เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดรอบ 5 เดือนครึ่ง จับตาตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ย.

เงินเฟ้อ เศรษฐกิจ

เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 5 เดือนครึ่ง หลังเฟดส่งสัญญาณชะลอขนาดการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. ประกอบกับมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากสัญญาณเงินทุนไหลเข้า  SET Index ปรับตัวขึ้นท่ามกลางความคาดหวังว่าทางการจีนจะผ่อนคลายนโยบายโควิด จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ย. ทิศทางเงินลงทุนต่างชาติ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 5 เดือนครึ่ง โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียอื่น ๆ โดยมีแรงหนุนจากถ้อยแถลงของประธานเฟด ซึ่งกระตุ้นการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้มการชะลอขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ ในการประชุมรอบสุดท้ายของปี

ประกอบกับเงินหยวนทยอยฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางความหวังว่าทางการจีนน่าจะทยอยผ่อนปรนมาตรการควบคุมสถานการณ์โควิดในระยะข้างหน้า เงินบาทรักษาทิศทางแข็งค่าไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในช่วงก่อนและหลังการประชุม กนง. ซึ่งมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอีก 0.25% ไปที่ 1.25%

นอกจากนี้การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับสถานะพอร์ตการลงทุนระหว่างวันที่ 28 พ.ย.-2 ธ.ค. 2565 ของนักลงทุนต่างชาติที่เข้าซื้อสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทย 25,269 ล้านบาท และ 4,493 ล้านบาท ตามลำดับ

ในวันศุกร์ที่ 2 ธ.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.76 บาทต่อดอลลาร์ หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 5 เดือนครึ่งที่ 34.71 บาทต่อดอลลาร์ ในระหว่างสัปดาห์ เทียบกับระดับ 35.82 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (25 พ.ย.)

กราฟเงินบาท
สัปดาห์ถัดไป (5-9 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 34.40-35.00 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือน พ.ย. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และท่าทีต่อมาตรการโควิดของทางการจีน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ต.ค. ดัชนี PMI และ ISM ภาคบริการ และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน พ.ย. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือน ธ.ค. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์

นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางออสเตรเลีย ธนาคารกลางแคนาดา และธนาคารกลางอินเดีย ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน พ.ย. ของจีน ยูโรโซนและอังกฤษ รวมไปถึงตัวเลขเศรษฐกิจเดือน พ.ย. ของจีน อาทิ ตัวเลขการส่งออก ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ SET Index ย่อตัวลงช่วงสั้น ๆ ต้นสัปดาห์ จากประเด็นการชุมนุมประท้วงนโยบายควบคุมโควิดในจีนและตัวเลขส่งออกไทยที่พลิกหดตัวในเดือน ต.ค. ก่อนจะดีดตัวขึ้นในเวลาต่อมา โดยมีปัจจัยหนุนจากความคาดหวังว่าทางการจีนจะผ่อนคลายนโยบายคุมโควิด แรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงถ้อยแถลงของประธานเฟดซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะชะลอขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ย

กราฟตลาดหุ้นไทย

อย่างไรก็ดี หุ้นไทยลดช่วงบวกลงเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ ระหว่างรอติดตามตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐ ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับขึ้นมากสุดในสัปดาห์นี้ โดยมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากความคาดหวังว่าจะได้รับอานิสงส์จากประเด็นขัดแย้งทางการค้าสหรัฐ-จีน

ในวันศุกร์ (2 ธ.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,641.63 จุด เพิ่มขึ้น 1.28% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 60,992.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.60% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.01% มาปิดที่ระดับ 582.39 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (5-9 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,630 และ 1,610 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,650 และ 1,660 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติรวมถึงสถานการณ์โควิดในจีน

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลนำเข้าและส่งออกเดือน ต.ค. ดัชนีราคาผู้ผลิต และดัชนี ISM/PMI ภาคการบริการเดือน พ.ย. ตลอดจนจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่น ๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการบริการเดือน พ.ย. ของญี่ปุ่น จีน และยูโรโซน ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/65 ของยูโรโซนและญี่ปุ่น รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน พ.ย. ของจีน