลให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

ตุลาคม : บาทร่วงอ่อนค่าทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์

เงินบาทยังเผชิญแรงกดดันอ่อนค่าค่าลงตามทิศทางภาพรวมของสกุลเงินเอเชีย โดยเงินบาทร่วงแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 16 ปีที่ 38.46 บาทต่อดอลลาร์

โดยมีปัจจัยจากดอลลาร์ที่กลับมาแข็งค่าอีกรอบหลังจากตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐออกมาดี ขณะที่สมาชิกธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง ก่อนการประกาศรายงานการประชุมเฟดกับรายงานเงินเฟ้อสหรัฐ ในวันที่ 13 ต.ค. 65 โดยดัชนีดอลลาร์ปรับตัวขึ้นมาสู่ระดับ 114 จุด ส่งผลให้ค่าเงินสกุลต่าง ๆ อ่อนค่าลงตามไปด้วย

พฤศจิกายน : บาทแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือน

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 3 เดือนอยู่ที่ 35.92 บาทต่อดอลลาร์ ท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ ทั้งเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก และสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ทั้งนี้เงินดอลลาร์ ปรับตัวอ่อนค่าลง โดยเฉพาะหลังการรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. ของสหรัฐ ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์สหรัฐ ยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากท่าทีของเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งสะท้อนว่า เฟดอาจปรับขนาดการขึ้นดอกเบี้ยให้มีความแข็งกร้าวน้อยลงในการประชุม FOMC รอบถัด ๆ ไป

ธันวาคม : เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 5 เดือนครึ่ง

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 5 เดือนครึ่ง อยู่ที่ 34.76 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ โดยมีแรงหนุนจากถ้อยแถลงของประธานเฟด ซึ่งกระตุ้นการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ในการประชุมรอบสุดท้ายของปี

นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะพอร์ตการลงทุนระหว่างวันที่ 28 พ.ย.-2 ธ.ค. 2565 ของนักลงทุนต่างชาติที่เข้าซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทย 25,269 ล้านบาท และ 4,493 ล้านบาท ตามลำดับ

ทั้งนี้ ห้องค้ากสิกรไทยประเมินทิศทางเงินบาท มีโอกาสแข็งค่าต่อ จากการที่ทิศทางตลาดการเงินโลกถึงจุดกลับตัว หลังเงินเฟ้อสหรัฐต่ำกว่าคาดการณ์ และเฟดแสดงท่าทีเตรียมชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในระยะถัดไปมีจำกัด

อย่างไรก็ตามนักลงทุนยังคงต้องตืดตามสถานการณ์ต่าง ๆ ในเดือน ธ.ค.ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเศรศฐกิจไทย รวมถึงในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก