แบงก์ ชี้เงินบาทท้ายปีผันผวน 34.50 บาทต่อดอลลาร์ จับตาโควิดจีน

ค่าเงินบาท ปัจจัยโควิดจีน

แบงก์ประเมินกรอบค่าเงินบาทส่งท้ายปี 34.50-35.20 บาทต่อดอลลาร์ จับตานโยบายการเงินญี่ปุ่น-ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ-เกาะติดโควิด-19 ระบาดในจีน คาดธุรกรรมเบาบาง-สภาพคล่องต่ำ

วันที่ 25 ธันวาคม 2565 นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า (วันที่ 26-30 ธันวาคม 65) เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 34.50-35.00 บาทต่อดอลลาร์

โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม จะเป็นตัวเลขการรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯ เนื่องจากจะรอดูว่าตัวเลขออกมาดีจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) หากส่งสัญญาณการเงินตึงตัว จะมีผลต่อทิศทางค่าเงินเยน

นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีนจะมีผลต่อนโยบายคลายล็อกดาวน์ จะเห็นว่าตลาดหุ้นจีนเริ่มนิ่ง ซึ่งมีผลต่อค่าเงินหยวนอ่อนค่าได้

สำหรับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ตลาดหุ้นขายสุทธิ 1,000 ล้านบาท ขณะที่ตลาดพันธบัตร (บอนด์) ขายสุทธิราว 2.55 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นบอนด์ครบกำหนดกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท

“ทิศทางสัปดาห์หน้าจะเห็นตลาดค่อนข้างเบาบาง เนื่องจากอยู่ในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ แต่คาดว่าตลาดยังคงขายสุทธิทั้งตชาดหุ้นและบอนด์ราว 3,000 ล้านบาท อาจจะเห็นโฟลว์เทขายทำกำไรและเก็งค่าเงินบาทแข็งค่าได้”

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารประเมินกรอบเงินบาทสัปดาห์หน้า(วันที่ 26-30 ธันวาคม 65) ผันผวนอยู่ที่ 34.50-35.20 บาทต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ จะเห็นว่าหลายตลาดหลักปิดทำการเนื่องในเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ คาดปริมาณธุรกรรมเบาบาง การซื้อขายเงียบเหงา อย่างไรก็ตาม หากมีข่าวสำคัญเข้ามากระทบจะทำให้ตลาดผันผวนเกินจริงเนื่องจากสภาพคล่องต่ำ

“ติดตามข้อมูลการค้าและภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนพฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ มองเงินบาทผันผวนต่อเนื่องช่วงต้นปี ขณะตลาดวิตกกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และเงินเฟ้อภาคบริการของสหรัฐฯ ยังกดไม่ลง กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายน่าจะซึมลง และไร้ทิศทางในสัปดาห์หน้า”