เงินบาททยอยแข็งค่า จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ตัวเลขส่งออก พ.ย.

ค่าเงินบาท - ส่งออก
อัพเดตล่าสุด 24 ธันวาคม 2565 เวลา 22.01 น.

เงินบาททยอยแข็งค่า แต่ลดช่วงบวกลงบางส่วนปลายสัปดาห์ หลังจากเงินดอลลาร์ฯ กลับมาได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ดีกว่าคาด SET Index ฟื้นตัวกลับมาได้ตั้งแต่ช่วงกลางสัปดาห์ จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ตัวเลขส่งออก-รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนพ.ย. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในจีน รวมถึงการทำ Window Dressing ช่วงสิ้นปี

วันที่ 24 ธันวาคม 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าอีกครั้ง ทั้งนี้ เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงขายเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเงินเยน หลังธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) สร้างความประหลาดใจด้วยการประกาศขยายกรอบการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์รัฐบาลญี่ปุ่นอายุ 10 ปีมาเป็นกรอบ +/- 0.50% (จากเดิม +/- 0.25%) และแม้ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นจะกล่าวว่า การขยายกรอบการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ดังกล่าว ไม่ใช่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ตลาดก็ตีความว่าเป็นการปรับท่าทีไปในเชิงคุมเข้มของธนาคารกลางญี่ปุ่น

เงินบาทลดช่วงบวกลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งทำให้มีความกังวลว่า เฟดจะคงส่งสัญญาณนโยบายการเงินแบบคุมเข้มต่อไป

ในวันศุกร์ที่ 23 ธ.ค. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 34.74 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 34.98 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (16 ธ.ค.) สำหรับสถานะพอร์ตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติระหว่างวันที่ 19-23 ธ.ค. 2565 นั้น นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 1,051 ล้านบาท และมีสถานะเป็น Net Outflows ออกจากตลาดพันธบัตรไทย 25,461 ล้านบาท (ขายสุทธิ 11,794 ล้านบาท และตราสารหนี้ที่หมดอายุ 13,667 ล้านบาท)

กราฟทิศทางค่าเงินบาท

สัปดาห์ถัดไป (26-30 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 34.50-35.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ตัวเลขการส่งออก และรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนพ.ย. ของไทย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในจีน และการเคลื่อนไหวของสกุลเงินเอเชีย

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้านเดือนต.ค. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนพ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามสัญญาณและท่าทีต่อทิศทางนโยบายการเงินของผู้ว่าการ BOJ และข้อมูลกำไรภาคอุตสหกรรมเดือนพ.ย. ของจีนด้วยเช่นกัน

กราฟทิศทางตลาดหุ้นไทย

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ตลาดหุ้นไทยกลับมาปิดใกล้เคียงสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ SET Index เผชิญแรงขายในช่วงต้นสัปดาห์ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ เพราะแม้จะมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ แต่ตลาดกลับมีความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ธนาคารกลางหลายประเทศยังคงส่งสัญญาณในเชิงคุมเข้มนโยบายการเงิน ขณะที่ล่าสุด BOJ ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนกรอบการเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์อายุ 10 ปีให้กว้างขึ้นด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดีหุ้นไทยทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ นำโดย หุ้นแบงก์และหุ้นกลุ่มพลังงาน ประกอบกับหุ้นของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากประเด็นการถูกคัดเลือกเข้าคำนวณดัชนี SET50 และ SET100 หุ้นไทยขยับขึ้นได้เพียงเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ เนื่องจากตลาดยังคงกังวลแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

ในวันศุกร์ (23 ธ.ค.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,617.55 จุด ลดลง 0.09% จากระดับปลายสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,240.56 ล้านบาท ลดลง 20.37% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 1.69% มาปิดที่ระดับ 561.40 จุด

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (26-30 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,600 และ 1,590 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,625 และ 1,635 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในจีน รวมถึงการทำ Window Dressing ช่วงสิ้นปี

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนพ.ย. ดัชนีราคาบ้านเดือนต.ค. รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ กำไรบริษัทภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของจีน ยอดค้าปลีก และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพ.ย. ของญี่ปุ่น